backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 16/03/2021

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema)

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ทำให้ผิวอักเสบ คัน แห้ง และเป็นสะเก็ด หย่อมของผิวแห้งจะปรากฏที่บริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก และใบหน้า ความรุนแรงของโรคนี้มีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรง

คำจำกัดความ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) หรือที่เรียกอีกอย่างว่าโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย เป็นโรคเรื้อรังที่มักจะเกิดการปะทุ และหายไปหลังจากช่วงเวลาหนึ่ง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังทำให้ผิวอักเสบ คัน แห้ง และเป็นสะเก็ด หย่อมของผิวแห้งจะปรากฏที่บริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก และใบหน้า ความรุนแรงของโรคนี้มีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรง หากคุณเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คุณอาจจะเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหอบหืด และไข้ละอองฟาง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นสามารถทำให้เกิดอาการคันที่รุนแรง และอาจจะรบกวนการนอนหลับของคุณ และส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ควรจะรับการรักษาพยาบาลเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลงยิ่งขึ้น

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้บ่อยได้แค่ไหน

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นพบได้ทั่วไป และส่งผลกระทบมากกว่ากับทารกและเด็ก โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถปรากฏขึ้นได้ก่อนอายุ 5 ปี และดำเนินต่อไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ สำหรับเด็กบางคนโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นอาจจะดีขึ้นหรือหายไปได้ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้มากกับผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) ไข้ละอองฟาง หรือโรคหอบหืด

อาการ

อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นอย่างไร

อาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจแตกต่างกันในทารก เด็ก และผู้ใหญ่ อาการทั่วไปมีดังนี้

  • อาการคันที่จะรุนแรงที่สุดในตอนกลางคืน
  • มีรอยจ้ำที่ผิวหนังเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลเทาที่บริเวณมือ เท้า ข้อเท้า ข้อมือ คอ หน้าอกส่วนบน เปลือกตา ด้านในข้อพับของข้อศอกและเข่า
  • มีตุ่มเล็กๆ ผุดขึ้น
  • ผิวหนา แห้ง และเป็นสะเก็ด
  • ผิวหยาบ รู้สึกไว และบวมที่เกิดจากการเกา

สำหรับทารก อาการอาจจะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 2 ถึง 3 เดือน ผิวแห้งเป็นจ้ำมักจะปรากฏที่ใบหน้าหรือหนังศีรษะ มักจะทำให้เกิดปัญหากับการนอนหลับ ทารกจะรู้สึกอยากถูไถไปบนที่นอน พรม หรือสิ่งต่างๆ รอบตัวที่บรรเทาอาการคัน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้

หากเริ่มเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังตอนอายุ 2 ปี เด็กมักจะมีผดผื่นที่ข้อพับของข้อศอกและเข่า รอยจ้ำที่ผิวอาจจะหนาขึ้นและเป็นเหมือนแผ่นหนังจากการเกาอย่างต่อเนื่อง

อาการในผู้ใหญ่นั้นจะแตกต่างกับทารกและเด็ก โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจจะเริ่มเกิดขึ้นทั่วทั้งตัว ทำให้ผิวแห้งและเป็นสะเก็ดได้มากยิ่งกว่า อาการคันนั้นอาจจะรุนแรงและต่อเนื่องไปโดยไม่มีช่วงที่บรรเทา

อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อไร

คุณควรจะไปหาแพทย์ถ้าหาก

  • คุณนอนไม่หลับ หรือรบกวนในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ผิวหนังของคุณเจ็บปวดมาก
  • ผิวหนังของคุณดูเหมือนจะมีการติดเชื้อ หนังศีรษะมีรอยสีแดงเป็นริ้วๆ มีหนอง และเป็นสีเหลือง
  • ขั้นตอนการดูแลรักษาด้วยตนเองนั้นไม่ได้ผล
  • ดวงตาหรือการมองเห็นนั้นได้รับผลกระทบ

หากคุณคิดว่าลูกของคุณมีสัญญาณและอาการของโรคนี้ หรือหากคุณสงสัยว่า ลูกของคุณเป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ควรพาไปหาแพทย์ในทันที

สาเหตุ

สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่นักวิจัยเชื่อว่า ตัวกระตุ้นบางชนิดนั้นสามารถนำไปสู่ผื่นผิวหนังอักเสบได้ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้สามารถเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ เช่น ผู้ที่แพ้อาหารหรือเป็นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้คือสาเหตุที่พบได้มากที่สุด ของผื่นผิวหนังอักเสบ ที่พบได้ในเด็กที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังมีตัวกระตุ้นที่ยังไม่เป็นที่ทราบว่า สามารถทำให้เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ ซึ่งคือสบู่ ผงซักฟอก ความเครียด ความชื้นต่ำ โรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล การสัมผัสกับสบู่และผงซักฟอกที่แรง และอากาศเย็น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีมากมายดังนี้

  • ตนเองหรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติการเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง หรือหอบหืด
  • ผิวหนังอักเสบที่มือซึ่งเกิดจากการทำงานด้านการดูแลสุขภาพ

ปัจจัยเสี่ยงในเด็กมีดังนี้

  • อาศัยอยู่ในเขตตัวเมือง
  • มีเชื้อสายแอฟริกา-อเมริกา
  • มีพ่อแม่ที่มีการศึกษาในระดับที่สูง
  • เข้าร่วมในศูนย์ดูแลเด็ก
  • เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD)

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นค่อนข้างง่าย แพทย์หรือแพทย์ผิวหนังสามารถวินิจฉัยโรคได้จากการตรวจสอบลักษณะของผิวหนัง อาจมีการทดสอบ หากคุณรู้สึกปวดเวลาสัมผัสที่ผิว หรือตรวจที่ดวงตาว่า ได้รับผลกระทบหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว มักไม่จำเป็นต้องตรวจในห้องแล็บ เพื่อวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แพทย์อาจตรวจชิ้นส่วนตัวอย่างผิวหนัง เพื่อหาการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้น

การรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังให้หายขาดได้ แต่ยังมีทางเลือกในการรักษาที่จะช่วยบรรเทาอาการได้ เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อ

  • ป้องกันไม่ให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแย่ลงหรือเกิดการปะทุ
  • บรรเทาอาการปวดและคัน
  • บรรเทาอารมณ์เครียดและตัวกระตุ้นอื่นๆ
  • ป้องกันการติดเชื้อ
  • ยับยั้งไม่ให้ผิวหนาขึ้น

แผนการรักษาอาจจะผสมผสานนั้นการบำบัดด้วยยา ดูแลผิว และปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การบำบัดด้วยยานั้นมักจะประกอบด้วยการใช้ยาแบบครีมเพื่อควบคุมอาการคัน ติดเชื้อ และซ่อมแซมผิว ยาพวกนี้ได้แก่ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (topical corticosteroids) ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) อย่างโพรทรอปิกา (Protopicâ) ยาพิเมโครลิมัส (pimecrolimus) อย่างเอลิเดลา (Elidelâ) และยาขี้ผึ้งต้านแบคทีเรีย สำหรับกรณีที่รุนแรงกว่าแพทย์อาจจะสั่งยารับประทานแก้คัน ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบรับประทาน หรือฉีดยาเพื่อควบคุมอาการอักเสบ ยาเหล่านี้ได้แก่ ยาเพรดนิโซโลน (prednisone) ยาไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) ยาเซทิริซีน (cetirizine) อย่างเซอร์เทกา (Zyrtecâ) และยาไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) อย่างอะตารักซ์ซา (Ataraxâ)

ทางเลือกในการรักษาอื่นๆ มีดังนี้

  • การทำแผลแบบเปียก (Wet dressings) พันบริเวณที่ติดเชื้อด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่และผ้าพันแผลที่เปียก
  • สำหรับผิวแห้งให้ใช้สารหล่อลื่นผิว (emollients) หรือทรีทเม้นท์เพิ่มความชุ่นชื้นทุกวัน
  • ทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เพื่อลดอาการบวม รอยแดง และอาการคันระหว่างที่โรคกำลังปะทุ
  • แสงบำบัด (Light therapy) หรือการฉายแสง (phototherapy) ทำการฉายแสงเทียม อัลตราไวโอเลตเอ (UVA) หรือยูวีบี (UVB) แถบแคบ เพื่อรักษาผิว

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองจะช่วยรับมือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรับมืออาการของคุณได้

  • หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น คุณควรจะทำรายชื่อตัวกระตุ้นที่คุณรู้จักทั้งหมดไว้ เช่น อาหาร หรือยี่ห้อของผงซักฟอกหรือสบู่บางชนิด
  • รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง จำเป็นต้องให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังของคุณอย่างน้อยวันละสองครั้ง ใช้มอยสเจอร์ไรเซอร์ทาทั่วผิวขณะที่ผิวยังชื้นจากการอาบน้ำอยู่ สามารถเลือกใช้เป็นน้ำมันหรือครีมหล่อลื่น (lubricating cream) หากผิวของคุณนั้นแห้งอยู่แล้ว
  • หลีกเลี่ยงการเกา การเกาจะทำให้อาการแย่ลง สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยพันรอบบริเวณที่คัน ตัดเล็บและสวมถุงมือนอนในตอนกลางคืน
  • ประคบเย็น พันรอบบริเวณที่มีอาการด้วยผ้าพันแผลเพื่อช่วยปกป้องผิวและป้องกันการเกา
  • อายน้ำอุ่น แนะนำให้คุณโรยเบกกิ้งโซดา ข้าวโอ๊ตดิบ หรือข้าวโอ๊ตคอลลอยด์ (colloidal oatmeal) ลงในน้ำอาบเล็กน้อย หลังจากนั้นก็แช่ตัวประมาณ 10 ถึง 15 นาที ก่อนซับให้แห้ง และทายาโลชั่น มอยสเจอร์ไรเซอร์ หรือทั้งสองอย่าง (ให้ทายาก่อน)

หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 16/03/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา