backup og meta

โรคหัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    โรคหัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

    โรคหัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่ทำให้มีอาการไข้ออกผื่น สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการไอจาม พบได้ในคนทุกช่วงวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็ก โรคหัดในระยะเริ่มต้นจะทำให้มีไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ ตาแดง น้ำตาไหล ตาแพ้แสง หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณศีรษะ ลำคอ แล้วลามไปทั่วร่างกาย โดยจะมีผื่นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ โรคหัดยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงจำเป็นต้องรักษาตามอาการจนกว่าอาการจะทุเลาและเชื้อหมดไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

    โรคหัด คืออะไร

    โรคหัดเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่ทำให้มีอาการไข้ออกผื่น ติดต่อได้ผ่านการหายใจรับเชื้อเข้าไป โดยเชื้ออาจแพร่กระจายอยู่ในอากาศจากการที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจาม หากผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดสัมผัสเชื้อจะมีโอกาสติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 90 โดยทั่วไป ระยะการติดเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 14-21 วัน (2-3 สัปดาห์) ในช่วง 10-14 วันแรกหลังได้รับเชื้อจะเป็นระยะฟักตัวที่เชื้อยังไม่แสดงอาการ เมื่อหมดระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูงประมาณ 4-7 วัน และเริ่มเกิดผื่นแดงตามมา

    ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัด ได้แก่ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากภาวะสุขภาพหรือจากการรักษาโรค ผู้ที่ขาดวิตามินเอ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด

    สาเหตุของโรคหัด

    โรคหัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มมอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะอาศัยอยู่ในเมือกบริเวณจมูกและลำคอ เชื้อไวรัสกลุ่มนี้สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 2 ชั่วโมง และติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ง่ายมาก ผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ก่อนผื่นจะขึ้นเป็นเวลา 4 วัน จึงอาจแพร่เชื้อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหัด นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถแพร่เชื้อได้อีกถึง 3-4 วัน หลังผื่นตามตัวหายแล้ว

    สัญญาณของ โรคหัด

    โรคหัดมีระยะฟักตัว 10-14 วันแล้วจึงเริ่มแสดงอาการ โดยอาการของโรคหัด มีดังนี้

    อาการในระยะเริ่มต้น

    อาการคล้ายไข้หวัด

    • มีไข้สูง
    • น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก หายใจไม่สะดวก
    • ไอ จาม
    • ตาแดง เจ็บตา น้ำตาไหล
    • อ่อนเพลีย

    อาการภายในช่องปาก

    หลังจากมีอาการคล้ายไข้หวัด 2-3 วัน จะปรากฏจุดขาวเล็ก ๆ ที่กระพุ้งแก้มและด้านในริมฝีปาก (Koplik Spot) ส่วนใหญ่จะมีอาการเหล่านี้ประมาณ 2-3 วัน

    อาการในระยะออกผื่นตามร่างกาย

    หลังมีอาการคล้ายไข้หวัดและอาการภายในช่องปากประมาณ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นตามร่างกาย เริ่มจากมีผื่นแดงกระจายบนใบหน้าและไรผม จากนั้นผื่นจะลามลงไปที่ลำคอ แขน ขา และเท้า และอาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้นบนผื่นแดง จากนั้นผื่นจะมีสีคล้ำลงและอยู่รวมกันเป็นปื้น ในระยะนี้จะยังมีอาการคล้ายไข้หวัดและอาการภายในช่องปากด้วย และอาจมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

    วิธีรักษาโรคหัด

    ยังไม่มียารักษาเฉพาะที่สามารถจำกัดหรือฆ่าไวรัสก่อโรคหัดได้ วิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัดฟื้นตัวได้เร็วที่สุด คือ การพักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ ร่วมกับการดื่มน้ำและของเหลวให้มาก เพื่อชดเชยของเหลวที่ร่างกายเสียไปเนื่องจากมีไข้และเหงื่อออก โดยทั่วไปอาการของโรคหัดจะทุเลาลงและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเนื่องจากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง คุณหมออาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อและรักษาอาการให้หายเป็นปกติ

    วิธีป้องกัน โรคหัด

    แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะแต่ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ที่เรียกว่า วัคซีนโรคหัด หัดเยอรมันและคางทูม (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนรวมที่จะป้องกันโรคหัดเยอรมันและโรคคางทูมด้วย ในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2-2 ขวบครึ่ง สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนและสัมผัสกับเชื้อโดยตรง สามารถรับวัคซีนได้ภายใน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันหลังสัมผัสเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ในกรณีที่ติดเชื้อแล้ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา