backup og meta

นกพิราบ ไม่ได้น่ารักอย่างที่คิด! แต่เป็นพาหะนำโรค ที่คุณควรหนีให้ไกล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    นกพิราบ ไม่ได้น่ารักอย่างที่คิด! แต่เป็นพาหะนำโรค ที่คุณควรหนีให้ไกล

    นกพิราบมีให้เห็นแทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบนเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน ตามฟุตบาทริมถนนหนทาง ยิ่งบริเวณลานกว้างในสวนสาธารณะ ยิ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนกพิราบฝูงใหญ่ และภาพคนเอาอาหารไปโปรยให้นกพิราบ เด็กๆ วิ่งไล่นกพิราบจนแตกฮือ บินว่อนไปทั่วฟ้า หรือคนโพสท่าถ่ายรูปโดยมีฝูงนกพิราบเป็นฉากหลัง ก็เป็นสิ่งที่เราเห็นกันจนชินตา แต่คุณรู้ไหมว่า ภาพสวย ๆ ที่ได้มานั้น อาจแลกด้วยการติดเชื้อโรคจากนกพิราบ โดยที่คุณไม่ทันรู้ตัว เพราะความจริงแล้ว นกพิราบ คือพาหะนำโรคตัวร้าย ที่ Hello คุณหมอ แนะนำให้คุณควรหนีให้ห่าง เห็นที่ไหน อย่าเฉียดไปใกล้เป็นดีที่สุด

    นกพิราบ… ตัวแพร่เชื้อโรค

    สัตว์ปีกอย่างนกพิราบ ถือเป็นพาหะนำโรคชั้นดี พวกมันบินไปทั่วพร้อมหอบเอาปริสิตและเชื้อโรคติดต่อมากมายไปแพร่กระจายยังที่ต่างๆ นกพิราบสามารถแพร่เชื้อโรคได้ผ่านทางแหล่งน้ำและอาหาร และที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ มูลของนกพิราบ หรือเรียกง่ายๆ ว่าขี้นกพิราบ ที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยสนใจทำความสะอาด ปล่อยให้แห้งคาที่อยู่อย่างนั้น คิดว่าแค่เดินเลี่ยงก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความจริง เมื่อขี้นกพิราบแห้งกลายเป็นผงลอยฟุ้งไปในอากาศ แล้วเราหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนขี้นกพิราบเข้าไป ก็อาจทำให้เราติดเชื้อและป่วยได้เช่นกัน

    เชื้อโรคที่สามารถแพร่จากนกพิราบมาสู่คนได้ เช่น

    • เชื้ออีโคไล (E. coli) เมื่อเราบริโภคน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนขี้นกพิราบ ก็อาจได้รับเชื้อแบคทีเรียอีโคไล และเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ปวดท้องรุนแรงได้
    • เชื้อราฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เชื้อราที่เจริญเติบโตในขี้นก หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • แบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ ที่เรียกว่า ซาลโมเนลโลซิส (Salmonellosis) ทำให้เกิดอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ท้องเสีย มีไข้ อ่อนเพลีย
    • ไวรัสไข้สมองอักเสบ เช่น เจแปนีส เอนเซฟาไลติส (Japanese Encephalitis) ไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus) ซึ่งสามารถแพร่สู่คนได้ผ่านยุงที่ได้รับเชื้อนี้มาจากนกพิราบ โรคไข้สมองอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และหากเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
    • เชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคริปโตคอกโคสิส โดยเฉพาะในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อราชนิดนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดและสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
    • เชื้อราแคนดิดา (Candida) จากขี้นกพิราบ ทำให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ช่องปาก ระบบทางเดินหายใจ ลำไส้เล็ก และระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะในผู้หญิง

    นอกจากนี้ นกพิราบยังอาจมีเห็บ หมัด ไร และปริสิตต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่สร้างความรำคาญให้กับเรา แต่ยังอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ด้วย

    แล้วจะป้องกันนกพิราบอย่างไรดี

    นกพิราบมักชอบมาอาศัยอยู่บริเวณหลังคา หรือระเบียงบ้าน ยิ่งถ้าฝ้าระเบียงบ้านไหนผุพัง ก็ยิ่งกลายเป็นรังนกพิราบชั้นดี หากคุณปล่อยไว้ ก็อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจากนกพิราบ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ แต่คุณก็สามารถป้องกันนกพิราบมาทำรังที่บ้านได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ติดตั้งตาข่ายกันนกพิราบเข้ามาทำรังบริเวณระเบียง สายไฟฟ้า สายเคเบิล คอมเพรสเซอร์แอร์ และต้องไม่ลืมทำความสะอาดบริเวณตาข่ายบ่อยๆ ด้วย
    • ติดตั้งหนามกันนกในบริเวณที่นกพิราบชอบมาเกาะ เช่น ขอบรั้ว หลังคา ระเบียงบ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกหลายวัสดุ หลายราคา แนะนำว่า ควรเลือกแบบที่กันสนิมและทนทานต่อสภาพอากาศ ก็จะใช้ได้ทนทานกว่า
    • ติดตั้งสปริงเกลอร์ หรือหัวฉีดพ่นน้ำไล่นก ในบริเวณสวน สระน้ำ หรือสนาม เพื่อป้องกันนกพิราบมาอาศัยหรือขับถ่ายทิ้งไว้ แนะนำให้เลือกสปริงเกลอร์แบบมีเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหว เพราะจะฉีดน้ำอัตโนมัติเมื่อพบว่ามีนกพิราบบุกรุกเข้ามา

    วิธีทำความสะอาดขี้นกพิราบ ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค

    หากคุณพบว่ามีขี้นกพิราบในบริเวณบ้าน ควรรีบทำความสะอาดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคในขี้นกพิราบแพร่กระจาย โดยคุณสามารถทำความสะอาดขี้นกพิราบได้อย่างปลอดภัย ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    หากเป็นขี้นกพิราบปริมาณเล็กน้อย เช่น ตามขอบหน้าต่าง คุณสามารถล้างออกได้ด้วยน้ำสบู่ แต่ต้องไม่ลืมสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยด้วย หากขี้นกพิราบกระเด็นเปื้อนร่างกายหรือเสื้อผ้า ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาด และซักเสื้อผ้าที่เปื้อนทันที

    หากเป็นการทำความสะอาดขี้นกพิราบปริมาณมาก ควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

    • สวมรองเท้า หมวก ถุงมือ และชุดป้องกันแบบใช้แล้วทิ้งให้เรียบร้อย
    • สวมอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ หรือหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองที่กรองอนุภาคได้ถึง 0.3 ไมครอน หรือหน้ากาก N95
    • หาพลาสติกคลุมบริเวณขี้นกเอาไว้ เพื่อป้องกันละอองขี้นกลอยฟุ้งขึ้นไปในอากาศ จากนั้นใช้สายยาง หรือสายฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดล้างขี้นก
    • เก็บขี้นกใส่ถุงขยะชนิดความแข็งแรงสูง แล้วปิดปากถุงให้เรียบร้อย จากนั้นฉีดล้างภายนอกถุงขยะอีกรอบ ค่อยนำไปทิ้ง แต่ห้ามทิ้งรวมกับขยะปกติ
    • ถอดชุดป้องกัน หมวก ถุงมือ รองเท้าออกแล้วทิ้งให้เรียบร้อย จากนั้นจึงค่อยถอดหน้ากากป้องกันทิ้ง
    • อาบน้ำให้สะอาด

    คุณควรทำความสะอาดขี้นกพิราบเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ขี้นกสะสมมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำความสะอาดยากและเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น และการกำจัดขี้นกพิราบ ไม่ว่าจะในปริมาณมากหรือน้อย ก็ควรให้คนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นคนทำ คนที่ร่างกายไม่แข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นมะเร็ง เสี่ยงติดเชื้อง่าย ไม่ควรกำจัดขี้นกพิราบ หรือมูลสัตว์ต่างๆ โดยเด็ดขาด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา