backup og meta

คอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia) ปัญหากล้ามเนื้อคอที่ไม่ควรรอรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 02/04/2021

    คอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia) ปัญหากล้ามเนื้อคอที่ไม่ควรรอรี

    ปวดคอ ปวดไหล่ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป จากความเมื่อยล้าในการทำงาน การทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวแค่เพียงพักผ่อน หรือบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ แต่ถ้าอาการปวดคอ ปวดไหล่ พ่วงมากับอาการแหงนคอไม่ได้ ก้มหัวไม่ลง คอบิดไปที่ไหล่ข้างใดข้างหนึ่งล่ะก็ คุณอาจกำลังประสบกับ โรคคอบิดเกร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพคอที่มากกว่าการปวดเมื่อยธรรมดา แต่ คอบิดเกร็ง คืออะไร และอันตรายมากน้อยแค่ไหน บทความนี้จาก Hello คุณหมอ จะพาไปรู้จักกับคอบิดเกร็งให้มากขึ้น 

    คอบิดเกร็ง เป็นอย่างไร

    โรคคอบิดเกร็ง เป็นปัญหาสุขภาพคอที่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อคอหดตัวอย่างกะทันหัน ทำให้ศีรษะบิดหรือหันไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือไม่สามารถควบคุมศีรษะให้เอียงไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้ ภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็งจะทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดที่คอ และตำแหน่งของศีรษะ คอ และไหล่ อยู่ในทิศทางที่ผิดไปจากเดิม ซึ่งอาจมีผลต่อการทำกิจกรรมหรือการใช้ชีวิตประจำวัน

    อาการคอบิดเกร็งนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจาก

    • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
    • การใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งโดพามีน เช่น ยาสำหรับรักษาอาการทางจิตเวช
    • การบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ ไหล่
    • พันธุกรรม หรือสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน
    • ปัญหาสุขภาพจิต

    อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก และส่วนใหญ่แล้วจะพบได้กลุ่มวัยกลางคน 

    อาการ คอบิดเกร็ง มีอะไรบ้าง

    โรคคอบิดเกร็ง โดยทั่วไปที่พบได้ มีดังนี้

    • มีอาการเจ็บหรือปวดที่คอหรือไหล่ โดยอาการปวดจะเริ่มอย่างช้า ๆ ไม่ใช่อาการปวดชนิดเฉียบพลัน และมักจะมีอาการปวดในด้านเดียวกับที่ศีรษะเอียงไป เช่น ศีรษะเอียงไปทางด้านซ้าย ก็จะมีอาการปวดที่คอหรือไหล่ด้านซ้าย 
    • ไหล่ยก
    • มือสั่น
    • ปวดศีรษะ
    • ศีรษะสั่น (ผู้ป่วยคอบิดเกร็งกว่าครึ่งมีอาการนี้)
    • กล้ามเนื้อคอโต (75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยคอบิดเกร็งมีอาการนี้)

    นอกจากอาการปวดแล้ว ผู้ป่วย โรคคอบิดเกร็ง ก็ยังพบความผิดปกติในการเคลื่อนไหวคอ โดยคออาจมีการบิดไปตามทิศทางต่าง ๆ ดังนี้

    • คางบิดเอียงไปทางหัวไหล่
    • หูเอียงไปทางหัวไหล่
    • คางแหงนขึ้น
    • คางก้มลงต่ำ

    รักษา คอบิดเกร็ง ได้หรือไม่

    ไม่มีวิธีเฉพาะสำหรับรักษา โรคคอบิดเกร็ง และคอบิดเกร็งส่วนใหญ่ก็สามารถทุเลาขึ้นได้เอง อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจใช้วิธีดังต่อไปนี้เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยคอบิดเกร็ง

    รักษาโดยการใช้ยา

    โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) หรือที่รู้จักกันในชื่อโบท็อกซ์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมความงาม เพื่อช่วยลดเลือนริ้วรอย นอกจากนี้ยังมีการใช้โบท็อกซ์ฉีดเข้ากล้ามเนื้อคอ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต เกิดการคลายตัว รักษาคอบิดเกร็ง ก็จะมี หรือแพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่มีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อที่คอ

    การบำบัดแบบ Sensory tricks

    การบำบัดแบบ Sensory tricks อย่างการใช้มือสัมผัสด้านตรงข้ามของใบหน้าหรือคาง หรือสัมผัสที่ด้านหลังของศีรษะหรือต้นคอ อาจช่วยให้อาการบิดเกร็งของคอทุเลาลงได้ มากไปกว่านั้น การประคบด้วยถุงร้อนและการนวด ก็ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอและไหล่ ก็มีส่วนช่วยให้อาการของ โรคคอบิดเกร็ง ทุเลาด้วยเช่นกัน

    การผ่าตัด

    แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดสำหรับรักษา โรคคอบิดเกร็ง หลัก ๆ สองวิธี คือ

    • การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation หรือ DBS) โดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และปล่อยสัญญาณไฟฟ้าเพื่อขัดขวางสัญญาณประสาทที่จะทำให้เกิดการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ
    • ผ่าตัดเส้นประสาท แพทย์อาจทำการผ่าตัดเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณการหดตัวไปยังกล้ามเนื้อคอและไหล่

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    โรคคอบิดเกร็ง แม้จะไม่ใช่ภาวะสุขภาพที่รุนแรง และสามารถที่จะทุเลาดีขึ้นตามลำดับได้เองหรือตามการรักษา อย่างไรก็ตาม หากมีอาการคอบิดเกร็งเกิดขึ้น หรือมีอาการคอบิดเกร็งเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนรบกวนต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 02/04/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา