backup og meta

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ไม่ควรมองข้าม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 24/08/2020

    ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ไม่ควรมองข้าม

    คุณผู้อ่านท่านใดมีข่าวดีเตรียมตัวลั่นระฆังวิวาห์บ้างคะ Hello คุณหมอ ขอแสดงความยินดีไว้ล่วงหน้าก่อนเลย ซึ่งโอกาสมงคลแบบนี้คู่รักหลายคู่ก็มักจะยุ่งอยู่กับการเตรียมงาน หาฤกษ์งามยามดี ผูกดวงสมพงศ์ หรือกราบไหว้ผู้ใหญ่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรให้การใช้ชีวิตคู่นั้นเป็นสิริมงคลและราบรื่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องไม่ลืมว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะคนทั้งสองคนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไปอีกนาน การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่คู่รักไม่ควรละเลย แต่ทำไมเราต้อง ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ? ตรวจแล้วจะได้อะไร ? แล้วต้องตรวจอะไรบ้าง ? ถ้าอยากรู้ล่ะก็มาติดตามกันได้ที่บทความนี้เลยค่ะ

    ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน คืออะไร

    การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน คือ การเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเช็กสภาพความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของคู่รักที่กำลังจะตกลงปลงใจแต่งงานและสร้างครอบครัวไปด้วยกัน ซึ่งกระบวนการในการตรวจจะไม่แตกต่างจากการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปมากนัก การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนี้เจึงป็นเสมือนคู่มือพื้นฐานสำหรับคู่รักเพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนการใช้ชีวิตหลังแต่งงานได้

    ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ต้องตรวจอะไรบ้าง

    โดยทั่วไปแล้ว การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน นั้นมักจะมีโปรแกรมการตรวจที่คล้ายๆ กัน แต่อาจจะมีความแตกต่างกันไปตามแพ็กเกจหรือโปรโมชั่นของสถานพยาบาลที่เลือกใช้บริการ ซึ่งปกติแล้วแพทย์จะทำการตรวจโดยมีโปรแกรมสำคัญๆ ดังนี้

    1. การตรวจเลือด

    การตรวจเลือดก่อนตัดสินใจแต่งงานถือว่ามีความสำคัญ เพราะคู่รักจะสามารถทราบหมู่โลหิตของลูกที่จะเกิดมา ทราบความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่อาจมาจากพ่อหรือแม่เป็นพาหะ รวมถึงทราบความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับเลือด เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งทารกที่จะเกิดมาในอนาคตอาจมีภาวะเหล่านี้ได้ หากตรวจเลือดแล้วพบว่าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นพาหะของโรค

    1. ตรวจภาวะการมีบุตรยาก

    เพื่อลดปัญหาการกล่าวโทษกันแบบที่อาจจะเห็นกันบ่อยๆ ทั้งในละครและชีวิตจริง ที่เมื่อเกิดปัญหาการไม่มีบุตรสักทีแล้วก็มักจะกล่าวโทษกันเองว่ากรรมพันธุ์ฉันดี กรรมพันธุ์เธอไม่ดี การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เพื่อหาภาวะการมีบุตรยากจะช่วยไขข้อข้องใจในกรณีนี้สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร รวมถึงสามารถที่จะหาทางออกในกรณีที่ต้องการจะมีบุตรได้อีกด้วย

    1. ตรวจพันธุกรรม

    การตรวจพันธุกรรมสามารถช่วยระบุความเสี่ยงที่จะส่งต่อไปยังทารกที่จะเกิดมาในอนาคตได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โดยพาหะหรือความเสี่ยงอาจมาจากพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ หรืออาจไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมใดๆ ที่น่าเป็นห่วงเลยก็ได้

    1. ตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    การมีเซ็กส์ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน แต่นอกเหนือไปจากการมีเซ็กส์แซ่บสุดเร้าใจแล้ว การมีเซ็กส์ที่ปลอดภัยไร้โรคติดต่อก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตคู่เช่นกัน การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยให้ทราบอาการทางสุขภาพปัจจุบัน และความเสี่ยงที่อาจจะส่งต่อไปยังทารกที่จะเกิดมาในอนาคตได้

    ตรวจหาโรคเรื้อรัง

    การตรวจหาโรคเรื้อรังจะช่วยให้คู่รักทั้งสองคนทราบอาการทางสุขภาพที่เป็นอยู่ของตนเอง บางคนอาจมีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคตได้ หรืออาจพบแค่เพียงความเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จะช่วยให้สามารถวางแผนรับมือกับการดูแลสุขภาพของตนเองได้

    ประโยชน์ของการ ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

    หลายคนอาจถือความรักมาเหนือสิ่งอื่นใด แต่ชีวิตคู่ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น อาศัยแค่เพียงความรักในการเหนี่ยวนำอาจจะไม่พอ จำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ โดยหนึ่งในนั้นก็คือปัจจัยด้านสุขภาพ เพราะถ้าหากสุขภาพดี ไม่มีความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บที่อันตรายหรือรุนแรงถึงชีวิต ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอีกฝ่ายได้ว่าความสัมพันธ์จะไม่หยุดชะงักอย่างแน่นอน เพราะ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จะช่วยวางแผนการใช้ชีวิตและหาทางรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนี้

    • ทราบความเสี่ยงของทารกในครรภ์

    คู่รักสามารถทราบความเสี่ยงของทารกที่จะเกิดมาในอนาคตได้หากใครคนใดคนหนึ่งเป็นพาหะที่จะนำความเสี่ยงทางพันธุกรรม หรือโรคเรื้อรังไปสู่ลูก เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย แต่ถ้าหากสุขภาพของคู่รักเป็นปกติทั้งสองคน การวางแผนที่จะมีลูกก็สามารถที่จะทำได้โดยไม่มีข้อกังวลใดๆ แต่ถ้าเด็กที่จะเกิดมาอาจมีความเสี่ยงทางสุขภาพ คู่รักก็สามารถตัดสินใจที่จะไม่มีลูกได้ หรือหาหนทางอื่นในการตั้งครรภ์ที่จะไม่ส่งต่อความเสี่ยงให้กับเด็กที่จะเกิดมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่าการปล่อยให้เด็กเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบากทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมในอนาคต

    • ทราบโอกาสในการตั้งครรภ์

    ปัญหาอยากมีลูกแต่ทำยังไงก็ไม่มีสักที ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่ทราบความเสี่ยงทางสุขภาพของกันและกันมาตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ทำให้บางคู่อาจไม่รู้ตัวว่าตนเองมีภาวะการมีบุตรยาก ซึ่งถ้าหากไม่มีใครมีภาวะดังกล่าว การวางแผนเพื่อตั้งครรภ์ก็สามารถทำได้ทันที แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งมีภาวะการมีบุตรยาก การทราบผลนี้ก่อนแต่งงานก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจหากคู่รักต้องการจะมีลูก หรือมองหาแนวทางต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สำหรับอนาคตข้างหน้า

    • รู้อาการทางสุขภาพของตนเอง

    บางคนและหลายคนอาจไม่เคยหาโอกาสไปตรวจสุขภาพประจำปี จึงทำให้ไม่รู้ว่าปัจจุบันตนเองมีความเสี่ยงทางสุขภาพแบบใดบ้าง มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังใดบ้างที่จำเป็นจะต้องดูแลและเอาใจใส่สุขภาพตนเองมากเป็นพิเศษ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จะช่วยให้ทั้งสองสามารถวางแผนรับมือกับสุขภาพซึ่งกันและกัน หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ก็จะได้วางแผนการรักษาร่วมกันต่อไปได้

    • ป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเป็นพาหะของโรคติดต่อ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจสุขภาพและรับรู้ผลของความเสี่ยงนี้ก่อน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพทางเพศของทั้งสองคนได้ และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัญหาสุขภาพทางเพศ ก็สามารถที่จะเข้ารับการรักษาให้ดีขึ้นก่อนที่จะแต่งงาน เพื่อที่เซ็กส์หลังแต่งงานจะได้เป็นเรื่องที่ปลอดภัย และลูกที่จะเกิดมาจะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงของโรคติดต่อที่มาจากพ่อหรือแม่

    • สร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน

    หากหลังจากแต่งงานกันไปแล้ว พบว่าตนเองติดเชื้อมาจากสามีหรือภรรยาคงจะส่งผลต่อสภาพจิตใจและความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นแน่ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างไม่มีความลับ ก็จะมีส่วนช่วยลดปัญหาชีวิตคู่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

    คำแนะนำเพิ่มเติม

    อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจะทำให้คู่รักทราบความเสี่ยงทางสุขภาพของกันและกัน สามารถที่จะวางแผนการดูแลและรับมือกับสุขภาพของตนเองและคนรัก ตลอดจนลูกที่จะเกิดมาได้ก็จริง แต่การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ก็ไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขโรคทางพันธุกรรมหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดอาจทำให้ความฝันในการสร้างครอบครัวที่มีทั้งพ่อ แม่ และลูกต้องอาจต่างไปจากที่คาดหวังเอาไว้แต่แรก

    สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก แต่ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ความเสี่ยงต่อสุขภาพซึ่งกันและกัน เมื่อถึงเวลานั้นปัญหาที่ว่านี้อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ต้องหยุดชะงักลงหรือเกิดความบาดหมางซึ่งกันและกัน ดังนั้นแล้ว การทราบความเสี่ยงก่อนจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้สามารถรับมือและฝ่าฟันไปพร้อมๆ กัน  เพื่อสร้างพื้นฐานของชีวิตคู่ที่มั่นคงและปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 24/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา