backup og meta

ไฝแดง เกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    ไฝแดง เกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่

    ไฝแดง เกิดจากเส้นเลือดฝอยบริเวณผิวหนังขยายตัว ทำให้เกิดตุ่มสีแดงสด อาจขึ้นเป็นตุ่มเดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่ม สาเหตุที่ทำให้เกิดไฝแดงยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มักพบไฝแดงเมื่ออายุมากขึ้นหรือเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ไฝแดงจัดเป็นเนื้องอกเส้นเลือดฝอยที่ไม่เป็นอันตราย แต่หากอยู่ในตำแหน่งที่เสียดสีกับเสื้อผ้าจนทำให้รู้สึกระคายเคือง มีเลือดออก หรือไฝแดงเพิ่มจำนวนและขยายตัวรวดเร็วผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    ไฝแดง เกิดจากอะไร

    ไฝแดง (Cherry angioma) คือ เนื้องอกเส้นเลือดฝอยชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นตุ่มสีแดงสด สามารถเกิดขึ้นได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก ไหล่ ท้อง ลำตัว แขน ขา และหลัง เกิดจากเส้นเลือดฝอยขยายตัวมากเกินไป อาจมีขนาดตั้งแต่เล็กเท่าปลายเข็มไปจนถึงมีขนาดใหญ่หลายเซนติเมตร และอาจเกิดเป็นกลุ่มในบริเวณใกล้เคียงกัน หากถูกเสียดสี ขัดถู เจาะ หรือตัดออก อาจทำให้มีเลือดออกได้

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไฝแดง มีดังนี้

  • อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดไฝแดงได้มากกว่าคนที่มีอายุน้อยกว่า
  • การตั้งครรภ์ โดยปกติร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ ช่วยให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยในการสร้างน้ำนมและหลั่งน้ำนม เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดความผิดปกติของชั้นผิวหนังจนทำให้เกิดเป็นไฝแดง
  • ลักษณะของไฝแดง

    ไฝแดงมีลักษณะดังนี้

    • มีสีแดงสด อาจมีลักษณะเรียบเนียนไปกับผิวหรือนูนขึ้นเป็นตุ่ม
    • มีขนาดตั้งแต่เล็กกว่า 1 มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร
    • เป็นไฝทรงกลมหรือวงรี
    • พบในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และผู้ที่ตั้งครรภ์
    • เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น

    วิธีกำจัดไฝแดง

    โดยทั่วไป คุณหมออาจใช้วิธีต่อไปนี้ในการกำจัดไฝแดง

    • การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery) เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าความถี่สูงเข้าไปยังตุ่มไฝแดงเพื่อให้ไฝแดงหลุดออก หลังทำแผลอาจมีสะเก็ดที่ต้องดูแลด้วยการทายาฆ่าเชื้อ
    • การจี้ด้วยไนโตรเจนเหลว (Cryosurgery) เป็นการแช่แข็งไฝแดงด้วยไนโตรเจนเหลวซึ่งมีความเย็นติดลบ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อและทำให้ไฝหลุดออกมาจากผิวหนัง วิธีนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มักไม่เกิดแผลที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
    • การเลเซอร์ (Laser surgery) เช่น เลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulsed Dye Laser หรือ PDL) เพื่อรักษาความผิดปกติของเส้นเลือดที่ขยายมากผิดปกติด้วยการใช้ความร้อนทำให้เส้นเลือดฝ่อและสลายตัว อาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำเล็กน้อยที่สามารถหายได้เองภายใน 10 วัน
    • การเฉือนออก (Shave Excision) เป็นการผ่าไฝแดงออกจากผิวหนังชั้นนอก โดยคุณหมอจะให้ฉีดยายาชาให้ก่อนเพื่อลดความเจ็บปวดขณะเฉือนไฝออก

    ไฝแดง เป็นสัญญาณของมะเร็งหรือไม่

    ไฝแดงเป็นเนื้องอกของเส้นเลือด (Benign Vascular Tumor) ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากไฝแดงเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและมีขนาดใหญ่ ร่วมกับมีความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ตุ่มไฝแดงมีสีไม่สม่ำเสมอ พื้นผิวขรุขระไม่เรียบ มีขอบเขตไม่ชัดเจน มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ซึ่งเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดที่รุนแรง อาจเกิดขึ้นบนไฝเดิมแล้วมีลักษณะเปลี่ยนไปหรืออาจเป็นไฝที่ขึ้นใหม่ จึงควรสังเกตความผิดปกติของไฝบนผิวหนังของตัวเองอยู่เสมอ หากพบว่ามีลักษณะที่เข้าข่ายมะเร็วผิวหนัง ควรไปพบคุณหมอโดยเร็ว

    คุณหมออาจตรวจสอบผิวหนังบริเวณที่มีปัญหาด้วยการผ่าตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย (Biopsy) และส่งไปตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อและยืนยันชนิดและความรุนแรงของชิ้นเนื้อดังกล่าว หากวินิจฉัยว่าชิ้นเนื้อมีเชื้อมะเร็ง อาจรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายรังสี ในบางกรณีอาจต้องรักษาหลายวิธีร่วมกันตามความรุนแรงและระยะของโรค

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ไฝแดงเป็นสภาวะทางผิวหนังที่ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ก็สามารถไปพบคุณหมอเพื่อกำจัดออกอย่างถูกวิธี

    • ไฝขึ้นอยู่ในตำแหน่งที่มีการเสียดสีเป็นประจำ จนทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือมีเลือดออก
    • รู้สึกเจ็บหรือคันบริเวณผิวหนังที่มีไฝขึ้น
    • ไฝมีขนาดใหญ่โตขึ้นหรือมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป
    • ไฝมีขอบเขตไม่ชัดเจน หรือมีลักษณะขรุขระ
    • ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี เช่น มีเม็ดสีดำมาเพิ่มมากขึ้น

    นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการทายาหรือใช้อุปกรณ์อื่น ๆ กำจัดไฝด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดเป็นรอยแผลเป็นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา