backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

หนังตาตก (Ptosis)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/10/2020

หนังตาตก (Ptosis)

หนังตาตก (Ptosis) หมายถึงภาวะที่เปลือกตาบนนั้นมีลักษณะหย่อนคล้อย หรือตกลงมา โดยไม่สามารถควบคุมได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจจะเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง

คำจำกัดความ

หนังตาตก คืออะไร

หนังตาตก (Ptosis) หมายถึงภาวะที่เปลือกตาบนนั้นมีลักษณะหย่อนคล้อย หรือตกลงมา โดยไม่สามารถควบคุมได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจจะเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง

ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้เองตั้งแต่กำเนิด หนือเกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากอายุ การบาดเจ็บ หรือสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ และอาจมีอาการเพียงแค่ชั่วคราว หรือเป็นอย่างถาวรก็ได้ ในกรณีรุนแรง อาการหนังตาตกนี้อาจจะรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบกับการมองเห็น ทำให้มองเห็นได้น้อยลง หรือหนังตาหย่อนคล้อยลงมาจนปิดดวงตา ทำให้มองไม่เห็นเลยก็ได้เช่นกัน

ภาวะหนังตาตก นี้เป็นภาวะที่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งจากวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์ทางเลือกต่างๆ

หนังตาตกพบบ่อยแค่ไหน

ภาวะหนังตาตก นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม เด็กทารกบางคนก็อาจจะมี ภาวะหนังตาตกนี้ตั้งแต่แรกเกิดได้เช่นกัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการของหนังตาตก

อาการหลักที่เห็นได้ชัดที่สุดของภาวะหนังตาตกก็คือ อาการเปลือกตาบนหย่อนคล้อยลงมา โดยไม่มีอาการเจ็บหรืออาการปวดใดๆ แต่หนังตาที่ย้อยลงมานี้อาจบดบังการมองเห็น ทำให้มองเห็นได้ลำบากมากขึ้น หรือทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

หากเด็กมี ภาวะหนังตาตก เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่า ตาขี้เกียจ (Amblyopia) หมายถึงภาวะการที่ดวงตาไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่ จนทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ทำให้สายตาพร่าเลือน และมองเห็นไม่ชัด

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของหนังตาตก

ภาวะหนังตาตก อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การบาดเจ็บบริเวณดวงตา เช่น จากการขยี้ตามากเกินไป การใส่คอนแทคเลนส์แบบแข็ง หรือการผ่าตัดดวงตา
  • พันธุกรรม
  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
  • ความผิดปกติของระบบประสาท
  • เนื้องอก ซีสต์ หรืออาการบวมที่ดวงตา

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ หนังตาตก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด ภาวะหนังตาตก มีดังต่อไปนี้

  • อายุ ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากที่จะมีภาวะหนังตาตก
  • การใช้คอนแทคเลนส์
  • การขยี้ตามากเกินไป
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
  • กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome)

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะหนังตาตก

แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยภาวะหนังตาตกได้ด้วยการตรวจร่างกาย และซักประวัติ เพื่อรับทราบเกี่ยวกับความถี่และระยะเวลาในการเกิดอาการหนังตาตก จากนั้นก็อาจจะทำการทดสอบเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหนังตาตกนี้

โดยปกติแล้วแพทย์มักจะทำการตรวจ โดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit Lamp) เพื่อตรวจดูลักษณะของดวงตา จากนั้นก็อาจจะทำการตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น การฉีดสารเทนซิลอน (Tensilon) เข้าไปในหลอดเลือด เพื่อหาดูว่าคุณเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหนังตาตกหรือไม่

การรักษา ภาวะหนังตาตก

โดยปกติแล้ว แพทย์มักจะไม่แนะนำการรักษาภาวะหนังตาตก เพราะหากอาการหนังตาตกนั้นไม่ได้รบกวนการมองเห็นของคุณ คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ แค่เพียงมาตรวจดวงตาเป็นประจำ หรือทำการรักษาภาวะตาขี้เกียจด้วยยาหยอดตา ผ้าปิดตา หรือสวมแว่นตาเท่านั้น

แต่หากภาวะหนังตาตกนั้นมีอาการหนัก หรือรบกวนการมองเห็นของคุณ แพทย์อาจจะแนะนำวิธีการผ่าตัดเปลือกตาบน เพื่อกำจัดผิวหนังส่วนเกิน และดึงกล้ามเนื้อเปลือกตา เพื่อยกเปลือกตาขึ้น นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีการบริหารเปลือกตา เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อในบริเวณเปลือกตากระชับ และช่วยลดอาการหนังตาตกได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับภาวะหนังตาตก

เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะหนังตาตกนั้นเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ และไม่ได้มาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ดังนั้นการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จึงไม่ค่อยส่งผลอะไรต่อภาวะหนังตาตก เพียงแค่คุณอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรงๆ และการใช้คอนแทคเลนส์แบบแข็ง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหนังตาตกได้

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/10/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา