backup og meta

5 เรื่องเข้าใจผิดเมื่อ เป็นประจำเดือน ที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

    5 เรื่องเข้าใจผิดเมื่อ เป็นประจำเดือน ที่ควรรู้

    เมื่อ เป็นประจำเดือน เพศหญิงจะมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดทุก ๆ 21-35 วัน เป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายผลิตไข่ และไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ทั้งนี้ แม้ว่าการมีประจำเดือนถือเป็นภาวะสุขภาพปกติของเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุประมาณ 12-55 ปี แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นประจำเดือนอยู่หลายประการ เช่น มีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนแล้วไม่ท้อง ประจำเดือนเป็นเลือดสกปรก น้ำมะพร้าวทำให้ประจำเดือนหยุดไหล ไม่ควรออกกำลังกาย ระหว่างเป็นประจำเดือน

    เรื่องเข้าใจผิดเมื่อ เป็นประจำเดือน

    แม้ประจำเดือนจะเป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงทุกคน แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประจำเดือนอยู่ซึ่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประจำเดือนที่พบบ่อย มีดังนี้

    1. มีเพศสัมพันธ์ระหว่างเป็นประจำเดือนแล้วจะไม่ท้อง

    คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง เป็นมีประจำเดือน จะไม่ทำให้ตั้งครรภ์ เนื่องจากประจำเดือนเกิดขึ้นหลังจากไข่ตกและไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ทำให้ในขณะมีประจำเดือนไม่มีไข่ที่พร้อมปฏิสนธิ จึงไม่ทำให้ตั้งครรภ์

    อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ที่มีรอบเดือนสั้น หรือระหว่าง 21-24 วัน เมื่อเป็นประจำเดือน ร่างกายจะตกไข่ฟองใหม่ภายใน 4-5 วันนับจากวันแรกที่มีประจำเดือน และหากมีเพศสัมพันธ์ในวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน เซลล์อสุจิซึ่งมีชีวิตอยู่ในร่างกายผู้หญิงได้นานประมาณ 5 วัน อาจสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ที่ตกระหว่างเป็นประจำเดือน และอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้

    1. ไม่ควรออกกำลังกาย ขณะเป็นประจำเดือน

    เพศหญิงมักเข้าใจว่าระหว่าง เป็นประจำเดือน ไม่ควรออกกำลังกาย เนื่องจากร่างกายมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว เจ็บเต้านม อารมณ์แปรปรวน

    แท้ที่จริงแล้ว การออกกำลังกายทำให้สมองขับสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา เมื่อออกกำลังกายระหว่างมีประจำเดือน สารเอนดอร์ฟินอาจช่วยระงับความเจ็บปวด รวมถึงทำให้อารมณ์ดี จึงช่วยทุเลาอาการข้างเคียงต่าง ๆ ขณะเป็นประจำเดือนได้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ควรหักโหมมากเกินไปเพราะอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากกว่าปกติ

    1. ดื่มน้ำมะพร้าว ทำให้ประจำเดือนหยุดไหล

    การดื่มน้ำมะพร้าว ไม่ทำให้ประจำเดือนหยุดไหล หรือทำให้ประจำเดือนครั้งต่อไปมาช้ากว่าปกติ ดังที่คนโบราณเชื่อกัน โดยในน้ำมะพร้าว มีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารเคมีประกอบในพืชที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) ในผู้หญิง แต่ออกฤทธิ์ได้ในระดับที่ต่ำกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน การบริโภคน้ำมะพร้าวในปริมาณมากอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถสรุปผลได้ว่าสารไฟโตเอสโตรเจนจะมีฤทธิ์ในการเพิ่มหรือลดการบีบตัวหรืออาการปวดประจำเดือน อีกทั้งในน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งแมกนีเซียมและโพแทสเซียม ส่งผลให้ของเหลวในร่างกายหมุนเวียนได้อย่างเป็นปกติ การดื่มน้ำมะพร้าวจึงอาจไม่ได้ส่งผลต่อการมีประจำเดือนหรือทำให้ประจำเดือนหยุดไหลแต่อย่างใด

    1. ประจำเดือน เป็นเลือดสกปรก

    มีความเชื่อว่า ประจำเดือนเป็นเลือดสกปรก หรือเป็นวิธีกำจัดสารพิษรูปแบบหนึ่งของร่างกาย ที่จริงแล้ว ประจำเดือนคือเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลออกออกมา กลายเป็นเลือดที่ไหลออกจากช่องคลอด เกิดจากระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายลดลง หลังเซลล์ไข่ในร่างกายของเพศหญิงไม่ได้รับการปฏิสนธิในช่วงไข่ตก ดังนั้น เลือดประจำเดือนจึงไม่ได้มีการปนเปื้อนสารใด ๆ ที่ทำให้เลือดสกปรก

    ทั้งนี้ ข้อแตกต่างหนึ่งระหว่างเลือดประจำเดือน และเลือดในร่างกาย คือเลือดประจำเดือนอาจมีความใสกว่า เนื่องจากมีเซลล์เม็ดเลือดน้อยกว่าเลือดในร่างกาย

  • เป็นประจำเดือน ตรงเวลาทุกเดือน

  • ความจริงแล้ว ระยะห่างระหว่างประจำเดือนแต่ละรอบ ของเพศหญิงแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยประจำเดือนอาจเกิดขึ้นทุก ๆ 21-24 วัน หรือทุก ๆ 28-35 วันก็ได้

    ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีแรกของการมีประจำเดือน ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมักจะนานและจะค่อย ๆ สั้นลง เมื่ออายุมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม หากระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน หรือนานกว่า 35 วัน อาจหมายถึงเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย  ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยถึงสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายประการ เช่น การเสียสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย การขาดสารอาหาร การเกิดความเครียด การออกกำลังกายอย่างหนัก การใช้ยาบางชนิด การคุมกำเนิด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา