backup og meta

ย้อมสีผม เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งจริงหรือ?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

    ย้อมสีผม เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งจริงหรือ?

    การ ย้อมสีผม มีด้วยกันหลากหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการย้อมเพื่อแฟชั่น หรือแม้แต่การย้อมสีผมเพื่อปกปิดผมขาว แต่รู้หรือไม่ว่า ยาย้อมสีผมนั้นมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน ดังนั้นการทำตามคำแนะนำในบรรจุภัณฑ์จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

    ย้อมสีผม ทำให้เป็นมะเร็งได้จริงหรือ

    จากการศึกษาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการย้อมสีผมจะทำให้เป็นมะเร็งได้หรือไม่นั้น ยังมีความขัดแย้งและไม่สามารถสรุปได้ แต่อย่างไรก็ตามจากการวิจัยที่มีอยู่นั้นดูเหมือนว่า การย้อมสีผมสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้เป็นอย่างมาก ในปี 2010 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer) สรุปเอาไว้ว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาว่าการใช้สีย้อมผมนั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่ก็มีการวิจัยเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ

    ครั้งหนึ่งสีย้อมผมเคยมีสารเคมีที่เป็นที่รู้จักว่าเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ ดังนั้นระหว่างปี 1980 และปี 1982 สีย้อมผมทั้งหมดจึงได้รับการปรับรูปแบบให้แยกสารเคมีเหล่านี้ออก แต่ความจริงก็คือ ยิ่งได้รับและสัมผัสกับสารก่อมะเร็งในปริมาณมากเท่าไหร่โอกาสที่จะเป็นมะเร็งก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

    สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากสีย้อมผม ได้แก่ ช่างทำผมที่ทำงานกับสีย้อมผม ผู้ที่เริ่มย้อมผมมาเป็นเวลานาน ผู้ที่ย้อมสีผมบ่อยๆ และความเข้มของสีย้อมผม โดยสีย้อมผมสีเข้ม เช่น ดำ และน้ำตาล จะมีสารเคมีที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่าสีอ่อน

    สัญญาณของปัญหาที่เกิดจากการย้อมสีผม

    สำหรับสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังได้รับปัญหาจากการย้อมสีผม ได้แก่

    • ความแดงของหนังศีรษะที่เกิดจากการระคายเคือง
    • อาการคัน
    • หนังศีรษะเป็นเกล็ดหรือแผลพุพอง
    • ผมมีสภาพอ่อนแอลง ไม่มีชีวิตชีวา
    • ผมร่วง

    ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้อย่างรุนแรง และนานกว่า 2 วัน ขอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

    สีสำหรับ ย้อมสีผม ประเภทไหนที่มีความเสี่ยงสูง

    สำหรับสีย้อมผมนั้นมีด้วยกัน 2 แบบ โดยรูปแบบจะแตกต่างกันสำหรับวิธีการย้อมผม และระยะเวลาของสีที่จะติดอยู่บนเส้นผมนั่นเอง

    • ยาย้อมผมออกซิเดทีฟ (Oxidative) หรือยาย้อมสีผมแบบถาวร: ยาย้อมผมชนิดนี้จะต้องใช้งานโดยผสมสารออกซิไดซ์ เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แอมโมเนีย และสารทำสี ซึ่งแอมโมเนียนั้นจะทำหน้าที่ในการเปิดเกล็ดผมชั้นนอก จากนั้นตัวออกซิไดซ์จะเข้าสู่เส้นผม และกำจัดเม็ดสีธรรมชาติ พร้อมทั้งเชื่อมเม็ดสีใหม่เข้ากับเส้นผม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนสีผมแบบถาวรนั่นเอง
    • ยาย้อมผมแบบไม่ถาวร (Non- Oxidative)  ยาย้อมผมชนิดนี้จะเป็นกึ่งสังเคราะห์ และไม่ได้ทำให้สีผมเปลี่ยนไปอย่างถาวร เนื่องจากยาย้อมผมประเภทนี้จะไม่ทำลายเม็ดสีผมตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถทำให้สีผมสว่างขึ้นได้ โดยยาย้อมผมประเภทนี้จะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ
    • ยาย้อมสีผมกึ่งถาวร ซึ่งสามารถล้างออกได้โดยการสระผม สีจะอยู่บนเส้นผมได้เพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น
    • ยาย้อมสีผมแบบชั่วคราว สีเหล่านี้จะหลุดออกได้โดยการสระผมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งยาย้อมผมประเภทนี้ก็ได้แก่ สเปรย์เปลี่ยนสีผม หรือชอล์กเปลี่ยนสีผม เป็นต้น

    ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ยาย้อมสีผมแบบถาวรนั้น จะมีสารเคมีมากกว่ายาย้อมสีผมแบบไม่ถาวร ยาย้อมสีผมแบบถาวรนั้นจะทำให้เกิดการระคายเคืองหนังศีรษะ นี่จึงเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้สีย้อมผมสามารถเข้าสู่ร่างกาย  หากสารเคมีบางชนิดเป็นสารของการเกิดมะเร็งก็จะสามารถทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงขึ้นได้นั่นเอง

    ถ้าอยากย้อมผมควรทำเช่นไร?

    หากอยากย้อมสีผม สิ่งที่ควรจะต้องสังเกตมากที่สุดก็คือรายละเอียดที่ระบุเอาไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ มีดังนี้

    • ก่อนใช้สีย้อมผมกับเส้นผม ควรจะต้องทดสอบปฏิกิริยาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นเสียก่อน โดยทำการทดสอบบนผิวหนัง
    • สวมถุงมือทุกครั้งเมื่อต้องทำการผสมสีย้อมผมหรือย้อมสีผม
    • อย่าทิ้งสีย้อมผมเอาไว้บนเส้นผมนานกว่าคำแนะนำ
    • หลังจากย้อมสีผมเสร็จควรล้างหนังศีรษะด้วยน้ำสะอาด
    • อย่าผสมสูตรของยาย้อมสีผมที่แตกต่างกัน
    • อย่านำยาย้อมสีผมมาย้อมขนคิ้ว หรือขนตา เนื่องจากมันสามารถทำลายดวงตา จนถึงขั้นสามารถทำให้ตาบอดได้

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา