backup og meta

ไมเซลลาร์วอเตอร์ (Micellar Water) คืออะไร ช่วยทำความสะอาดผิวได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศศวัต จันทนะ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    ไมเซลลาร์วอเตอร์ (Micellar Water) คืออะไร ช่วยทำความสะอาดผิวได้อย่างไร

    การทำความสะอาดหน้า เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากในการดูแลผิว เพราะผิวสะอาด คือ จุดเริ่มต้นของผิวที่ดี และเราก็มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวให้เลือกมากมายในท้องตลาด แต่ในเวลานี้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยอดฮิต คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์เช็ดผิวที่เรียกว่า “ไมเซลลาร์วอเตอร์” ที่ฮอตปรอทแตก จนมีวางขายทุกพื้นที่ ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อไปจนถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ มาร่วมกันไขความลับของไมเซลล่าวอร์เตอร์ และดูว่ามันคือตัวเลือกที่เหมาะกับคุณหรือไม่ วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลมาฝากกัน

    ไมเซลลาร์วอเตอร์ คืออะไร 

    ไมเซลลาร์วอเตอร์ (Micellar Water) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดผิวหน้า ไมเซลลาร์วอเตอร์มีลักษณะเป็นน้ำ สีใส ไร้สี ไร้กลิ่น และปราศจากแอลกอฮอล์ มีส่วนประกอบของน้ำเป็นส่วนใหญ่ ผสมกับสารประกอบอื่นช่วยในการทำความสะอาด โดยอาศัยสารลดแรงตึงผิวที่ทำความสะอาดได้หมดจด ทำให้เจ้าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ในตลาดเครื่องสำอางทั้งในเมืองไทยและเทศ แทบเรียกได้ว่าทุบตลาดแตกไปทั่วโลกอย่างแท้จริง

    การทำงานของ ไมเซลลาร์วอเตอร์

    อธิบายอย่างง่ายๆ การทำงานของไมเซลลาร์วอเตอร์ มีลักษณะคล้ายการทำงานของแม่เหล็ก ที่ดูดซับเอาสิ่งสกปรก และความมันส่วนเกินบนใบหน้าออก โดยอาศัยโมเลกุลของสารลดแรงตึงผิว ที่มีความสามารถในการจับน้ำกับน้ำมันรวมกัน ซึ่งส่วนผสมที่อยู่ในไมเซลลาร์วอเตอร์นี้ เป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายลูกอ๊อด

    โดยแบ่งออกเป็นส่วนคือ ส่วนหัว และ ส่วนหาง ซึ่งทำงานต่างกัน ส่วนตัวเป็นโมเลกุลที่ชอบน้ำจะเข้าหาน้ำ พร้อมดึงสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่บนผิวและรูขุมขนออก ส่วนหางเป็นส่วนที่ชอบน้ำมัน จะจับตัวกับน้ำมันบนผิว และทำการชะล้างสิ่งสกปรก และน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้าออกได้อย่างน่าทึ่ง เพื่อช่วยแท็กทีมกันทำงานยิ่งกว่าแข่งฟุตบอลโลก ยิงประตูสู่ผิวสะอาดที่แท้จริง 

    ส่วนผสมหลักของไมเซลลาร์วอเตอร์

    เมื่อพลิกดูส่วนผสมที่อยู่ในเจ้าไมเซลลาร์วอเตอร์ก็พบกับความอัศจรรย์ใจว่า ส่วนผสมเล็กน้อยเพียงเท่านี้ แต่สามารถขจัดสิ่งสกปรกจากใบหน้าให้สาวๆ ทั่วโลก

    ลองมาทำความรู้จักกับส่วนประกอบหลักๆของเจ้าผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวตัวนี้ที่พบในในหลายยี่ห้อ ได้แก่

    • น้ำ (water) เป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกใส่มากเป็นลำดับที่หนึ่งในทุกยี่ห้อ ซึ่งต้องแน่นอนอยู่แล้วว่า เจ้าไมเซลาร์วอเตอร์ตัวนี้อาศัยน้ำเป็นส่วนผสมหลัก และเป็นส่วนที่ทำละลายส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน 
    • ไซโคลเมทิโคน (Cyclomethicone) เป็นซิลิโคนชนิดบางเบา ช่วยให้สารออกฤทธิ์ต่างๆ ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์สามารถซึมเข้าสู่ผิวได้ นิยมนำมาใช้อย่างมากในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว
    • ไอโซเฮกซะเด็กเคน (Isohexadecane) เป็นส่วนประกอบที่ใช้แทนน้ำมัน นิยมอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรปราศจากน้ำมัน (Oil-free) ที่ให้ความไหลลื่น ชุ่มชื้น แต่ไม่ทิ้งความเหนียวเหนอะหนะ และไม่อุดตันผิว
    • คาปริก กลีเซอร์ไรด์ (Capric glycerides) สารซักฟอกชนิดอ่อนโยนพิเศษ ที่นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ที่ให้ผลลัพธ์ในการทำความสะอาดยอดเยี่ยม และอ่อนโยนกับผิวในระดับหนึ่ง 

    ความปลอดภัย

    ไมเซลลาร์วอเตอร์ถือว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากอาศัยเพียงความบริสุทธิ์ของน้ำ และสารลดแรงตึงผิวชนิดที่อ่อนโยน ในการทำความสะอาด แต่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้เลย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวส่วนใหญ่ มีส่วนผสมของสารเคมีอยู่ ในรายที่แพ้จึงอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองแก่ผิวได้ ในลักษณะของการเกิดผื่นคัน หรือผื่นแดง

    ดังนั้น ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ ควรทดสอบกับบริเวณผิวหนังที่บาง เช่น ใต้ท้องแขน ข้อพับ หรือ ใบหู เป็นระยเวลา 3 – 5 วัน หากไม่เกิดอาการแพ้ จึงค่อยใช้กับผิวหน้า

    ไมเซลลาร์วอเตอร์เหมาะสำหรับใคร

    ถึงแม้ความฮอตฮิตของไมเซลลาร์วอเตอร์จะทำให้ใครๆ ก็อยากใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวชนิดนี้ แต่ไมเซลลาร์วอเตอร์อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคนก็ได้ อย่างเช่น สาวผิวมัน ที่อาจรู้สึกว่า ไมเซลลาร์วอเตอร์ไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างหมดจดเพียงพอ อาจต้องใช้โฟมล้างหน้าอีกครั้ง เพื่อช่วยให้รู้สึกสะอาดหมดจดเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ที่แต่งหน้าแบบหนาหนัก ก็ยังอาจต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเป็นพิเศษสำหรับเมคอัพรอบดวงตา หรือรองพื้นชนิดหนาหนักอยู่

    ผู้ที่เหมาะสำหรับใช้ไมเซลลาร์วอเตอร์ จึงอาจเป็นผู้ที่มีผิวแห้งและบอบบาง เพราะไมเซลลาร์วอเตอร์มีส่วนผสมที่ค่อนข้างอ่อนโยนต่อผิว และมักจะมีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าคุณแต่งหน้าจัด ก็ยังอาจต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวเพิ่มเติมอยู่ดี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศศวัต จันทนะ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา