backup og meta

มีตกขาวทุกวัน ผิดปกติหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/01/2024

    มีตกขาวทุกวัน ผิดปกติหรือไม่

    ตกขาว คือ สารคัดหลั่ง ลักษณะเป็นของเหลวหรือเมือกที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีส่วนช่วยป้องกันภาวะช่องคลอดแห้งและลดการติดเชื้อ แม้การเกิดตกขาวจะเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป แต่ผู้หญิงบางคนอาจสงสัยว่า มีตกขาวทุกวัน ผิดปกติหรือไม่ แล้วจะสังเกตได้อย่างไรว่าตกขาวผิดปกติ

    ตกขาว คืออะไร

    ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอด มีลักษณะเป็นของเหลวหรือเมือก มีสีใสหรือค่อนข้างขาว เนื้อสัมผัสลื่นคล้ายไข่ขาว ตกขาวมีประโยชน์ในการช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้น ป้องกันช่องคลอดแห้ง และป้องกันการติดเชื้อ โดยปริมาณ สี และกลิ่นของตกขาวอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ปริมาณตกขาวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทุกช่วงเวลาขึ้นอยู่กับรอบเดือนดังนี้

  • วันที่ 1-5 ของการ มีประจำเดือน อาจมีตกขาวสีแดง หรือชมพู เนื่องจากมีเลือดประจำเดือนปน
  • วันที่ 6 -14 หลังจากหมดรอบเดือน ตกขาวมักมีลักษณะขุ่น เหนียว มีสีขาวหรือเหลือง ซึ่งช่วงนี้อาจสังเกตเห็นตกขาวน้อยกว่าปกติ
  • วันที่ 15 -25 ช่วงก่อนวันตกไข่ประมาณ 2-3 วัน ตกขาวอาจมีลักษณะเป็นเมือกลื่น ๆ สีใส คล้ายไข่ขาว แต่หลังวันตกไข่ ตกขาวมัก มีลักษณะขุ่น เหนียว มีสีขาวหรือเหลือง
  • วันที่ 26 -28 ช่วงก่อนมีประจำเดือน ตกขาวมีปริมาณน้อยจนอาจแทบจะไม่มี
  • มีตกขาวทุกวัน ผิดปกติหรือไม่

    การมีตกขาวทุกวัน ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง ตกขาวอาจจะมามาก มาน้อย หรือมีสีและลักษณะแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาของการตกไข่และรอบประจำเดือน อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีกลิ่นเหม็น สีผิดปกติ คันอวัยวะเพศ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด

    ลักษณะสีของตกขาว

    ลักษณะและสีของตกขาวที่อาจมีดังนี้

    • ตกขาวสีขาวหรือสีครีม เป็นสีที่พบได้ทั่วไป แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น คัน ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ ตกขาวมีลักษณะข้น เหนียว อาจเกิดจากการติดเชื้อรา หรือภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
    • ตกขาวสีเหลืองหรือสีเขียว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อโรคพยาธิในช่องคลอด หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน ซึ่ง อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คันบริเวณอวัยวะเพศ ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
    • ตกขาวสีชมพู มักเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน หรืออาจเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวหลังคลอดลูก
    • ตกขาวสีแดงหรือสีน้ำตาล อาจเป็นสัญญาณของภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
    • ตกขาวสีเทา อาจเป็นการบ่งชี้ของภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจมีอาการคัน ระคายเคืองบริเวณช่องคลอด และกลิ่นเหม็น

    อาการตกขาวผิดปกติ

    ตกขาวผิดปกติอาจมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • คัน ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
  • แสบหรือเจ็บขณะปัสสาวะ หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดท้อง หรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และสีผิดปกติ
  • ตกขาวเป็นฟอง และมีปริมาณมากผิดปกติ
  • หากตกขาวมีสีหรือลักษณะผิดปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบคุณหมอโดยเร็ว คุณหมอจะได้ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที

    วิธีป้องกันตกขาวผิดปกติ

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดตกขาวผิดปกติ หรือช่วงให้อาการที่มีดีขึ้นได้เร็วขึ้น

    • ควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศและเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันแบคทีเรียจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
    • ไม่ควรล้างภายในช่องคลอดด้วยน้ำสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เนื่องจากช่องคลอดมีสภาพเป็นกรด น้ำสบู่อาจทำให้ช่องคลอดระคายเคือง และทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล มีแบคทีเรียไม่ดีมากกว่าแบคทีเรียชนิดดี จนเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดง่ายขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะการสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ อาจทำให้แบคทีเรียเข้าไปในมดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ จนเกิดการติดเชื้อได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือแอลกอฮอล์ บริเวณช่องคลอด และอวัยวะเพศภายนอก
    • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันการอับชื้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดได้
    • หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นประจำในช่วงที่มีประจำเดือน โดยปกติคือ ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หรืออาจบ่อยกว่านั้นหากประจำเดือนมามาก เพื่อป้องกันช่องคลอดอับชื้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา