backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

แมลงสัตว์กัดต่อย (Insect Bites)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/03/2021

แมลงสัตว์กัดต่อย (Insect Bites)

การถูก แมลงสัตว์กัดต่อย (Insect Bites) ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง และอาการมักจะหายดีภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน แต่บางครั้งก็อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) หรือทำให้ผู้ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคไลม์ โรคมาลาเรีย

คำจำกัดความ

แมลงสัตว์กัดต่อย คืออะไร

แมลงสัตว์กัดต่อย (Insect Bites) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อแมลงรู้สึกว่าตัวเองถูกรบกวน จึงป้องกันตัวด้วยการต่อยหรือกัดผู้ที่มารบกวน หรือบางครั้ง แมลงก็กัดหรือต่อยเหยื่อเพราะต้องการหาอาหาร เช่น การที่ยุงกัดมนุษย์ เพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร

แมลงบางชนิด เช่น มด ผึ้ง เมื่อกัดหรือต่อยเหยื่อแล้ว จะปล่อยสารที่เรียกว่า กรดฟอร์มิก (Formic Acid) ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ออกมา ทำให้ผู้ที่ถูกกัดหรือต่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง (Skin Reaction) อย่างฉับพลัน ส่งผลให้บริเวณที่ถูกกัดหรือต่อยเป็นรอยแดง บวม หรือมีอาการคัน เป็นต้น

ผู้ที่ถูกมดคันไฟ ผึ้ง ต่อ หรือแตนต่อย จะมีอาการเจ็บปวด และบางครั้งก็อาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากถูกยุง เห็บ หรือหมัดกัด ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้เจ็บและคัน แต่ก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคซึ่งนำไปสู่โรคร้ายแรงได้ เช่น โรคไลม์ โรคมาลาเรีย แต่แมลงหรือแมงมุมบางชนิดก็อาจมีพิษร้ายแรง ที่อาจทำให้ผู้ถูกกัดเป็นอันตรายได้มากกว่าโดนงูกัดเสียอีก

การกัดหรือต่อยของแมลงแต่ละชนิดก่อให้เกิดอาการแตกต่างกัน คุณจึงจำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาล และการดูแลทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับชนิดของแมลงหรือแมงที่เป็นสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น

แมลงสัตว์กัดต่อย พบได้บ่อยแค่ไหน

การถูกแมลงสัตว์กัดต่อยนั้นพบได้ทั่วไป และสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่สภาวะสุขภาพนี้สามารถจัดการได้ด้วยการลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ แมลงสัตว์กัดต่อย

อาการขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงที่กัดต่อย เช่น

เมื่อโดนต่อหรือแตนต่อย

  • เจ็บจี๊ด หรือเจ็บแปลบ
  • มีรอยบวมแดง
  • บางรายอาจมีอาการคัน

อาการข้างต้น มักคงอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการเจ็บ บวม หรือเป็นรอยแดงในวงกว้างนานเป็นสัปดาห์ หรือในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง อาจทำให้หายใจไม่ออก วิงเวียน หน้าบวม หรือปากบวมได้

เมื่อโดนผึ้งต่อย

  • เจ็บจี๊ด หรือเจ็บแปลบ และมีเหล็กในฝังอยู่ในรอยแผล
  • มีรอยบวมแดง
  • บางรายอาจมีอาการคัน
  • อาการข้างต้น มักคงอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการเจ็บ บวม หรือเป็นรอยแดงในวงกว้างนานเป็นสัปดาห์ หรือในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง อาจทำให้หายใจไม่ออก วิงเวียน หน้าบวม หรือปากบวมได้

    เมื่อโดนยุงกัด

    • มีตุ่มแดงบนผิวหนัง
    • มีอาการคันมาก
    • บางครั้งตุ่มแดงอาจกลายเป็นตุ่มน้ำพองใสได้

    ยุงบางชนิดอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคที่ทำไปสู่โรคร้ายแรงได้ เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก ฉะนั้น หากคุณโดนยุงกัดแล้วมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบาย ควรรีบพบคุณหมอทันที

    เมื่อโดนเห็บกัด

    คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าโดนเห็บกัด เพราะมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงจนรู้สึกได้ แต่หลังถูกเห็บกัด มักก่อให้เกิดอาการดังนี้

    • มีตุ่มแดง หรือตุ่มเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง
    • ผิวหนังบวม
    • คัน
    • เป็นแผลพุพอง
    • เป็นรอยช้ำ หรือเป็นจ้ำ

    บางครั้งเห็บอาจเป็นพาหะของโรคไลม์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง ฉะนั้น หากคุณเห็นว่าถูกเห็บกัดต้องรีบดึงเห็บออกจากผิวหนังทันที

    เมื่อโดนแมงมุมกัด

    • มีรอยเหมือนเข็มจิ้มที่ผิวหนัง
    • มีอาการเจ็บปวด
    • ผิวหนังบวม และแดง

    แมงมุมบางชนิดอาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบาย มีไข้ เหงื่อออก และวิงเวียนศีรษะได้ด้วย และบางคนที่โดนแมงมุมกัดอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

    เมื่อโดนมดกัด

    • มีตุ่มแดงที่ผิวหนัง
    • มีอาการคัน
    • ผิวหนังบวม
    • เจ็บบริเวณที่โดนกัด

    สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    หากคุณมีอาการของภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    • เจ็บหน้าอก
    • หน้าหรือปากบวม
    • กลืนลำบาก
    • หายใจลำบาก
    • เป็นลม หรือเวียนศีรษะ
    • ปวดท้อง หรืออาเจียน
    • เป็นผื่น หรือหน้าแดง

    หรือหากมีอาการต่อไปนี้ ก็ควรรีบพบคุณหมอเช่นกัน

    • คุณกังวลเกี่ยวกับการกัดต่อย
    • อาการของคุณไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลง
    • ถูกต่อยในปาก ในลำคอ หรือบริเวณดวงตา
    • แผลที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยมีขนาด 10 เซนติเมตรขึ้นไป
    • มีอาการติดเชื้อที่แผล เช่น มีหนอง ปวดมากขึ้น บวม แดง
    • มีอาการติดเชื้อแพร่ไปทั่วร่างกาย เช่น เป็นไข้ ต่อมบวม

    สาเหตุ

    สาเหตุของแมลงสัตว์กัดต่อย

    ส่วนใหญ่แล้ว เรามักโดนแมลงสัตว์กัดต่อยเนื่องจากไปสัมผัสโดนแมลงหรือแมงตัวดังกล่าว หรือเพราะแมลงหรือแมลงรู้สึกว่าถูกรบกวน จึงป้องกันตัวด้วยการต่อยหรือกัดผู้ที่มารบกวน หรือบางครั้ง แมลงก็กัดหรือต่อยเหยื่อเพราะต้องการหาอาหาร อย่างการที่ยุงกัดมนุษย์เพื่อดูดเลือดไปเป็นอาหาร เป็นต้น โปรดปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย

    คุณอาจมีแนวโน้มจะถูกแมลงกัดต่อย หากคุณทำงานนอกบ้านหรือจัดกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ตั้งแคมป์ เดินเขา ยิ่งหากคุณสวมใส่เสื้อผ้าที่เปิดเผยผิวหนัง เช่น แขน ขา แล้วไม่ได้ทายากันแมลง เช่น ยากันยุง ก็อาจทำให้คุณโดนแมลงสัตว์กัดต่อยได้ นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้คุณโดนแมลงสัตว์กัดต่อยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

    • สวมเสื้อผ้าสีเข้ม
    • รับประทานอาหารนอกบ้าน
    • เข้าใกล้รังของแมลง
    • ฉีดน้ำหอมกลิ่นดอกไม้
    • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ
    • อยู่นอกบ้านในเวลากลางคืน
    • อยู่ในบริเวณที่มืดทึบ หรืออับชื้น

    โปรดปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยแมลงสัตว์กัดต่อย

    เมื่อคุณเข้ารับการรักษาด้วยปัญหาโดนแมลงสัตว์กัดต่อย แพทย์จะวินิจฉัยภาวะดังกล่าวด้วยการซักประวัติทางการแพทย์และการตรวจสุขภาพเบื้องต้น หากรู้ว่าแมลงหรือแมงที่กัดหรือต่อยคุณเป็นชนิดไหน แพทย์ก็จะรักษาตามความเหมาะสม ในบางกรณี แพทย์อาจต้องทำการตรวจหรือทดสอบดังต่อไปนี้ด้วย

    • การทดสอบการแพ้พิษของแมลง

    โดยการขูดเอาตัวอย่างผิวหนังออกมา เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังจากผิวหนังสัมผัสกับพิษของแมลง เพื่อหาว่า ปริมาณของพิษมากน้อยแค่ไหน ที่ทำให้คุณเกิดอาการแพ้ได้

    • การทดสอบโรคไลม์

    หากคุณถูกเห็บกัด แพทย์มักจะให้คุณเข้ารับการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า “บอร์รีเลีย เบิร์กโดเฟอรี่ (Borrelia Burgdorferi)’ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไลม์ (Lyme Disease)

    การรักษาแมลงสัตว์กัดต่อย

    การโดนแมลงสัตว์กัดต่อยจัดเป็นสภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อยมาก และส่วนใหญ่มักจะหายได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ากับการรักษาที่สถานพยาบาล

    เมื่อโดนแมลงกัดต่อย คุณสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

    • รีบออกจากบริเวณดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนแมลงกัดต่อยซ้ำ
    • หากมีเหล็กในฝังอยู่ในผิวหนัง ควรรีบนำเหล็กในออก
    • ทำความสะอาดบริเวณที่โดนแมลงกัดต่อยด้วยน้ำสบู่ จากนั้นจึงล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด
    • ประคบเย็นในบริเวณที่โดนแมลงกัดต่อย เพื่อลดอาการเจ็บปวดและอาการบวม หากโดนกัดต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกบริเวณนั้นให้สูงกว่าหัวใจ
    • ทายาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ชนิดความเข้มข้น 0.5% หรือ 1% คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) หรือเบกกิ้งโซดาที่ผสมน้ำจนเป็นเนื้อครีมในบริเวณที่โดนกัดต่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง จนกว่าอาการจะหายดี
    • กินยาแก้แพ้ในกลุ่มยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) เพื่อบรรเทาอาการคัน

    โดยปกติแล้ว อาการหลังโดนแมลงกัดต่อยจะหายไปภายใน 1-2 วัน แต่หากคุณปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือยิ่งแย่ลง ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที หากคุณแพ้แมลง แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เช่น การขจัดภูมิไว ฉีดวัคซีนภูมิแพ้โปรดปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับภาวะแมลงสัตว์กัดต่อย

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการโดนแมลงสัตว์กัดต่อยได้

    • หากเจอผึ้ง ต่อ หรือแตน ควรสงบสติ และขยับตัวหนีช้า ๆ อย่าวิ่งหรือโบกไม้โบกมือไล่เด็ดขาด
    • หากต้องอยู่นอกบ้านในช่วงเวลาที่มีแมลงหรือแมงมาก เช่น เช้ามืด พลบค่ำ ควรแต่งตัวให้มิดชิด เช่น สวมเสื้อแขนยาว สวมกางเกงขายาว
    • สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกบ้าน
    • ทายากันแมลง เช่น ยากันยุง ทุกครั้ง หากต้องทำกิจกรรมนอกบ้าน
    • ไม่ใช้น้ำหอม สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสระผม หรือโคโลญจน์ที่มีกลิ่นแรง โดยเฉพาะกลิ่นดอกไม้ เพราะอาจล่อแมลงได้
    • หากต้องเข้าใกล้พุ่มไม้ แปลงดอกไม้ แหล่งน้ำ หรือบริเวณกลางแจ้งที่มีอาหารวางอยู่ ควรระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ
    • อย่าแหย่รังแมลงหรือแมงทุกชนิด หากอยากกำจัดรังที่อยู่ในบริเวณบ้าน เช่น รังต่อ รังผึ้ง ควรใช้บริการผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
    • ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหรือแมงเข้าบ้าน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา