backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

บาดเจ็บไขสันหลัง (Spinal Cord Injury)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

บาดเจ็บไขสันหลัง (Spinal Cord Injury)

คำจำกัดความ

การบาดเจ็บไขสันหลัง คืออะไร

การบาดเจ็บไขสันหลัง หรือไขสันหลังบาดเจ็บ (Spinal Cord Injury) คือ อาการที่บริเวณไขสันหลัง รวมถึงรากประสาทในโพรงกระดูกสันหลังเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจเป็นอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งอาการบาดเจ็บอาจร้ายแรง จนส่งผลให้เป็นอัมพาต หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปยาวนานเลยทีเดียว

ไขสันหลังนั้นมีเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก และยังมีเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่กระดูกสันหลังทำหน้าที่ปกป้องอยู่ด้วย กระดูกสันหลังคือส่วนกระดูกที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เป็นแนวสันหลัง ประกอบไปด้วยเส้นประสาทที่ต่อตรงมาจากฐานสมอง ลงมาถึงส่วนหลังใกล้บั้นท้าย

ไขสันหลังทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณจากสมองไปสู่จุดอื่นๆ ในร่างกาย และส่งสัญญาณจากร่างกายไปสู่สมอง การที่เราสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวด หรือขยับแขนขาได้นั้น ก็เป็นเพราะสัญญาณที่ส่งผ่านไขสันหลัง

ถ้าหากไขสันหลังบาดเจ็บ สัญญาณบางส่วนหรือทั้งหมด อาจไม่สามารถส่งผ่านไปได้ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการรับรู้ความรู้สึก หรือการเคลื่อนไหว หากกระดูกสันหลังบริเวณใกล้คอได้รับบาดเจ็บ จะทำให้ร่างกายส่วนใหญ่เป็นอัมพาต ได้มากกว่าการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว

การบาดเจ็บไขสันหลังพบบ่อยแค่ไหน

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการ

อาการ บาดเจ็บไขสันหลัง

อาการทั่วไปของไขสันหลังบาดเจ็บ มีดังนี้

  • การเดินมีปัญหา
  • ไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ได้
  • ไม่สามารถขยับแขนหรือขาได้
  • มีอาการเหน็บชาที่แขนขา
  • หมดสติ
  • ปวดศีรษะ
  • รู้สึกปวด และเมื่อยล้าบริเวณหลังหรือคอ
  • มีอาการช็อก
  • ศีรษะอยู่ในตำแหน่งต่างไปจากเดิม

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณคิดว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการบาดเจ็บไขสันหลัง ควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • โทรเรียกหน่วยฉุกเฉินในทันที ยิ่งได้รับการช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี
  • อย่าเคลื่อนย้าย หรือรบกวนผู้ป่วยถ้าไม่จำเป็น และไม่ควรขยับศีรษะของผู้ป่วย
  • พยายามให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสามารถลุกขึ้น หรือเดินได้เอง
  • หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ปฏิบัติการกู้ชีพ (CPR) โดยไม่ต้องหมุนคอกลับมา

เมื่อผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและระบบประสาทเพื่อหาว่า มีอาการบาดเจ็บไขสันหลังหรือไม่ และในบริเวณไหน

วิธีที่แพทย์จะใช้เพื่อวินิจฉัยโรค มีดังนี้

  • การทำซีทีสแกน (CT scans)
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRIs)
  • ตรวจเอ็กซเรย์ที่กระดูกสันหลัง
  • การตรวจการตอบสนองของระบบประสาทตาต่อการกระตุ้น (Evoked potential testing) เพื่อวัดหาความเร็วของสัญญาณประสาทสู่สมอง

สาเหตุ

สาเหตุของการ บาดเจ็บไขสันหลัง

อาการบาดเจ็บของไขสันหลังมักเป็นผลมาจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือเหตุการณ์รุนแรง เช่น

  • ถูกโจมตีอย่างรุนแรง เช่น ถูกแทง ถูกยิง
  • กระโดดลงน้ำที่ตื้นเกินไป และกระแทกกับพื้นด้านล่าง
  • อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่ใบหน้า ศีรษะ คอ หลัง หรือหน้าอก
  • ตกจากที่สูง
  • ศีรษะหรือกระดูกสันหลังบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • อุบัติเหตุเกี่ยวกับไฟฟ้า
  • ลำตัวบิดอย่างรุนแรง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บไขสันหลัง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการบาดเจ็บไขสันหลัง เช่น

  • เพศชาย อาการบาดเจ็บไขสันหลังจะพบในกลุ่มผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • อายุระหว่าง 16 – 30 ปี คุณมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บที่ไขสันหลังมากหากคุณอยู่ในช่วงอายุนี้
  • อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป การหกล้มมักจะเป็นสาเหตุในการบาดเจ็บของผู้สูงอายุ
  • นิสัยที่นำไปสู่ความเสี่ยง เช่น กระโดดน้ำในบริเวณที่น้ำตื้นเกินไป เล่นกีฬาโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม หรือไม่ทำตามคำแนะนำที่ถูกต้อง สามารถนำไปสู่การบาดเจ็บของไขสันหลังได้
  • อุบัติเหตุทางรถยนต์ ถือเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ในคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปี
  • มีความผิดปกติที่กระดูกหรือข้อต่อ การบาดเจ็บเล็กๆ อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บไขสันหลังได้ หากคุณมีความผิดปกติที่กระดูกหรือข้อต่อ เช่น โรคข้ออักเสบ (Arthritis) โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยการบาดเจ็บของไขสันหลัง

ในห้องฉุกเฉิน คุณหมอสามารถบ่งชี้อาการบาดเจ็บไขสันหลังได้ด้วยการตรวจสอบอย่างละเอียด การทดสอบระบบการตอบสนองและการเคลื่อนไหว รวมถึงการซักถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

หากผู้ป่วยมีอาการปวดคอ หมดสติ มีอาการอ่อนแรง หรือระบบประสาทบาดเจ็บ จะต้องได้รับการวินิจฉัยฉุกเฉินในทันที

แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การทำซีทีสแกน (Computerized tomography scan ; CT Scan) ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นอาการผิดปกติได้ง่ายขึ้น การทำซีทีสแกนด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ จะสร้างภาพแนวตัดขวางเพื่อฉายภาพของกระดูก หมอนรองกระดูกสันหลัง และปัญหาอื่นๆ
  • เอ็กซเรย์ (X-rays) แพทย์อาจสั่งให้ทำการทดสอบนี้กับผู้ป่วยที่คาดว่ามีอาการบาดเจ็บไขสันหลัง การเอ็กซเรย์สามารถทำให้เห็นถึงปัญหาที่กระดูกสันหลัง เนื้องอก กระดูกหัก หรือการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังได้
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging) เป็นการสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์โดยใช้สนามแม่เหล็กแรงสูงและคลื่นวิทยุ การทดสอบนี้สามารถช่วยในการตรวจสอบไขสันหลัง และบ่งชี้ถึงหมอนรองกระดูกที่ผิดปกติ ลิ่มเลือด และสัญญาณอื่นๆ ที่อาจจะกดทับไขสันหลังอยู่

ไม่กี่วันหลังการบาดเจ็บ อาการบวมบางแห่งอาจจะยุบลง แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการตรวจสอบระบบประสาท เพื่อให้ทราบถึงระดับของอาการบาดเจ็บ การทดสอบนี้จะมีการตรวจสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และความสามารถในการตอบสนองต่อแสงและการใช้เข็มจิ้ม

การรักษาการบาดเจ็บไขสันหลัง

น่าเสียดายที่ยังไม่มีวิธีที่จะแก้ไขความเสียหายจากการบาดเจ็บของไขสันหลัง ให้กลับไปเป็นเหมือนก่อนได้ แต่นักวิจัยยังคงพยายามหาวิธีการรักษาใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมไปจนถึงการใช้อวัยวะปลอม และยาที่สามารถเพิ่มการฟื้นฟูเซลล์ประสาท  หรือพัฒนาการทำงานของระบบประสาทที่เหลืออยู่หลังจากได้รับการบาดเจ็บของไขสันหลัง

ในขณะเดียวกัน การรักษาอาการบาดเจ็บของไขสันหลัง ก็มุ่งเน้นไปที่การป้องกันความเสียหายที่มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในผู้ที่มีอาการบาดเจ็บของไขสันหลัง ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน

ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับศีรษะหรือคอ การรักษาการบาดเจ็บไขสันหลังจึงต้องเริ่มตั้งแต่ตอนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ โดยต้องตรึงกระดูกสันหลังผู้ป่วยฉุกเฉินให้อยู่กับที่อย่างเบามือและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ปลอกสวมคอชนิดแข็ง และใช้เปลหามชนิดแข็ง ในการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาล

การรักษาเบื้องต้น (ในทันที)

ในห้องฉุกเฉิน แพทย์จะมุ่งเน้นไปที่

  • การประคับประคองความสามารถในการหายใจ
  • การป้องการอาการช็อก
  • ตรึงคอไว้ เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายที่ไขสันหลังเพิ่มเติม
  • หลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ออก ปัญหากับระบบหายใจ หัวใจและหลอดเลือด หรือมีการก่อตัวของลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำอย่างรุนแรง

ขณะที่หมอกำลังวินิจฉัยโรค คุณควรอยู่นิ่งๆ อย่าขยับตัว จะได้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้น

หากคุณมีอาการบาดเจ็บของไขสันหลัง คุณมักจะถูกส่งเข้าห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ไอซียู) เพื่อรับการรักษา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การฉีดยาเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) จำพวก เอ-เมทาเพร็ด (A-Methapred) หรือโซลู-เมดรอล (Solu-Medrol) เป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาการบาดเจ็บของไขสันหลังที่รุนแรง หากได้รับยาเมทิลเพรดนิโซโลนภายใน 8 ชั่วโมงที่ได้รับบาดเจ็บ อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้เล็กน้อย ยานี้ทำงานโดยการลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเซลล์ประสาท  และลดอาการอักเสบในบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่สามารถใช้เพื่อรักษาการบาดเจ็บของไขสันหลังได้
  • การตรึงกระดูกสันหลัง เพื่อทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ในบางกรณีอาจใช้ปลอกสวมคอแบบแข็ง หรือเตียงแบบพิเศษ ก็จะสามารถช่วยตรึงร่างได้เช่นกัน
  • การผ่าตัด ส่วนใหญ่มักต้องมีการผ่าตัด เพื่อนำเอาชิ้นส่วนกระดูก วัตถุแปลกปลอม หมอนรองกระดูกที่เสียหาย หรือกระดูกสันหลังหักที่ไปกดทับกระดูกสันหลังออกไป นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อตรึงกระดูกสันหลังเอาไว้ และป้องกันอาการปวดหรือความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • การตรวจร่างกาย นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามที่จะหาแนวทางในการหยุดยั้งการตายของเซลล์ ควบคุมการอักเสบ และเพิ่มการฟื้นฟูของเส้นประสาท โปรดสอบถามคุณหมอถึงโอกาสในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวนี้

การรักษาอย่างต่อเนื่อง

หลังจากช่วงการบาดเจ็บระยะแรก หรือหลังจากที่อาการของโรคอยู่ตัวแล้ว แพทย์จะเปลี่ยนไปเน้นที่การป้องกันปัญหาในระยะที่สอง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้น เช่น ภาวะเสื่อมถอย กล้ามเนื้อหดตัว แผลกดทับ ปัญหาที่ลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ลิ่มเลือด

ระยะเวลาของการรักษาในโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับอาการของคุณ และปัญหาทางการแพทย์ที่คุณกำลังเจอ เมื่ออาการของคุณดีขึ้น จนคุณสามารถเข้าร่วมการบำบัดรักษาได้ คุณก็อาจจะถูกย้ายไปทำการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายต่อไป

การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จะเริ่มช่วยเหลือคุณตั้งแต่ช่วงระยะแรกของการพักฟื้น โดยบุคลการอาจจะประกอบไปด้วย นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักจิตวิทยาฟื้นฟูสมรรถภาพ นักสังคมสงเคราะห์ นักโภชนาการ นักนันทนาการบำบัด และแพทย์ที่ชำนาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ในระยะแรกของการฟื้นฟูสมรรถภาพ นักบำบัดมักจะเน้นที่การประคับประคอง และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็ก และให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะปรับเทคนิคเพื่อทำกิจวัตรประจำวันให้ได้

คุณจะได้รับความรู้เกี่ยวกับผลของการบาดเจ็บไขสันหลัง และวิธีป้องกันอาการแทรกซ้อน นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มสร้างชีวิตใหม่ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคุณ

ยา

อาจมีการใช้ยาเพื่อจัดการกับอาการบางอย่างที่เกิดจากการบาดเจ็บไขสันหลัง  เช่น ยาควบคุมอาการปวดและเกร็ง นอกจากนี้ยังมียาที่ช่วยเพิ่มการควบคุมลำไส้  กระเพาะปัสสาวะ และการทำงานของระบบเพศด้วย

เทคโนโลยีใหม่ๆ

ปัจจุบันมีการประดิษฐ์เครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ ๆ มาช่วยให้ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลังสามารถพึ่งพาตนเอง และเคลื่อนไหวสะดวกได้มากขึ้น เครื่องมือบางอย่างยังสามารถฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะได้ด้วย เช่น

  • เก้าอี้รถเข็นแบบใหม่ เก้าอี้รถเข็นที่พัฒนาขึ้นและเบาขึ้น สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายและเคลื่อนย้ายได้สะดวกมากขึ้น บางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้เก้าอี้รถเข็นแบบไฟฟ้า เก้าอี้รถเข็นบางชนิดสามารถขึ้นบันได เดินทางในพื้นที่ขรุขระได้ และสามารถยกที่นั่งขึ้นถึงระดับสายตา เพื่อเอื้อมให้ถึงที่สูงได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อ อุปกรณ์นี้จะใช้ไฟฟ้าเพื่อการกระตุ้น มักถูกเรียกว่า ระบบเครื่องกระตุ้นการทำงาน (functional electrical stimulation) ใช้เพื่อควบคุมกล้ามเนื้อแขนและขาให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลังนั้นสามารถยืน เดิน เอื้อม และจับได้
  • หุ่นยนต์ฝึกเดิน เทคโนโลยีแบบใหม่นี้ใช้เพื่อการฝึกให้ผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังเดินได้อีกครั้ง

การพยากรณ์โรคและการพักฟื้น

คุณหมออาจไม่สามารถพยากรณ์โรคได้ในทันที การพักฟื้นนั้นเริ่มหลังจาก 1 สัปดาห์ไปจนถึง 6 เดือนหลังจากไขสันหลังบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม อาจต้องรอถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้น จึงจะมีการพัฒนาเล็กน้อยให้เห็น

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยรับมือกับการบาดเจ็บไขสันหลัง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับการบาดเจ็บไขสันหลังได้

  • ขับขี่อย่างปลอดภัย อุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นสาเหตุหลักในการเกิดการบาดเจ็บไขสันหลัง ควรรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับหรือนั่งรถ อย่าลืมให้เด็กๆ รัดเข็มขัดนิรภัย หรือใช้เบาะนั่งเด็กที่เหมาะสมกับอายุและน้ำหนัก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัย เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ควรนั่งที่เบาะหลังเสมอ
  • ตรวจสอบระดับความลึกของน้ำก่อนกระโดดลงน้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้กระโดดลงในน้ำตื้น อย่ากระโดดลงในสระน้ำที่ความลึกไม่ถึง 3 เมตร (9 ฟุต) อย่ากระโดดลงในสระน้ำที่มีขอบสูงเหนือพื้นดิน และอย่ากระโดดลงในน้ำหากคุณไม่รู้ระดับความลึกของน้ำ
  • ป้องกันการหกล้ม ใช้ขั้นบันไดเสริมแบบมีที่จับเมื่อต้องการหยิบของจากที่สูง ทำราวจับที่ขั้นบันได ปูเสื่อกันลื่นบนพื้นกระเบื้องและในอ่างอาบน้ำหรือพื้นห้องน้ำ หากที่บ้านมีเด็ก ควรติดตั้งที่กั้นที่บันไดและที่กั้นหน้าต่าง
  • ปฏิบัติตามข้อควรระวังเมื่อเล่นกีฬา อย่าลืมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสมอ พยายามอย่าใช้หัวพุ่งเวลาเล่นกีฬา หากจะเรียนรู้เทคนิคหรือกีฬาใหม่ๆ ต้องมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเสมอ
  • เมาไม่ขับ อย่าขับรถขณะมึนเมาหรืออยู่ใต้ผลของยา และอย่านั่งรถที่มีคนเมาเป็นคนขับ

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา