backup og meta

Hifu คืออะไร มีประโยชน์ และผลข้างเคียงอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    Hifu คืออะไร มีประโยชน์ และผลข้างเคียงอย่างไร

    Hifu (ไฮฟู่) หรือ High Intensity Focus Ultrasound คือ การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนใต้ผิว ช่วยกระชับผิวหน้า และอาจช่วยลดริ้วรอย อย่างไรก็ตาม การทำไฮฟู่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ผิวบวมแดง ผื่นขึ้น ซึ่งอาจหายได้เองภายในไม่กี่วัน

    Hifu คืออะไร

    Hifu (ไฮฟู่) คือ การใช้คลื่นพลังงานอัลตราซาวด์ที่มีความร้อน ส่งผ่านลงไปยังชั้นผิวหนัง กระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ช่วยซ่อมแซมและผลิตเซลล์ผิวใหม่แทนที่เนื้อเยื่อเก่าที่เสียหาย และอาจช่วยลดเซลลูไลท์ ซึ่งเป็นไขมันที่อยู่ใต้ผิวมีลักษณะคล้ายเปลือกส้ม เป็นรอยบุ๋ม การทำไฮฟู่เหมาะสำหรับผู้ที่มีริ้วรอย และผิวหนังหย่อนคล้อย โดยสามารถทำได้กับผิวส่วนต่าง ๆ เช่น ลำคอ แก้ม เปลือกตา คิ้ว หน้าอก หน้าท้อง ต้นขา

    นอกจากนี้ การทำไฮฟู่อาจใช้เพื่อช่วยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น โดยใช้พลังงานความร้อนสูงเพื่อทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์มะเร็งในต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยไฮฟู่

    ประโยชน์ของการทำไฮฟู่

    การทำไฮฟู่อาจให้ประโยชน์ด้านความงามมากมาย ดังนี้

    • ลดเลือนริ้วรอย
    • กระชับผิวที่หย่อนคล้อยให้เต่งตึง ช่วยให้ผิวเรียบเนียน
    • กระชับหน้าอก
    • ยกผิวหนังบริเวณแก้ม คิ้ว และเปลือกตาขึ้น อาจช่วยแก้ไขปัญหาหนังตาตก
    • ลดเซลลูไลท์บริเวณหน้าท้องและต้นขา

    จากการศึกษาในวารสาร Annals of Dermatology ปี พ.ศ. 2558 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้อัลตราซาวด์ความเข้มข้นสูงเพื่อช่วยรักษาริ้วรอยและความหย่อนคล้อยของผิวหน้า โดยให้ชาวเกาหลี 20 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นผู้หญิง 18 คนและผู้ชาย 2 คน อายุ 37-75 ปี ที่ได้รับการรักษาด้วยไฮฟู่ เป็นผู้ประเมินผลความพึงพอใจการรักษา โดยวัดจากภาพถ่ายก่อน-หลังการทำไฮฟู่ พบว่า มีความแตกต่างไปในทางที่ดี และผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ

    นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Research and Technology ปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำไฮฟู่เพื่อกระชับผิว โดยประเมินจากอาสาสมัครชาวเกาหลี 32 คน ที่เข้ารับบริการการทำไฮฟู่บริเวณแก้ม หน้าท้องส่วนล่าง และต้นขา เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยได้ทำการวัดความยืดหยุ่นของผิวก่อนเริ่มทำไฮฟู่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลังทำไฮฟู่ พบว่า ผิวหนังบริเวณที่ทำไฮฟู่มีความยืดหยุ่นและยกกระชับมากขึ้น และไม่พบผลข้างเคียงระดับรุนแรงหลังการรักษา

    ขั้นตอนการทำไฮฟู่

    ขั้นตอนการทำไฮฟู่มีดังนี้

    • ลบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวออกให้หมด
    • คุณหมออาจจะทาครีม เจล หรือยาชาบริเวณผิวที่ทำไฮฟู่ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว และลดความเจ็บปวดจากความร้อนสูงที่ออกมาจากเครื่อง
    • วางเครื่องไฮฟู่ลงบนผิวหนังและเคลื่อนตามกรอบหน้าเพื่อยกกระชับใบหน้า หรืออาจวางแนบกับผิวหนังประมาณ 30-90 วินาที เพื่อสลายเซลลูไลท์

    ผลข้างเคียงจากการทำ Hifu

    ผลข้างเคียงจากการทำไฮฟู่อาจมีดังนี้

    • ผิวบวมแดง
    • รู้สึกเสียวซ่าบริเวณที่ทำไฮฟู่
    • ผิวบอบช้ำ
    • ผื่นขึ้น

    บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ หลังจากทำไฮฟู่ หรืออาจมีอาการเล็กน้อยที่สามารถหายได้ภายใน 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์

    การดูแลตัวเองหลังทำไฮฟู่

    หลังจากทำไฮฟู่ส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ และควรดูแลตัวเอง ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน 24 ชั่วโมง อีกทั้งควรหยุดขัดผิวเป็นเวลา 2-3 วัน และไม่ควรแว็กซ์ขนบริเวณที่ทำไฮฟู่เป็นเวลา 3-5 วัน เพราะอาจทำให้ผิวบอบบางและระคายเคือง
    • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือสูงกว่า เพื่อป้องกันการเกิดรอยดำบริเวณที่ทำไฮฟู่
    • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวด้วยการใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนทำให้ผิวฟื้นตัวได้ไว
    • หลีกเลี่ยงการบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นกรดสูง เช่น วิตามินเอ วิตามินซี เอเอชเอ (AHA) และบีเอชเอ (BHA) 3-5 วันหลังการทำไฮฟู่
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย 24 ชั่วโมง เพราะอาจเป็นการกระตุ้นการผลิตเหงื่อ ที่อาจส่งผลให้ผิวอักเสบ บวมแดงได้

    แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวด อาจจำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งคุณหมออาจจัดยาให้หลังจากเสร็จขั้นตอนการทำไฮฟู่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา