backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เลือดออกตามไรฟัน (Bleeding Gums)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

เลือดออกตามไรฟัน (Bleeding Gums)

คำจำกัดความ

เลือดออกตามไรฟัน คืออะไร

เลือดออกตามไรฟัน (Bleeding gums) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเลือดไหลออกจากบริเวณเหงือกและตามไรฟัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากขาดการกำจัดคราบหินปูน (plague) ออกจากฟันในส่วนที่ติดกับร่องเหงือก ซึ่งโรคเลือดออกตามไรฟันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมได้

เลือดออกตามไรฟัน พบบ่อยเพียงใด

โรคเลือดออกตามไรฟันนั้นพบได้ทั่วไป และเกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์หากคุณต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการ

อาการของโรคเลือดออกตามไรฟัน

สัญญาณเตือนและอาการของโรคเลือดออกตามไรฟันที่มักจะพบได้มีดังต่อไปนี้

  • เหงือกมีอาการบวม แดง และเจ็บ
  • เหงือกบวมตั้งแต่บริเวณรากฟัน
  • ฟันโยก
  • ลมหายใจมีกลิ่น
  • มีการรับรสชาดิที่ผิดเพี้ยนไป
  • การสบฟันผิดปกติ

ควรไปพบหมอเมื่อใด

ควรไปพบหมอทันทีหากคุณและคนที่คุณรักมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการเลือดออกนั้นรุนแรงและเรื้องรัง
  • เหงือกยังคงมีเลือดออกต่อเนื่อง แม้ได้รับการรักษาแล้ว
  • มีอาการอื่นๆ ตามมาหลังอาการเลือดออก

เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้นหรือมีข้อสงสัยโปรดปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ร่างกายของคนเรามีปฏิกิรยาแตกต่างกัน โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและแนวทางการรักษาที่เหมาะกับอาการของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเลือดออกตามไรฟัน

คุณอาจจะมีอาการเลือดออกตามไรฟัน หากคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • แปรงฟันแรงเกินไปหรือขนแปรงสีฟันไม่นุ่มพอ
  • เพิ่งเริ่มใช้ไหมขัดฟัน เหงือกจึงยังไม่คุ้นเคย
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • เหงือกอักเสบเนื่องจากตั้งครรภ์
  • ฟันปลอมไม่พอดีกับเหงือก
  • นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่

    • เหงือกอักเสบ (Gingivitis)

    เลือดออกตามไรฟันเป็นสัญญาณเตือนของโรคเหงือกอักเสบ หรือเกิดการอักเสบบริเวณเหงือก พบได้ทั่วไปและเป็นอาการเหงือกอักเสบที่ไม่รุนแรง สาเหตุเกิดจากการก่อตัวของคราบหินปูนบริเวณไรฟัน

    หากคุณมีอาการเหงือกอักเสบ สังเกตได้จากเหงือกเกิดการระคายเคือง แดง และบวม หรืออาจมีเลือดออกขณะแปรงฟัน

    คุณสามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยฟันของคุณให้ดี โดยการแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน รวมทั้งบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมที่ต้านแบคทีเรีย และพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

    • โรคปริทนต์ (Periodontitis)

    หากคุณปล่อยปละละเลยอาการเหงือกอักเสบ นั่นอาจเป็นสาเหตุของภาวะลุกลามที่นำไปสู่โรคที่เรียกว่า ปริทนต์ (periodontitis) คือ อาการเรื้อรังที่เหงือกถูกทำลายลงไปถึงระดับเนื้อเยื่อและกระดูกที่คอยพยุงฟัน

    หากคุณมีอาการของโรคปริทนต์ เหงือกของคุณจะอักเสบและติดเชื้อ ลุกลามไปจนถึงระดับรากฟัน

    หากเหงือกของคุณเลือดออกได้ง่าย อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปริทนต์ คุณอาจต้องสูญเสียฟันหรือฟันผิดรูป อาจมีกลิ่นปาก การรับรสที่ผิดเพี้ยน การสบฟันที่ผิดปกติ เหงือกบวมแดงและอักเสบ

    หากไม่ทำการรักษาโรคปริทนต์ คุณอาจต้องสูญเสียฟันบางส่วน

    เลือดออกตามไรฟัน หรือเหงือกบวมนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือ 2 เมื่อคุณป่วยเป็นเบาหวาน ช่องปากของคุณจะไม่สามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคไได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณอาจติดเชื้อได้ง่าย เช่น มีอาการของโรคเหงือก

    ระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่มากับโรคเบาหวานนั้นทำให้ร่างกายของคุณเยียวยาตัวเองได้ยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคเหงือกนั้นแย่ลง

    • มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)

    เลือดออกตามไรฟันอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยตามปกติแล้ว เกล็ดเลือดจะทำหน้าที่ห้ามเลือดในร่างกาย แต่หากคุณเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดของคุณจะอยู่ในระดับต่ำ และอาจทำให้เลือดหยุดได้ยากในส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเหงือกด้วย

    • เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)

    หากเหงือกของคุณเลือดออกหลังจากแปรงฟัน และเลือดไม่สามารถหยุดเองได้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia)

    หากคุณมีอาการดังกล่าว ร่างกายของคุณอาจมีเกล็ดเลือดไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการจับตัวกันของเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการเลือดออกไม่หยุดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเหงือกของคุณด้วย

    • โรคเลือดไหลไม่หยุด หรือ โรควอนวิลลิแบรนด์ (Hemophilia or von Willebrand Disease)

    หากคุณมีอาการเหงือกเลือดออก หรือ เลือดออกมากเมื่อได้มีบาดแผลเล็กน้อยจากถูกบาด หรือทำฟัน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเลือดไหลไม่หยุด

    ในภาวะนี้ เลือดของคุณจะไม่สามารถจับตัวกันได้ดีนัก ทำให้คุณอาจมีอาการเลือดออกที่บริเวณเหงือก

  • ขาดวิตามินซี (Vitamin C Deficiency )
  • วิตามินซี  นั้นช่วยให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตและซ่อมแซมตัวเอง มันช่วยรักษาบาดแผลและทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง หากร่างกายของคุณได้รับวิตามินซี ไม่เพียงพอ คุณอาจรู้สึกอ่อนแอและเจ็บปวดได้ง่ายกว่าปกติ รวมไปถึงมีอาการอักเสบบวมแดงที่บริเวณเหงือกอีกด้วย

    • โรคลักปิดลักเปิด (Scurvy)

    โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ยาก เกิดจากการขาดวิตามินซี อย่างรุนแรงของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่อาการของโรคลักปิดลักเปิด รวมทั้งโรคที่เกิดจากภาวะการขาดโภชนาการ ทำให้อ่อนแอ โลหิตจาง และเกิดภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง การพบว่ามีเลือดออกบริเวณเหงือกจึงอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคลักปิดลักเปิดได้

    คุณอาจสังเกตเห็นเลือดออกบริเวณเหงือกปริมาณมาก อาจเป็นเพราะคุณได้รับวิตามินเค ไม่เพียงพอ วิตามินเค  นั้นมีส่วนช่วยให้เลือดจับตัวกันอย่างพอเหมาะ และมีส่วนเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก หากคุณได้รับวิตามินเค จากอาหารไม่เพียงพอ หรือร่างกายของคุณไม่สามารถดูดซึมวิตามินเค ได้ดี อาจเป็นสาเหตุของปัญหาเลือดออกตามมา

    อาการดังกล่าวข้างตนนั้นเป็นสาเหตุของอาการเลือดออกบริเวณเหงือก โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ชัดเจนต่อไป

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน

    ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน ได้แก่

    • ฟันปลอมไม่พอดีกับเหงือก
    • ไม่ดูแลสุขอนามัยช่องปาก
    • ขาดวิตามิน
    • ตั้งครรภ์
    • มีภาวะเลือดไหลไม่หยุด

    โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทราบรายละเอียดเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยอาการเลือดออกตามไรฟัน

    หากคุณพบว่ามีอาการเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟันหรือบ้วนปาก โปรดไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคเพิ่มเติม แพทย์จะทำการตรวจสอบเหงือกของคุณเพื่อดูว่ามีอาการอักเสบหรือแผลอะไรหรือไม่ ตรวจสอบความแข็งแรงของเหงือก และทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง

    การรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน

    สิ่งสำคัญในการรักษาอาการเลือดออกตามไรฟันคือ การรักษาความสะอาดของช่องปากให้ดี คุณควรไปหาทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อทำการตรวจสุขภาพฟันและทำความสะอาดคราบพลัคและขูดหินปูน ทันตแพทย์อาจจะสอนวิธีการแปรงฟันอย่างถูกต้องให้คุณทราบ การแปรงฟันอย่างถูกต้องและการขูดหินปูนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออกตามไรฟันได้

    นอกจากนี้ทันตแพทย์ยังอาจให้คุณใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อลดการเกิดคราบพลัค การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือก็สามารถช่วยลดอาการเหงือกบวมที่ทำให้มีเลือดออกได้อีก

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองเพื่อรับมือกับโรคเลือดออกตามไรฟัน

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณรับมือกับอาการเลือดออกตามไรฟัน

    • พบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อขูดหินปูน ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลสุขอนามัยช่องปาก
    • แปรงฟันเบาๆ ด้วยแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่มอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน หากเป็นไปได้ควรแปรงฟันหลังจากการรับประทานอาหารทุกมื้อ และขัดฟันด้วยไหมขัดฟันวันละ 2 ครั้งเพื่อป้องกันการก่อตัวของคราบหินปูน
    • ทันตแพทย์อาจแนะนำให้คุณบ้วนปากด้วยเกลือ หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดของขบเคี้ยวระหว่างมื้อและงดอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
    •  เข้ารับการตรวจโรคปริทันต์
    •  งดสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้อาการเลือดออกตามไรฟันแย่ลง บุหรี่และยาสูบสามารถนำมาซึ่งปัญหาเลือดออกตามไรฟันได้
    • หยุดเลือดออกตาไรฟันด้วยการกดลงบริเวณเหงือกด้วยผ้าก๊อซที่แช่น้ำเย็นจัด
    • หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าขาดวิตามิน ก็ควรรับวิตามินเสริม
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
    • หากเป็นผลข้างเคียงมาจากยาที่ส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาชนิดอื่น ห้ามเปลี่ยนยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์โดยเด็ดขาด
    • ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากกับบริเวณฐานฟันเพื่อนวดเหงือก
    •  ปรึกษาทันตแพทย์ในกรณีที่ฟันปลอมหรือวัสดุทันตกรรมนั้นไม่พอดีกับฟัน หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เหงือกอักเสบ
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์เรื่องการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดบริเวณเหงือก

    หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจอาการและหาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา