backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุ อาการ และการรักษา

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) อาจเกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดเจริญเติบโตมากเกินไป โดยอาจมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การสวนล้างช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและมีอาการอักเสบ คันในช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หากสังเกตพบอาการเหล่านี้ควรพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

คำจำกัดความ

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย คืออะไร

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด คือ ภาวะช่องคลอดอักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียซึ่งมีอยู่ในช่องคลอดตามธรรมชาติเติบโตมากเกินไป จนทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล 

โดยปกติแล้ว ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ แต่หากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ ภาวะนี้ก็อาจเป็นปัญหาได้

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกวัย แต่พบในผู้หญิงวัย 15-44 ปีมากที่สุดแต่จะส่งผลต่อผู้หญิงที่มีอายุ 15-44 ปีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง

อาการ

อาการของช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

อาการทั่วไปของช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด มีดังนี้

  • ตกขาวมีกลิ่น และมีสีขาวแกมเทาหรือเหลือง
  • ช่องคลอดมีกลิ่นคาวปลา และกลิ่นยิ่งรุนแรงขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • คันช่องคลอด
  • รู้สึกแสบระหว่างปัสสาวะ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ควรปรึกษาคุณหมอ หากมีอาการต่อไปนี้

  • มีตกขาวมีกลิ่น หรือเป็นไข้ร่วมด้วย
  • เคยติดเชื้อในช่องคลอดมาก่อน แต่สีและความเหนียวข้นของตกขาวดูต่างไปจากเดิม
  • มีคู่นอนหลายรายหรือเพิ่งมีคู่นอนใหม่ เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็สามารถทำให้เกิดภาวะตกขาวผิดปกติได้เช่นกัน

สาเหตุ

สาเหตุของช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ปกติแล้ว แบคทีเรียที่ดีหรือแลกโตบาซิลลัส (lactobacilli) จะมีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียที่ไม่ดีหรืออะแนโรบ (anaerobe) ซึ่งเป็นสภาพที่ดีต่อช่องคลอด แต่หากช่องคลอดมีจำนวนแบคทีเรียอะแนโรบมากเกินไป แบคทีเรียอาจทำลายสมดุลตามธรรมชาติของจุลินทรีย์ในช่องคลอดและทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด เช่น

  • มีคู่นอนหลายรายหรือมีคู่นอนใหม่ แม้ความสัมพันธ์ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กับแบคทีเรียในช่องคลอดจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่โรคนี้เกิดขึ้นบ่อยกับผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายรายหรือมีคู่นอนใหม่ และแบคทีเรียในช่องคลอดมักเกิดขึ้นบ่อยกับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกัน
  • การล้างช่องคลอดด้วยน้ำสกปรกหรือสารทำความสะอาด จะทำให้สมดุลในช่องคลอดผิดปกติ
  • หากช่องคลอดไม่ได้ผลิตแบคทีเรียแลกโตบาซิลลัสที่ดีอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้มีแนวโน้มติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

  • การซักประวัติ คุณหมออาจถามคำถามเกี่ยวกับประวัติการรักษา เช่น เคยติดเชื้อในช่องคลอด หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
  • ตรวจภายใน ระหว่างตรวจภายใน คุณหมอจะตรวจช่องคลอดด้วยสายตาเพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อ และสอดนิ้วสองนิ้วเข้าไปในช่องคลอดระหว่างที่กดหน้าท้องด้วยมืออีกข้างหนึ่ง เพื่อตรวจอวัยวะอุ้งเชิงกรานเพื่อหาสัญญาณที่อาจบ่งบอกถึงโรค
  • ดูตัวอย่างของตกขาว แพทย์อาจตรวจตกขาวด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อมองหาเซลล์เยื่อบุที่มีแบคทีเรียมาเกาะ (clue cell) หรือเซลล์ในช่องคลอดที่เต็มไปด้วยแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
  • ตรวจค่ากรดด่าง (pH) ในช่องคลอด แพทย์อาจตรวจสอบค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือค่าพีเอชของช่องคลอด โดยใช้สอดแถบทดสอบค่าพีเอชเข้าไปในช่องคลอด ค่ากรดด่าง 4.5 หรือสูงกว่าในช่องคลอด เป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

การรักษาช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

คุณหมออาจจ่ายยาต่อไปนี้ เพื่อรักษาโรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

  • ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน และชนิดเจลสำหรับใช้เฉพาะที่ หรือสำหรับสอดเข้าไปในช่องคลอด
  • ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ในรูปแบบครีมที่สามารถสอดเข้าไปในช่องคลอดได้
  • ยาทินิดาโซล (Tinidazole) สำหรับรับประทาน
  • การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

    นอกเหนือจากการรักษาแล้ว การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางประการอาจช่วยรับมือกับโรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้

    • ทำให้ช่องคลอดระคายเคืองน้อยที่สุด โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่มีสารแต่งกลิ่น ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือแบบแผ่นที่ไม่มีกลิ่น
    • อย่าสวนล้างช่องคลอด เนื่องจากช่องคลอดจะทำความสะอาดตนเองได้ การสวนล้างช่องคลอดจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น
    • ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัยชนิดที่ทำจากยางธรรมชาติ จำกัดจำนวนคู่นอน หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ให้น้อยที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา