backup og meta

กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

    กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

    กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ หมายถึงอาการที่รู้สึกเจ็บและระคายเคืองภายในปากหรือคอ เวลาที่กลืนน้ำลาย ดื่มน้ำ หรือกลืนอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อรา หรือโรคกรดไหลย้อนที่ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและระคายเคืองภายในคอ ซึ่งวิธีการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการตัวเอง และรีบเข้ารับการรักษาจากคุณหมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    สาเหตุที่ทำให้กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ

    การติดเชื้อแบคทีเรีย

    อาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอสคัส ไพโอจีน (Streptococcus pyogenes) หรือเรียกอีกอย่างว่า เชื้อสเตรปโตคอสคัสกลุ่มเอ (Group A streptococcus) ทำให้เกิดอาการคออักเสบ เจ็บคอ โดยเฉพาะเวลากลืนน้ำลาย ระคายเคืองคอ คอบวมและแดง ปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน 

    การติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงอาจดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง และกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ  และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง

    การติดเชื้อไวรัส

    การติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก คอ หลอดลม อาจทำให้มีอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอได้ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    • โรคหวัด มักเกิดจากการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) แต่ก็สามารถเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ได้เช่นกัน ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย โดยปกติอาการสามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน ควรนอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ และอาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ไอและละลายเสมหะ และยาบรรเทาอาการคัดจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัด
    • ไข้หวัดใหญ่ เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ทำให้มีอาการคล้ายกับโรคหวัด คือ เจ็บคอ ปวดหัว มีไข้ แต่มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่า และเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ไข้หวัดใหญ่สามารถหายไปได้เอง แต่หากมีอาการที่รุนแรง หรือมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน คุณหมออาจสั่งให้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้หายไวขึ้น ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหาร
    • โรคเริมที่ปาก เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ซึ่งอาจได้รับจากผู้อื่นผ่านทางการจูบหรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ป้องกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลที่บริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และคอ และอาจมีอาการเหงือกหรือคอบวม ทำให้มีอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย อาการของเริมอาจหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่สามารถกลับมาเป็นได้ซ้ำ ๆ การรักษาเริมที่ริมฝีปากอาจมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการ คือรักษาความสะอาดบริเวณแผลเริม รับประทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวด ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทารกที่อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์ และผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจให้ใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยกำจัดเชื้อไวรัส
    • โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) เป็นโรคที่ติดต่อผ่านทางน้ำลาย ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นผ่านทางการจูบ การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน หรือการรับประทานอาหารจานเดียวกัน เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 4-6 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มมีอาการเจ็บคอ เหนื่อยล้า เป็นไข้ ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอและรักแร้บวม ต่อมทอนซิลบวม ม้ามบวม การรักษาโรคโมโนนิวคลิโอซิสจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวด รวมถึงการดูแลตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้
    • โรคโควิด-19 (Covid-19) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และได้กลายพันธุ์เป็นหลากหลายสายพันธุ์ เช่น อัลฟา (Alpha) เดลตา (Delta) โอไมครอน (Omicron) อาการทั่วไปของโรคโควิด-19 มักคล้ายคลึงกับไข้หวัด คือ เจ็บคอ เป็นไข้ ไอ คัดจมูก หายใจลำบาก หนาวสั่น อ่อนเพลีย นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการสูญเสียการรับรู้รสชาติและกลิ่นอีกด้วย หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินหายใจล้มเหลว เสียชีวิต หากพบว่ามีอาการคล้ายกับจะเป็นหวัด กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และรับการรักษาจากคุณหมออย่างรวดเร็ว 

    การติดเชื้อรา

    การติดเชื้อราที่ปาก เช่น เชื้อราแคนดิดา (Candida) อาจทำให้เกิดอาการคราบสีขาว ๆ ในบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก และต่อมทอนซิล สูญเสียการรับรสชาติ รวมถึงอาจทำให้เกิดรอยแดงและอาการแสบเวลากลืนน้ำลาย วิธีรักษาการติดเชื้อราในปาก สำหรับผู้ใหญ่อาจใช้ยาต้านเชื้อราแบบลูกอม แบบน้ำ หรือแบบกลั้วคอแล้วกลืน สำหรับทารกอาจใช้ยาต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์ต่ำ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาในทารก

    โรคกรดไหลย้อน

    โรคกรดไหลย้อนคือภาวะที่กรดภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหารปิดไม่สนิท ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ เสียงแหบ และกลืนลำบาก หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน กรดไหลย้อนอาจทำลายเยื่อบุหลอดอาหาร ทำให้เกิดแผลและอาการเจ็บคอเวลากลืนได้

    การรักษาโรคกรดไหลย้อนอาจทำได้โดยการใช้ยาลดกรดเพื่อช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก แต่สำหรับโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจใช้ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-blockers) เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine) เพื่อช่วยป้องกันการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร หรือยายับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors หรือ PPIs) เพื่อปิดกั้นโปรตีนที่จำเป็นสำหรับการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ คุณหมอก็อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น น้ำอัดลม ส้ม มะนาว งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา