backup og meta

หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) เป็นภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งจะกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นในจังหวะที่เร็วหรือช้ากว่าปกติ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดลดลง จนเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด วิงเวียนเหมือนจะเป็นลม เจ็บหรือแน่นหน้าอก หากมีอาการดังที่กล่าวมาและรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือช้ากว่า ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ โดยหัวใจอาจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) หรือเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) บางคนอาจสังเกตได้ว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย ในบางกรณีอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ หากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ควรรีบไปพบคุณหมอและรับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจาก อะไร

    หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากการส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ประสานการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไฟฟ้าในห้องหัวใจลัดวงจร จนส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ แม้คนที่มีสุขภาพหัวใจแข็งแรงดีก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

    ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • โรคหัวใจ (Heart disease)
  • ภาวะระดับอิเล็กโทรไลต์อย่างโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ในกระแสเลือดเสียสมดุล
  • การบาดเจ็บที่หัวใจหรือความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด เช่น การไหลเวียนเลือดลดลง เนื้อเยื่อหัวใจแข็งตัว
  • อยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังจากผ่าตัดหัวใจ
  • การติดเชื้อหรือการเจ็บป่วย
  • การใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิดที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น ยาไทรอยด์ ยาไซบูทรามีน (Sibutramine) ที่ใช้เร่งการเผาผลาญและลดความอยากอาหาร ยากระตุ้นการแข็งตัวขององคชาต
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น เครียดจัด ตื่นเต้นมาก ตกใจกลัวอย่างหนัก
  • ปัจจัยภายนอก เช่น การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคคาเฟอีน
  • ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ

    • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจทำงานผิดปกติได้ง่าย
    • พันธุกรรม คนที่มีคนในครอบครัวใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจหรือมีญาติมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป
    • พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด เป็นพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • ภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disorders) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เป็นภาวะสุขภาพที่เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • สิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น มลภาวะ ในบริเวณที่อยู่อาศัยก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้เช่นกัน

    ประเภทของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจแบ่งออกเป็นประเภทหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดจังหวะ (Supraventricular arrhythmias) เกิดจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบนผิดปกติ ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) เกิดขึ้นเมื่อหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว เต้นเป็นจังหวะเร็วกว่าปกติและไม่สม่ำเสมอ อาจเต้นมากกว่า 100 ครั้ง/นาที ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias) เกิดจากการส่งสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วเกินไปและส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ภาวะนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในผู้เป็นโรคหัวใจ จึงควรได้รับการช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์โดยทันที
  • ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ (Bradyarrhythmia) เกิดจากอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง มักเกิดจากโรคเกี่ยวกับระบบการนำไฟฟ้าหัวใจ ส่งผลให้การเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอและช้าผิดปกติ หัวใจอาจเต้นน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที ทำให้สูบฉีดเลือดได้น้อยลง ในบางกรณีอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะและหมดสติได้
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการ เป็นอย่างไร

    อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีดังนี้

    • ใจสั่น
    • รู้สึกถึงหัวใจที่เต้นตุบตับอยู่ในอก
    • วิงเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม
    • หมดสติ
    • หายใจลำบาก
    • ปวดหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยมาก
    • วิตกกังวล
    • สายตาพร่ามัว
    • เหงื่อออกมาก

    วิธีรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะจะขึ้นอยู่กับประเภท อายุ และภาวะสุขภาพของผู้ป่วย หากมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะหัวใจวาย จะต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

    การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ อาจมีดังนี้

    • การใช้ยารักษา เช่น ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs) ยาควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart-rate control drugs) ใช้สำหรับรักษาหรือป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามจังหวะปกติ นอกจากนี้ ยังอาจใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดหรือการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน หรืออาจต้องใช้ยารักษาภาวะสุขภาพที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของคุณหมอ
    • การช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้า (Electrical Cardioversion) เป็นการกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านแผ่นที่แปะบนหน้าอกของผู้ป่วยขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาสลบ เพื่อปรับให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติ
    • การรักษาด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน (Radiofrequency Catheter Ablation: RFCA) เป็นการรักษาด้วยไฟฟ้าคลื่นวิทยุความถี่สูงผ่านการใช้สายสวนสอดเข้าไปในห้องหัวใจเพื่อทำลายเนื้อเยื่อผิดปกติที่เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก
    • การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) คุณหมอจะใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจที่เป็นอุปกรณ์กำเนิดชีพจรขนาดเล็กไว้ในผนังหน้าอกใต้ผิวหนังของผู้ป่วย เครื่องนี้จะส่งแรงกระตุ้นไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อสร้างสัญญาณไฟฟ้าที่กระตุ้นให้หัวใจที่เต้นช้าผิดปกติหรือหยุดเต้นกลับมาเต้นตามปกติ
    • การใส่เครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ (ICD) เป็นอุปกรณ์ที่คล้ายกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะฝังอยู่ในร่างกายเพื่อตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ และจะปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นในจังหวะที่เหมาะสมทันทีที่หัวใจเริ่มทำงานผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา