backup og meta

วิธีลดไขมันในเลือด แบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

    วิธีลดไขมันในเลือด แบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยา

    เมื่อร่างกายมีไขมันในเลือดอย่างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย เป็นต้น ซึ่งภาวะสุขภาพเหล่านี้อาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากภาวะไขมันในเลือดสูงอาจลดลงได้ด้วยการควบคุมระดับไขมันในเลือดโดยใช้ วิธีลดไขมันในเลือด ที่เหมาะสม เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี การออกกำลังกายบ่อย ๆ การงดสูบบุหรี่ ไปจนถึงการใช้ยา

    ไขมันในเลือดกับสุขภาพหัวใจ

    ไขมันในเลือด เรียกว่า ลิพิด (Lipid) มีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอลในการสร้างผนังหลอดเลือด การหลั่งฮอร์โมนและการหลั่งวิตามินดี ส่วนไขมันในเลือดอีกหนึ่งชนิด คือ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อและช่วยให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ ทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สามารถสร้างได้จากตับและได้รับจากอาหาร หากได้รับในปริมาณที่พอดีจะช่วยส่งผลดีต่อร่างกาย แต่หากร่างกายมีไขมันในเลือดมากเกินไปมักส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด จนอาจทำให้มีอาการข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น

    สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง

    ภาวะคอเลลเตอรอลสูง และภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง มักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

    • การรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลสูง เช่น
  • ฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารจานด่วน
  • เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก เบคอน
  • เนื้อสัตว์ติดมัน เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ
  • ขนมหวาน เช่น คุกกี้ เค้ก ขนมปังปิ้งราดนมข้น
  • เนยเทียม ครีมเทียม
  • อาหารทอด เช่น ลูกชิ้นทอด มันฝรั่งทอด
  • การขยับร่างกายน้อย หรือไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ระดับไขมันในเลือด

    เกณฑ์การวัดระดับไขมันในเลือดทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์โดยทั่วไป มีดังนี้

    ระดับคอเลสเตอรอล

    ระดับคอเลสเตอรอลปกติ ควรเป็นดังนี้

    • ระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) น้อยกว่า 5 mmol/L
    • ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลหรือไขมันเลว (Low Density Lipoprotein หรือ LDL) น้อยกว่า 4 mmol/L
    • ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลหรือไขมันดี (High Density Lipoprotein หรือ HDL) สูงกว่า 1 mmol/L ในผู้ชาย และ 1.2 mmol/L ในผู้หญิง

    ระดับไตรกลีเซอไรด์

    • ปกติ : น้อยกว่า 150 mg/dl
    • ค่อนข้างสูง : 150-199 mg/dl
    • สูง : 200-499 mg/dl
    • สูงมาก : มากกว่า 500mg/dl

    วิธีลดไขมันในเลือด แบบธรรมชาติ

    วิธีลดไขมันในเลือดทแบบไม่ต้องพึ่งยา สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารที่ดี ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดีและไขมันไม่อิ่มตัว เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เนื้อปลา (เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า) และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงให้มากขึ้น เช่น ถั่วต่าง ๆ ธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และช่วยสร้างไขมันดี (HDL) หากเป็นการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เดินเร็ว เต้นแอโรบิค ควรออกประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือหากเป็นการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง เช่น วิ่งเร็ว ปั่นจักรยานเร็ว ควรออกประมาณ 75 นาทีต่อสัปดาห์
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย
    • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในควันบุหรี่ เช่น นิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จะส่งผลให้ร่างกายมีระดับไขมันดี (HDL) ลดลง เพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ ทั้งยังอาจทำให้เลือดไหลเวียนลำบาก และส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด
    • ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 14 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักเกินไปในแต่ละครั้ง

    อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มต้นลดไขมันในเลือดควรปรึกษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อทำการประเมินสุขภาพเบื้องต้น และรับคำแนะนำในการลดไขมันในเลือดที่เหมาะสมกับร่างกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา