backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง (Chronic Lymphocytic Leukemia)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 12/06/2021

มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง (Chronic Lymphocytic Leukemia)

มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง (Chronic Lymphocytic Leukemia) เป็นมะเร็งในเลือดหรือไขกระดูก มะเร็งชนิดนี้มักแพร่กระจายได้ช้ากว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทอื่น

คำจำกัดความ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง คืออะไร

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง (Chronic Lymphocytic Leukemia (CLL)) เป็นมะเร็งในเลือดหรือไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือด คำว่า “เรื้อรัง’ มาจากข้อเท็จจริงที่ว่ามะเร็งชนิดนี้ มักแพร่กระจายได้ช้ากว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทอื่น ส่วนคำว่า “ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes)’ คือ ชื่อเรียกเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ต้านการติดเชื้อในร่างกาย ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกิดความผิดปกติจนก่อให้เกิดมะเร็ง อย่างไรก็ตาม มีการรักษาหลายวิธีที่จะช่วยควบคุมโรคนี้ได้

มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรังพบบ่อยเพียงใด

มะเร็งชนิดนี้สามารถส่งผลได้ต่อทุกคน แต่จะส่งผลต่อผู้สูงอายุได้มากที่สุด

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

ผู้ป่วย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง จำนวนมากมักไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อโรคมีการพัฒนา อาจมีสิ่งบ่งชี้และอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองโตแต่ไม่มีอาการปวด
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้
  • มีอาการปวดในบริเวณช่องท้องด้านซ้ายบน ซึ่งอาจเกิดจากม้ามโต
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลด
  • ติดเชื้อบ่อย

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อคำถามใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

จนถึงในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับสาเหตุของ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ทราบแต่เพียงว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นทำให้เซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเลือดเกิดการผ่าเหล่าในระดับดีเอ็นเอ ซึ่งการผ่าเหล่าทำให้เซลล์เม็ดเลือดสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติ ทำให้การต้านเชื้อในร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องและสะสมตัวในเลือดและในอวัยวะบางส่วน ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ ลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติอาจเข้ามาแทนที่ลิมโฟไซต์ที่แข็งแรงในไขกระดูกและขัดขวางการสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติได้

แพทย์และนักวิจัยกำลังศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจกลไกที่แน่ชัดที่ทำให้เกิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

ปัจจัยความเสี่ยง

ปัจจัยความเสี่ยงของการเกิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นสำหรับการเกิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง คือ ผู้ที่อยู่ในภาวะดังต่อไปนี้

  • อายุ คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • เชื้อชาติ คนผิวขาวมีโอกาสที่จะเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ได้มากกว่าคนเชื้อชาติอื่น
  • ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเลือดและไขกระดูก ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง หรือมะเร็งเลือดและไขกระดูกอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงได้
  • การสัมผัสสารเคมี สารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงบางประเภท ซึ่งรวมถึงฝนเหลือง (Agent Orange) ที่ใช้ในช่วงสงครามเวียดนาม มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นภาวะดังกล่าวนี้ จะมีการตรวจร่างกายและอาจแนะนำการทดสอบบางประการ ได้แก่

การตรวจเลือด

การทดสอบและขั้นตอนการวินิจฉัย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้

  • ตรวจวัดจำนวนเซลล์ในตัวอย่างเลือด

การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด อาจใช้เพื่อวัดจำนวนลิมโฟไซต์ในเลือด โดยหากพบว่ามีจำนวนเซลล์บี (B Cells) ซึ่งเป็นลิมโฟไซต์ประเภทหนึ่ง สูงขึ้น อาจบ่งชี้ว่าเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

  • ระบุประเภทของลิมโฟไซต์ที่เกี่ยวข้อง

การทดสอบที่เรียกว่า “Flow Cytometry’ หรือ “Immunophenotyping’ ช่วยระบุว่าจำนวนลิมโฟไซต์ที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจาก โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง หรือเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดประเภทอื่น หรืออาจจะปฏิกิริยาของร่างกายต่อกระบวนการอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ

  • การทดสอบ Flow Cytometry  
  • หาก โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง เกิดขึ้น การทดสอบนี้จะช่วยวิเคราะห์ลักษณะของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงของเซลล์ที่ผิกปกติ

    การวิเคราะห์ลิมโฟไซต์เพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม

    การทดสอบที่เรียกว่า “Fluorescence In Situ Hybridization หรือ FISH)’ เป็นการตรวจโครโมโซมภายในลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ในบางครั้ง แพทย์จะใช้ข้อมูลนี้ระบุการพยากรณ์โรคและช่วยเลือกวิธีการรักษา

    การทดสอบอื่น ๆ

    ในบางกรณี แพทย์อาจให้มีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น

    • การทดสอบลักษณะเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อาจส่งผลต่อการพยากรณ์โรค
    • การตรวจตัวอย่างและการดูดไขกระดูก
    • การทดสอบโดยใช้ CT Scan

    การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

    ผู้ที่เป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ในระยะเริ่มแรกมักไม่ต้องได้รับการรักษา แม้ว่ามีการประเมินว่าการรักษาในระยะเริ่มแรกอาจช่วยได้ แต่มีการศึกษาเปิดเผยว่า อันที่จริงแล้ว การรักษาในระยะเริ่มแรกไม่ได้ช่วยต่อชีวิตผู้ที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ในระยะเริ่มแรก ในทางกลับกัน การรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกอาจเกิดอาการข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนซึ่งเป็นผลเสียมากกว่า ดังนั้น แพทย์จะเลือกการเฝ้าระวังภาวะผู้ป่วยอย่างระมัดระวังและจะให้การรักษาเมื่อรักษาโรคเกิดการแพร่กระจายขึ้นเท่านั้น โดยแพทย์จะกำหนดตารางการตรวจสุขภาพให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดทุก 2-3 เดือน เพื่อเฝ้าระวังอาการ แต่หากแพทย์พบว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรังพัฒนาไปถึงระยะกลางหรือระยะสุดท้าย ทางเลือกในการรักษาอาจได้แก่

    เคมีบำบัด

    เคมีบำบัดเป็นการรักษาด้วยยาที่ทำลายเซลล์มะเร็ง โดยสามารถให้ยาผ่านทางหลอดเลือดหรือรับประทานยาเม็ด แพทย์อาจพิจารณาสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละราย และระบุว่าจะใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวหรืออาจใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน

    การให้ยารักษามะเร็งเฉพาะจุด

    ยาเจาะจงเซลล์มะเร็งถูกนำมาใช้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ได้แก่

    • ยา Alemtuzumab (Campath)
    • ยา Ibrutinib (Imbruvica)
    • ยา Idelalisib (Zydelig)
    • ยา Lenalidomide (Revlimid)
    • ยา Obinutuzumab (Gazyva)
    • ยา Ofatumumab (Arzerra)
    • ยา Rituximab (Rituxan)

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง

    มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรังมักเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจไม่ต้องการการรักษา แม้อาจมองว่ามะเร็งชนิดนี้ไม่ค่อยร้ายแรง แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคมะเร็งย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถหาวิธีการในการรับมือกับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ได้ โดยพยายามศึกษาข้อมูลให้เพียงพอเกี่ยวกับโรคเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา และขอความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน ๆ หรืออาจพูดคุยกับผู้อื่นที่รอดชีวิตจากมะเร็ง เพื่อหาแนวทางปฏิบัติตัวที่เหมาะสมในการควบคุมโรคและอาการอื่น ๆ ของโรคนี้

    หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 12/06/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา