backup og meta

เรื่องน่ารู้ ก่อนไปฉีด วัคซีนบาดทะยัก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    เรื่องน่ารู้ ก่อนไปฉีด วัคซีนบาดทะยัก

    การฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก เพราะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับโรคต่างๆ วัคซีนบาดทะยัก เป็นหนึ่งในวัคซีนสำคัญที่เรามักจะมองข้ามและไม่ให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่ผู้ที่เป็นโรคบาดทะยักอาจะมีโอกาสในการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง บทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนบาดทะยัก เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนบาดทะยัก

    วัคซีนบาดทะยัก คืออะไร

    บาดทะยัก (Tetanus) หมายถึงโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani แบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในดิน ละอองฝุ่น และสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติอื่นๆ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เช่น บาดแผลจากของมีคม เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายก็จะสร้างสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ผู้ที่ติดเชื้อบาดทะยักอาจจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกอย่างรุนแรง หายใจไม่ออก หรืออาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ และวิธีในการป้องกันบาดทะยักที่ดีที่สุด ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

    วัคซีนบาดทะยัก เป็นวัคซีนที่ได้จากการนำสารพิษ มาทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมี ทำให้มีความปลอดภัยในการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรค โดยรูปแบบและปริมาณของพิษจะขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนบาดทะยักแต่ละประเภท

    วัคซีนบาดทะยัก มีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเภท คือ

    • วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (DT) สำหรับเด็กที่อายุ 7 ปีขึ้นไป
    • วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTaP) สำหรับเด็กที่อายุไม่เกิน 7 ปี
    • วัคซีนบาดทะยักและคอตีบ (Td) สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่
    • วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน (Tdap) สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่

    วัคซีนบาดทะยักต้องฉีดเมื่อไหร่จึงจะได้ผลสูงสุด

    วัคซีนบาดทะยักนั้น ไม่ใช่วัคซีนที่ฉีดเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วก็เสร็จ แต่คุณจะต้องรับวัคซีนเป็นชุดๆ โดยมีระยะการรับวัคซีนที่แนะนำคือ ทุกๆ 10 ปี

    สำหรับเด็ก

    สำหรับเด็กเล็กในวัยแรกเกิดนั้น จะได้รับวัคซีคบาดทะยักประเภท DTaP ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน โดยที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) ได้ให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนบาดทะยักสำหรับเด็กเล็ก โดยมีระยะดังต่อไปนี้

    • อายุ 2 เดือน
    • อายุ 4 เดือน
    • อายุ 6 เดือน
    • อายุ 15-18 เดือน
    • อายุ 4-6 ปี

    วัคซีนบาดทะยักประเภท DTaP นั้นจะไม่ใช้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป

    นอกจากนี้ เด็กก็ควรจะได้รับวัคซีนบาดทะยัก Tdap เพิ่มอีกครั้ง ในช่วงอายุ 11 หรือ 12 ปี และเมื่อผ่านไป 10 ปีหลังจากได้รับวัคซีน Tdap ก็ควรจะได้รับวัคซีบาดทะยักประเภท Td

    สำหรับผู้ใหญ่

    หลายคนอาจจะเข้าใจว่า วัคซีนบาดทะยักนั้น เป็นวัคซีนที่เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ ที่ฉีดแค่เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่จริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักทุกๆ 10 ปี เพื่อการป้องกันวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ

    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ให้คำแนะนำว่า ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนจนครบชุดในวัยเด็กนั้น ควรจะได้รับวัคซีนประเภท Tdap ก่อน แล้วจึงตามด้วยให้วัคซีน Td ในทุกๆ 10 ปี

    สำหรับผู้ตั้งครรภ์

    ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักประเภท Tdap วัคซีนนี้จะเป็นตัวช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคไอกรนสำหรับทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

    หากคุณแม่นั้นไม่ได้รับการฉีดวัคซีน Td หรือ Tdap ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องได้รับวัคซีน Tasp เพื่อช่วยเพิ่มการป้องกันทารกในครรภ์จากโรคบาดทะยัก และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคคอตีบ ซึ่งเป็นโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตสำหรับทารกแรกเกิด

    ระยะเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่ดีที่สุดสำหรับผู้ตั้งครรภ์ คือฉีดวัคซีนในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 27 ถึง 36 สัปดาห์ แต่การฉีดวัคซีนบาดทะยักไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของการตั้งครรภ์ก็ปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเคยได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักมาก่อนหรือไม่ อาจจะต้องได้รับวัคซีนบาดทะยักครบทั้งชุด

    ผลข้างเคียงของวัคซีนที่อาจจะเกิดขึ้น

    อาการที่ไม่รุนแรง

    • มีอาการปวด บวม หรืออาการแดงในบริเวณที่ฉีดวัคซีน
    • ปวดหัว
    • ปวดเมื่อยตามลำตัว
    • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ไม่มีแรง
    • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
    • ท้องเสีย
    • เบื่ออาหาร
    • เป็นไข้
    • เด็กอาจจะมีอาการงอแง

    อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น หรือใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือสามารถปล่อยทิ้งไว้ให้อาการหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม

    อาการที่รุนแรง

    • เส้นประสาท Brachial อักเสบ (Brachial neuritis) มักจะเกิดภายใน 3-10 วันแรกหลังจากได้รับ มีอาการคือ รู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่หรือต้นแขน แล้วตามด้วยอาการแขนอ่อนแรง มีอาการชา
    • เด็กอาจจะมีอาการงอแง หรือลมชัก เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป
    • มีไข้สูง
    • อาการแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) มักจะเกิดภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมงหลังจากรับวัคซีน โดยมีอาการคือเป็นผื่นลมพิษทั่วทั้งร่างกาย คันตามผิวหนัง และมีอาการบวมที่ใบหน้า ปาก หรือลำคอ หายใจไม่ออก ชีพจรอ่อน เป็นต้น

    หากพบอาการที่รุนแรงเหล่านี้ควรรีบติดต่อแพทย์ในทันที เพราะอาจต้องมีการวินิจฉัย และทำการรักษา หรือทำกายภาพบำบัดอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามมาในภายหลัง

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา