backup og meta

เลือดออกจากหัวนม เป็นเพราะอะไร อันตรายรึเปล่านะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/03/2021

    เลือดออกจากหัวนม เป็นเพราะอะไร อันตรายรึเปล่านะ

    หน้าอกและเต้านมนั้น เป็นอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญ ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านั้น บางครั้งก็อาจจะเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่บางครั้งก็อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคได้เช่นกัน แล้วอาการ เลือดออกจากหัวนม นั้นเกิดขึ้นจากอะไร เป็นสัญญาณบอกอันตรายอะไรรึเปล่า Hello คุณหมอ ชวนมาดูคำตอบไปพร้อมกันจากบทความนี้

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เลือดออกจากหัวนม

    อาการเลือดออกจาก หัวนม อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    หัวนม แตกจากการให้นมลูก

    แม้ว่าโดยปกติแล้ว การให้นมลูกนั้นไม่ควรจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือทำให้มีเลือดไหล แต่คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลาย ๆ คน โดยเฉพาะเหล่าคุณแม่มือใหม่ อาจจะต้องประสบปัญหากับอาการหัวนมแตก เนื่องจากการให้นมลูก ด้วยอาจเป็นเพราะคุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ คุณแม่ตั้งท่าให้นมไม่เหมาะสม หรืออาจเป็นเพราะลูกของคุณดูดนมอย่างไม่ถูกต้อง

    มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า การสอนให้ทารกอายุระหว่าง 4 วัน ถึง 12 เดือน ให้สามารถดูดนมแม่ได้อย่างถูกต้องนั้น จะสามารถช่วยลดปัญหาอาการเจ็บ หัวนม จากการให้นมบุตรได้มากถึง 65%

    คุณสามารถสังเกตได้ว่า ลูกของคุณกำลังดูดนมอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ โดยดูได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้

  • หลังจากให้นมลูกแล้ว หัวนมของคุณยังอยู่ในลักษณะแบน หรือบุ๋มเข้าไป
  • มีอาการเจ็บหัวนมอย่างรุนแรงขณะให้นมลูก
  • ลูกไม่อิ่ม หรือยังไม่สงบลง แม้ว่าจะให้นมแล้ว
  • บริเวณฐานเต้านมไม่อยู่ในปากของลูก
  • การจัดการ เราสามารถจัดการได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนท่าทางการให้นมลูกเสียใหม่ โดยพยายามจัดให้หัวนมนั้นอยู่พอดีตรงปากของลูก แล้วกดให้หัวนมเข้าไปลึกขึ้น ให้ลูกสามารถดูดนมได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสเจ็บได้น้อยลง นอกจากนี้ คุณก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคนิคการให้นมลูกที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บของหัวนมที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

    ผิวแห้ง แตก ในบริเวณ หัวนม

    การที่ผิวแห้ง แตก ขาดความชุ่มชื้น และเปราะบาง ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการเลือดออกจาก หัวนม ได้เช่นกัน อาการผิวแห้งนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากการเจอกับความร้อนหรือความเย็นเป็นประจำ เช่น จากการอาบน้ำร้อน อากาศหนาว หรือเกิดขึ้นจากการใช้สารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง อย่าง สบู่ ครีมอาบน้ำ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้า หรือเกิดจากการเสียดสีกับเสื้อผ้า หรือการสวมเสื้อชั้นในที่คับแน่นจนเกินไป ก็อาจทำให้ผิวเกิดความระคายเคือง แห้งแตก และทำให้มีเลือดไหลได้

    การจัดการ หากคุณมีอาการเลือดไหลจากหัวนม เนื่องจากผิวแห้ง ควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้ผิวแห้ง เช่น หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำหอม อาบน้ำอุ่นแทนการอาบน้ำร้อน และอย่าลืมทาโลชั่นบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว

    การติดเชื้อรา

    การติดเชื้อรา ที่อาจมาจากเชื้อราที่อยู่ในช่องปากของทารก อาจติดต่อมาสู่หน้าอกของคุณแม่ได้ การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) คือการติดเชื้อราที่พบได้มากที่สุดในทารกและแม่ที่ให้นมบุตร

    การติดเชื้อรานี้อาจทำให้อาการดังต่อไปนี้

    • อาการแสบร้อนในบริเวณหัวนม
    • ผิวหนังลอกในบริเวณหัวนมและลานนม
    • ปวดเต้านม
    • มีเลือดออกจาก หัวนม

    การจัดการ การจัดการกับการติดเชื้อราในบริเวณหัวนม คือการรักษาความสะอาดของผิว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง ที่เป็นแหล่งอาหารของเชื้อรา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และใช้ยาฆ่าเชื้อรา

    เนื้องอกในท่อน้ำนม (Intraductal papilloma)

    อาการเนื้องอกในท่อน้ำนมนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของอาการเลือดออกจาก หัวนม เนื้องอกในท่อน้ำนมนี้จะเป็นเนื้องอกเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากต่อม เนื้อเยื่อ และหลอดเลือด ไม่เป็นอันตรายอะไร และพบได้มากในผู้หญิง อายุระหว่าง 35-55 ปี

    ก้อนเนื้อในท่อน้ำนมนี้ นอกจากจะทำให้เกิดอาการเลือดออกจากหัวนมแล้ว ยังอาจทำให้มีสารคัดหลั่งอื่น ๆ เช่น น้ำใส ๆ ไหลออกจากหัวนม และยังอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกอีกด้วย

    การจัดการ หากคุณสังเกตเห็นอาการเลือดไหลออกจากหัวนมโดยตรง ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค หากพบว่าเป็นก้อนเนื้อในท่อน้ำนม แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดก้อนเนื้องอกนี้ออกไป

    สาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกจาก หัวนม เท่านั้น ทางที่ดีคุณผู้อ่านควรจะคอยสำรวจตัวเองอยู่เสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และเข้ารับการตรวจกับแพทย์ หากพบความผิดปกติของร่างกายใด ๆ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจพบโรคได้อย่างรวดเร็ว และรักษาได้อย่างทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา