backup og meta

Dyshidrotic Eczema คืออะไร เกิดจากอะไร และรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

    Dyshidrotic Eczema คืออะไร เกิดจากอะไร และรักษาอย่างไร

    Dyshidrotic Eczema (ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ) เป็นปัญหาสุขภาพผิวที่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความชื้น สารก่อภูมิแพ้ โรคผิวหนัง ดังนั้น หากสังเกตว่า มีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ ปรากฏบริเวณผิวหนังฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการคัน ควรหลีกเลี่ยงการเกา บีบ หรือแกะ และควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

    Dyshidrotic Eczema คืออะไร

    Dyshidrotic Eczema คือ โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของโรคผิวหนังอักเสบอีกชนิดหนึ่ง โดยมักมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการเรื้อรัง  เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานาน โรคนี้สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผิวหนังอักเสบมาก่อน รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    Dyshidrotic Eczema เกิดจากอะไร

    ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ดังนี้

    • โรคภูมิแพ้โลหะ การสัมผัสกับโลหะบางชนิด เช่น นิกเกิล (Nickel) โคบอลต์ จากเครื่องประดับหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำจากโลหะเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง จนส่งผลให้เกิดตุ่มน้ำใสขึ้น
    • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีบางชนิด อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและเสี่ยงต่อการเป็นแผลพุพอง อีกทั้งยังอาจทำให้อาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสแย่ลงได้
    • มีประวัติเป็นโรคผิวหนังมาก่อน เช่น ไข้ละอองฟาง โรคผิวหนังภูมิแพ้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสได้

    อาการของ Dyshidrotic Eczema

    อาการของผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส มีดังนี้

    • รู้สึกมีอาการคันก่อนตุ่มขึ้น
    • มีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า
    • ตุ่มเล็กอาจเริ่มพองตัวและเป็นตุ่มน้ำ
    • ตุ่มพุพองที่แตกออกและกลายเป็นสะเก็ดแข็งรอบ ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บแสบ ผิวหนังแตกและอาจมีเลือดออกถ้าแกะเกา

    ปกติแล้วอาการผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใสมักจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากสังเกตว่าจำนวนตุ่มเยอะขึ้น รู้สึกเจ็บปวดมาก ผิวบวม มีหนองในตุ่ม หรือมีอาการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ

    Dyshidrotic Eczema รักษาอย่างไร

    วิธีการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส มีดังต่อไปนี้

    • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่นเพรดนิโซน (Prednisolone) ที่มีในรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง และยารับประทาน ใช้เพื่อช่วยรักษาตุ่มพองและลดการอักเสบ โดยควรใช้ตามปริมาณที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ในระยะยาว เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
    • ยากดภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาเมโทเทรกเซท (Methotrexate) ยาเอ็มเอ็มเอฟ (Mycophenolate Mofetil) เพื่อช่วยบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส และลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดผื่นและอาการคัน
    • บำบัดด้วยการฉายแสง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยคุณหมอจะบำบัดด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี เพื่อช่วยให้ผิวตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ดียิ่งขึ้น

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็น Dyshidrotic Eczema

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างมือมื่อสัมผัสสิ่งสกปรก เพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคบนผิวหนัง โดยเฉพาะหลังจากเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือกลับจากนอกบ้าน แต่หลีกเลี่ยงการล้างมือบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น 
    • หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีแรง ๆ ในการล้างมือ
    • ประคบเย็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบ 2-4 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 15 นาที เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันจากผื่น
    • ทามอยเจอร์ไรเซอร์อย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อป้องกันผิวแห้งและบรรเทาอาการคัน
    • ไม่ควรเกา บีบ หรือแกะตุ่มน้ำและแผลพุพอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
    • หลังจากอาบน้ำหรือล้างมือ ควรซับน้ำให้แห้งสนิท โดยเฉพาะในบริเวณมือ ซอกนิ้ว ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าเพื่อป้องกันความอับชื้น และควรใช้ผ้าเช็ดมือแยกกับผ้าขนหนูที่ใช้เช็ดตัว
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มประสิทธิภาพ
    • หลีกเลี่ยงภาวะวิตกกังวลหรือเครียดจัด
    • สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่ออยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำ
    • สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสกับโลหะ ควรสวมใส่ถุงมือเพื่อลดการสัมผัสโดยตรงและควรล้างมือด้วยสบู่ทันทีเมื่อทำงานเสร็จ
    • ควรใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา