backup og meta

Contact Dermatitis คือ โรคอะไร มีอาการอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    Contact Dermatitis คือ โรคอะไร มีอาการอย่างไร

    Contact Dermatitis คือ โรคผื่นระคายสัมผัส ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสัมผัสกับสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง หรือมีฤทธิ์ก่อภูมิแพ้ เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน นิกเกิล น้ำหอม เกสรดอกไม้ น้ำยาย้อมผม เมื่อเป็นโรคผื่นระคายสัมผัส ร่างกายจะมีผื่นขึ้น ผิวแห้ง ผิวหนังสีอ่อนลง โดยอาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นทันที หรือหลังสัมผัสกับสารต่าง ๆ ไปแล้วหลายชั่วโมง อย่างไรก็ตาม โรคผื่นระคายสัมผัสไม่ใช่โรคอันตราย และอาการมักดีขึ้นเมื่อหยุดสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ ในบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการตามคำแนะนำของคุณหมอ

    Contact Dermatitis คือ โรคอะไร

    Contact Dermatitis คือโรคผื่นระคายสัมผัส เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของโรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เกิดจากการที่ผิวหนังสัมผัสโดยตรงกับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือสารที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้

    ทั้งนี้ โรคผื่นระคายสัมผัส สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • ผื่นระคายสัมผัสจากสารระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis) เป็นผื่นแพ้ผิวหนังชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด หรือราว 80 เปอร์เซ็นต์ของผื่นระคายสัมผัสทั้งหมด เกิดจากการสัมผัสกับสารที่ทำให้ผิวระคายเคืองหรือเสียหาย เช่น สบู่ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด น้ำหอม ทั้งนี้ อาการของผื่นระคายสัมผัสชนิดนี้ อาจเกิดขึ้นทันทีเมื่อผิวหนังสัมผัสโดนสารระคายเคือง หากสารดังกล่าวมีฤทธิ์รุนแรงพอ อย่างไรก็ตาม หากสัมผัสกับสารระคายเคืองที่มีฤทธิ์อ่อนอาจใช้เวลาหลายวันกว่าผื่นแพ้จะแสดงอาการ หรืออาจแสดงอาการเมื่อผิวหนังสัมผัสโดนสารระคายเคืองดังกล่าวติดต่อกันหลายครั้ง
  • ผื่นระคายสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อาทิ เกสรดอกไม้ สเปรย์กำจัดแมลง สารกันเสียในอาหารหรือเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ยาใช้ภายนอกบางชนิด โลหะบางชนิด ยางของพืชหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากยางพารา โดยทั่วไป ผื่นระคายสัมผัสชนิดนี้มักเริ่มแสดงอาการหลังจากผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ไปแล้ว 12 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้นเป็นสัปดาห์ได้ นอกจากนี้ ในกรณีของเด็ก ผื่นระคายสัมผัสชนิดนี้อาจเกิดขึ้นได้ง่าย จากการสัมผัสกับสารต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าอ้อม ทิชชู่เปียกทำความสะอาด ต่างหู สีย้อมเสื้อผ้า
  • Contact Dermatitis คือ โรคผิวหนังที่ก่อให้เกิดอาการอย่างไรบ้าง

    อาการหลักของโรคผื่นระคายสัมผัส คือการที่ผิวหนังมีผื่นแดง ผื่นคันปรากฏขึ้นหลังผิวหนังสัมผัสกับสารต่าง ๆ และผิวหนังอาจเป็นผื่นแพ้นานต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์

    นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคผื่นระคายสัมผัสอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยเช่น

    • ผิวหนังแห้ง แตก หรือตกสะเก็ด
    • ผิวหนังกลายเป็นสีเข้ม เช่น น้ำตาล ดำ
    • ผิวหนังบวม หรือมีอาการเจ็บปวด
    • มีตุ่มน้ำใสปรากฏขึ้นตามผิวหนัง และอาจมีของเหลวไหลออกมา หรือเป็นแผลตกสะเก็ด

    ทั้งนี้ เมื่อเป็นผื่นระคายสัมผัส ไม่ควรเกาเพราะอาจทำให้เม็ดผื่นแตก เกิดการอักเสบมากขึ้น ผื่นขยายขนาด และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ผู้ที่เป็นโรคผื่นระคายสัมผัส ควรไปพบคุณหมอเมื่อมีอาการต่อไปนี้

  • อาการแพ้รุนแรงขึ้น ผื่นคันหรือผื่นแดงมีการแพร่กระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว
  • อาการของผื่นแพ้หรือผื่นคันไม่ดีขึ้นภายใน 1-3 สัปดาห์
  • อาการคันรุนแรงขึ้นจนทำให้ไม่สบายตัว หรือถึงขั้นทำให้นอนไม่หลับ
  • พบสัญญาณการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง เช่น รู้สึกเจ็บปวด แสบร้อน หรือผิวหนังกลายเป็นสีแดผิดปกติ
  • การรักษา Contact Dermatitis

    เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอมักตรวจและประเมินอาการโดยการสอบถามอาการและซักประวัติสุขภาพ โดยอาจให้ทดสอบสาเหตุของการแพ้ (Patch Test) ด้วยการปิดแผ่นพลาสเตอร์ที่มีสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ บนผิวหนังเป็นเวลา 48-96 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบปฏิกิริยาของผิวหนังที่มีต่อสารที่ใช้ทดสอบ

    เมื่อทราบสาเหตุของผื่นระคายสัมผัสแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้คนไข้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารดังกล่าว หรือเลือกรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ให้ทาครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวนุ่มและชุ่มชื้น (Emollient) เพื่อรักษาอาการผิวแห้ง แตก หรือลอกเป็นขุย อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวนุ่มและชุ่มชื้น อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้ เพราะมักมีสารพาราฟิน (Paraffin) เป็นส่วนผสม ควรใช้อย่างระมัดระวังหรือสอบถามคุณหมอหรือเภสัชกรถึงวิธีการใช้ครีมทาผิว
    • ให้ทายาสเตียรอยด์ (Steroid) ในรูปแบบครีมหรือยาทาซึ่งมีฤทธิ์แก้อักเสบ เพื่อทำให้ผื่นแพ้ต่าง ๆ ยุบตัวลง และช่วยรักษาอาการของผิวหนังบริเวณที่มีสีเข้มขึ้น
    • ให้รับประทานยาเม็ด ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ เช่น ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงยาสเตียรอยด์แบบเม็ด

    การป้องกัน Contact Dermatitis

    โรคผื่นระคายสัมผัส อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
    • อาบน้ำทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อขจัดุฝุ่นละออง คราบเหงื่อไคล และสิ่งแปลกปลอมที่อาจลอยมาติดผิวหนัง เช่น เกสรดอกไม้ ที่อาจก่อให้เกิดโรคผื่นระคายสัมผัสได้
    • สวมใส่เครื่องแต่งกายที่มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือถุงมือ เพื่อป้องกันผิวหนังสัมผัสกับสารระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้โดยตรง โดยเฉพาะเมื่อทำความสะอาดบ้าน หรือต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่ปิดที่มีฝุ่นละออง แร่ธาตุ สารเคมี
    • เลือกใช้สบู่หรือผงซักฟอกที่ปราศจากน้ำหอม เพราะน้ำหอมอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรือเกิดผื่นแพ้สัมผัสขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา