backup og meta

หลังเกษียณ ใช้ชีวิตอย่างไร ให้ Happy

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 22/07/2021

    หลังเกษียณ ใช้ชีวิตอย่างไร ให้ Happy

    วัยเกษียณ เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้พักผ่อน หลังจากใช้เวลาในการทำงานมานานกว่าหลายสิบปี เหล่าผู้สูงอายุที่ได้กลับมาอยู่บ้าน ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและลูกหลาน นานวันเข้าอาจจะเบื่อและโหยหาวันเวลาเก่าๆ ที่คุ้นเคย ยิ่งโดยเฉพาะวัยที่ร่วงโรย กับสุขภาพที่เริ่มโรยรานี้ อาจทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตในวัยหลังเกษียณได้อย่างที่หวัง บทความนี้จะมาแนะนำ เทคนิคการใช้ชีวิต หลังเกษียณ ให้รู้สึกมีความสุข และไม่เงียบเหงาอีกต่อไป

    เทคนิคดีๆ ในการใช้ชีวิต หลังเกษียณ ให้ Happy

    ใช้ชีวิตให้เป็นระบบ

    ช่วงเวลา วัยเกษียณ เป็นช่วงที่เราจะมีเวลาให้กับตัวเองมากที่สุด จากที่จะต้องตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว ไปทำงาน กลับบ้าน ใช้ชีวิตวนเป็นวัฏจักรมาตลอดหลายปี ถึงเวลาที่คุณจะได้ใช้เวลาอยู่ว่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งกังวลเรื่องตารางเวลาอีกต่อไป แต่เวลาว่างเหล่านี้ อาจทำให้เรารู้สึกว่างเปล่า และรู้สึกเครียดมากกว่าการมีตารางชีวิตก็เป็นได้ ดังนั้น คุณจึงควรกำหนดตารางเวลาในแต่ละวัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้คุณจัดตารางแน่น ๆ แบบไม่มีเวลาได้พัก หรือเครียดจดจ่ออยู่กับตารางเวลาจนเกินไป เสียจนรู้สึกกดดัน แต่ให้ใช้ตารางนั้นเป็นเพียงแค่แนวทางคร่าว ๆ เพื่อให้รู้แน่ชัดว่า ตัวเองควรจะทำอะไรในเวลาไหน อย่างเช่น ตื่นกี่โมง วันนี้จะทำอะไร เป็นแนวทาง ดีกว่าใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่กำหนดอะไรให้แน่นอนสักอย่าง

    ไปเจอเพื่อนเสียบ้าง

    เมื่อคุณมีอายุมากขึ้น การเข้าสังคม พบปะเพื่อนก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมากยิ่งขึ้น ในช่วงวัยทำงาน คุณอาจได้มีโอกาสพบปะกับเพื่อนและเพื่อนร่วมงานได้ทุก ๆ วัน แต่หลังจากวัยเกษียณ คุณที่ได้พักผ่อนอยู่บ้าน อาจจะรู้สึกเหงาได้ หากไม่รู้จักออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเสียบ้าง ดังนั้น คุณจึงควรติดต่อ นัดให้เพื่อนมาหาคุณที่บ้าน หรือออกไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน คุณอาจจะลองนัดแนะไปกินข้าวร้องเพลงกันที่ร้านอาหารคาราโอเกะที่ชอบ หรือเข้าร่วมสมาคมที่คุณสนใจร่วมกับเพื่อน ๆ นอกจากจะได้เข้าสังคมพูดคุยกับผู้อื่นแล้ว คุณยังได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมสนุกกับผู้อื่น และเป็นการใช้เวลาว่างยามเกษียณอย่างคุ้มค่า

    มองโลกในแง่ดี

    การเกษียณอายุเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นช่วงบั้นปลายของชีวิตคนเรา ทำให้หลายคนอาจจะเกิดความกังวลใจ และความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเหมือนแต่ก่อน กลัวว่าตัวเองจะเป็นภาระของที่บ้าน ความคิดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดด้านลบ ที่ทำให้เราเกิดอาการวิตกกังวล หวาดระแวง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเราได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุ วัยเกษียณ จึงควรคิดบวก มองโลกในแง่ดี และเปิดรับกับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิต มองหาสิ่งดี ๆ ที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข และอย่าไปกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    ความคิดดีแล้ว สุขภาพต้องดีด้วย

    นอกเหนือจากการคิดบวก มองโลกในแง่ดี ช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพกาย ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุ วัยหลังเกษียณ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมีสุขภาพที่ดี ก็จะไม่ต้องมีโรคร้ายมากวนใจให้รู้สึกทรมาน ผู้สูงอายุสามารถมองหาวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอายุได้ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ หรือเดินออกกำลังกาย และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้าย และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

    มองหางานอดิเรก

    ช่วง วัยเกษียณ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่เราจะได้กลับมาทำสิ่งที่เรารัก หรืองานอดิเรกที่เราอาจหลงลืม เช่น หนังสือที่ดองทิ้งไว้ยังไม่มีเวลาเปิดอ่าน หรือเกมที่เล่นค้างไว้ไม่มีเวลากลับมาเล่นให้จบ งานอดิเรกที่เราเคยทิ้งไปเพราะไม่มีเวลาทำเหล่านี้ จะเป็นกิจกรรมแสนสนุก ที่จะให้คุณได้ใช้เวลาในช่วงวัยเกษียณได้อย่างสนุกและคุ้มค่า ลองหยิบหนังสือเก่าที่วางกองไว้ตรงมุมห้องนั้นมาอ่านดูสิ

    เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

    ไม่มีใครแก่เกินเรียน ผู้สูงอายุ วัยเกษียณ ยังสามารถเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ตัวเองสนใจได้ แม้ว่าจะอายุมากแล้วก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า การท้าทายสมอง เช่น ฝึกทักษะใหม่ ๆ หรือทำความรู้จักกับคนใหม่ เป็นวิธีที่ดี ๆ ในการช่วยลับสมองของคุณ ช่วยกระตุ้นให้สมองได้ทำงาน และชะลอการเสื่อมสภาพของสมอง ที่อาจทำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้

    อย่าลืมเก็บเงิน

    เมื่อเข้าสู่ วัยเกษียณ แล้ว คุณก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงินของคุณ ให้เหมาะสมกับรายรับที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าคุณอาจจะเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อใช้ในวัยเกษียณ แต่ถ้าหากวางแผนการใช้เงินไม่ดี ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่รู้ว่าในอนาคตอาจจะเกิดอะไรขึ้น หรือมีเหตุจำเป็นอะไรให้เราต้องใช้เงินหรือเปล่า ดังนั้น การเก็บเงินไว้บ้าง จะช่วยให้คุณไม่ต้องลำบาก ในเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงิน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 22/07/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา