backup og meta

ปวดท้องตรงกลาง เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง มีวิธีรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    ปวดท้องตรงกลาง เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง มีวิธีรักษาอย่างไร

    ปวดท้องตรงกลาง มักเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับสุขภาพท้องหรือลำไส้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จุก เสียด วิงเวียน คลื่นไส้ นอกจากนี้ ปวดท้องตรงกลางยังเป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยท้องผูก หรือผู้ที่ถ่ายอุจจาระน้อยครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งอาจเป็นอาการของโรคที่เกี่ยวกับมดลูกหรือรังไข่ได้เช่นกัน

    ปวดท้องตรงกลาง เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

    ปวดท้องตรงกลาง เป็นอาการที่มักพบเมื่อมีอาการป่วยเกี่ยวกับช่องท้องหรือลำไส้ ดังนี้

  • ท้องผูก

  • ท้องผูก เป็นภาวะที่ถ่ายอุจจาระไม่บ่อย หรือน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ โดยระหว่างถ่ายอุจจาระต้องใช้แรงเบ่งมาก และใช้เวลานาน บางกรณีอาจต้องใช้มือช่วยกำจัดอุจจาระที่แข็งตัวให้หลุดจากทวารหนักขณะขับถ่าย

    ปกติแล้ว ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการอุดตันในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก เคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป การตั้งครรภ์ รวมทั้งมีสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น การดื่มน้ำน้อยเกินไป การบริโภคใยอาหารน้อยเกินไป

    การวินิจฉัย

    เมื่อไปพบคุณหมอ นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว คุณหมออาจวินิจฉัยอาการท้องผูกด้วยการเอกซเรย์บริเวณช่องท้องหรือทวารหนัก หรือส่องกล้องตรวจภายในร่างกาย เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการท้องผูก นอกจากนั้น คุณหมออาจเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หากสันนิษฐานว่าอาการท้องผูกมีสาเหตุมาจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)

    การรักษา

  • การปรับพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ การดื่มน้ำมาก ๆ การบริโภคใยอาหารให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว รวมถึงใยอาหารในรูปแบบอาหารเสริม
  • การรับประทานยาระบาย
  • การผ่าตัด ในกรณีของผู้ที่มีอาการท้องผูกเนื่องจากการอุดตันภายในร่างกาย หรือเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
    1. โรคลำไส้แปรปรวน

    โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome หรือ IBS) เป็นโรคที่เกิดจากลำไส้ส่วนปลายทำงานผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเกร็งหรืออึดอัดท้อง ร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก โดยอาการมักกำเริบเมื่อมีความเครียด หรือหลังบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดเช่น ชา กาแฟ ผลไม้ตระกูลส้ม ข้าวสาลี ถั่ว

    ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน แต่สันนิษฐานว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ การหดตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้ ระบบประสาทในลำไส้ทำงานผิดปกติ จำนวนจุลินทรีย์ภายในลำไส้ไม่สมดุล และความเครียด

    การวินิจฉัย

    เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะสอบถามเกี่ยวกับอาการป่วย ประวัติสุขภาพ และขอตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนหรือไม่

    นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจช่องท้องเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องตรวจภายในร่างกายหรือทำซีที สแกน (CT Scan) เพื่อสรุปให้แน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน

    การรักษา

    • การปรับพฤติกรรม ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้โรคลำไส้แปรปรวนกำเริบได้ เช่น ของมัน ของทอด อาหารขยะ
    • การรับประทานยา เช่น อีลักเซโดลีน (Eluxadoline) มีคุณสมบัติช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อภายในลำไส้ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ และไลนาโคลไทด์ (Linaclotide) มีคุณสมบัติที่อาจช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น โดยยานี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกจากโรคลำไส้แปรปรวน
    1. โรคตับอ่อนอักเสบ

    โรคตับอ่อนอักเสบ เกิดจากการที่เอนไซม์ย่อยอาหาร เริ่มทำงานขณะอยู่ในตับอ่อน ทั้งที่ปกติเอนไซม์ชนิดนี้จะทำงานขณะที่อยู่ในลำไส้ จึงส่งผลให้เซลล์ตับอ่อนถูกทำลายและตับอ่อนมีอาการอักเสบตามมา

    โดยทั่วไป โรคตับอ่อนอักเสบมักเป็นผลจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคพิษสุราเรื้อรัง ท่อน้ำดีอุดตัน มะเร็งตับอ่อน และการมีไตรกลีเซอไรด์สูงในกระแสเลือด

    ทั้งนี้ อาการหลัก ๆ ของโรคตับอ่อนอักเสบ คือ ปวดท้องตรงกลางอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียง 10 นาทีแล้วหายไปหรืออาจปวดท้องนาน 1 ชั่วโมงก็ได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง

    การวินิจฉัย

    เนื่องจากโรคตับอ่อนอักเสบมักเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี ในการวินิจฉัยโรค คุณหมอมักเลือกตรวจด้วยวิธีซีที สแกนหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อหาข้อสรุปว่าผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่

    นอกจากนี้ อาจมีการตรวจโรคแบบอื่น ๆ เช่น การส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (Endoscopic Ultrasound) เพื่อหาการอุดตันบริเวณตับอ่อนหรือท่อน้ำดี

    การรักษา

    • การรับประทานยาแก้ปวด
    • การรับของเหลวทางหลอดเลือด เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายใช้พลังงานและของเหลวที่สะสมไว้เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของตับอ่อน
    • การรักษาอาการป่วยที่เป็นสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบ เช่น การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี การบำบัดโรคพิษสุราเรื้อรัง การผ่าตัดขยายท่อน้ำดีที่ตีบหรืออุดตัน
    1. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

    โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เป็นอาการป่วยที่พบได้ในทุกวัย เกิดจากเชื้อโรคอย่างโนโรไวรัส (Norovirus) หรือโรต้าไวรัส (Rotavirus) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม หรือตามช้อนส้อมและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ

    โดยทั่วไป เมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และมีไข้อ่อน ๆ

    การวินิจฉัย

    ในการวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ คุณหมอจะพิจารณาจากอาการ และอาจตรวจตัวอย่างอุจจาระ เพื่อดูว่าอาการเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด

    การรักษา

    เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งโดยปกติจะไม่มียาสำหรับรักษาหรือต้านไวรัสให้หายขาด ดังนั้น คุณหมอมักแนะนำให้ดูแลตัวเองจนกว่าอาการจะดีขึ้นด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้ย่อยยาก เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ รวมถึงอาหารทะเล เครื่องดื่มมีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • จิบน้ำสม่ำเสมอ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
    • พักผ่อนให้เพียงพอ
    • รับประทานยาแก้ท้องเสีย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide)

    นอกจากโรคที่ยกมาข้างต้น ปวดท้องตรงกลางยังอาจเป็นอาการของโรคต่อไปนี้

    • กระเพาะอาหารแปรปรวน
    • มะเร็งลำไส้เล็ก
    • มะเร็งลำไส้ใหญ่
    • หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง
    • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
    • ต่อมน้ำเหลืองเยื่อยึดลำไส้เล็กอักเสบ
    • ไส้เลื่อน
    • ไส้ติ่งอักเสบ
    • นิ่วในไต

    นอกจากนั้น ในบางกรณี ปวดท้องตรงกลางอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับรังไข่หรือมดลูก เช่น

    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
    • ถุงน้ำในรังไข่
    • อุ้งเชิงกรานอักเสบ
    • การตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • มะเร็งรังไข่
    • มะเร็งมดลูก

    ปวดท้องตรงกลาง เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อปวดท้องตรงกลางนานเกิน 24 ชั่วโมง หรือปวดท้องร่วมกับมีอาการต่อไปนี้

    • อาเจียน
    • แสบอวัยวะเพศเมื่อปัสสาวะ
    • ไข้ขึ้นสูง
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา