backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 30/11/2023

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษา

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ ภาวะที่เกิดการติดเชื้อและอักเสบบริเวณต่อมน้ำเหลืองทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโต โดยอาจเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว หรือหลายตำแหน่งพร้อมกัน พบได้บ่อยบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลือง รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น เจ็บคอ มีไข้สูง แขนหรือขาบวม มีเหงื่อขณะนอนหลับ

คำจำกัดความ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คืออะไร

ร่างกายประกอบด้วยต่อมน้ำเหลืองประมาณ 600 ต่อม มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ กระจายตามส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย และภายในต่อมน้ำเหลืองประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่เสริมภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ บวมโต โดยอาจเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว หรือหลายตำแหน่งพร้อมกัน

โดยส่วนใหญ่อาการติดเชื้อของต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองโตเฉพาะที่ (Localized lymphadenitis) คือ ต่อมน้ำเหลืองโตเพียงตำแหน่งเดียวทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่มีการติดเชื้อเกิดการอักเสบ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตเนื่องจากการติดเชื้อทอนซิล ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณลำคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป (Generalized lymphadenitis) คือ ต่อมน้ำเหลืองโตตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้น อาจเกิดจากการติดเชื้อที่แพร่กระจายผ่านระบบหมุนเวียนเลือดหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย

อาการ

อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

อาการที่พบได้บ่อยของภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ คือ อาการต่อมน้ำเหลืองโต รวมถึงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลือง 
  • ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม ขยายตัวอย่างผิดปกติ
  • มีฝีหนองในต่อมน้ำเหลือง
  • ผิวหนังรอบบริเวณต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบ มีรอยแดง
  • มีหนองไหลออกมาจากต่อมน้ำเหลืองและคั่งอยู่ในผิวหนัง
  • อื่น ๆ เช่น มีไข้ เจ็บคอ แขนหรือขาบวม เหงื่อออกขณะนอนหลับ

สาเหตุ

สาเหตุต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) เชื้อสตาฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) โดยเกิดหลังจากการติดเชื้อที่บริเวณเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ดังนี้

  • ติดเชื้อจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น คอ อาจทำให้บริเวณด้านหน้าและด้านหลังลำคอมีอาการบวมโต
  • ติดเชื้อจากระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ เช่น การอักเสบของลำไส้ส่วนปลาย ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโรคโครห์น (Crohn’s Disease) อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
  • โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส อาจส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ม้ามโต ตับโต 
  • ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่เกิดจากมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน
  • อื่น ๆ เช่น การติดเชื้อจากวัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาคุณหมอแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

ในเบื้องต้นคุณหมออาจซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วย รวมถึงตรวจร่างกาย เช่น บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ มีลักษณะบวมผิดปกติหรือไม่ และทำการทดสอบอื่น ๆ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ดังนี้

  • การตรวจเลือดเพื่อหาอาการติดเชื้อ 
  • เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำเหลือง เพื่อศึกษาว่าต่อมน้ำเหลืองอักเสบจากสาเหตุใด
  • เพาะเชื้อ คุณหมอจะนำต่อมน้ำเหลืองไปเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุของการอักเสบในต่อมน้ำเหลือง

การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

วิธีการรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค โดยมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • รักษาด้วยตนเอง เช่น การประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ
  • การใช้ยา ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ร่วมกับการรับประทานยาต้านการอักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวด ลดไข้ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาอะเซตามิโนเฟน(Acetaminophen) 
  • ผ่าตัด การอักเสบของต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดฝี คุณหมออาจต้องทำการผ่าตัด เพื่อระบายหนองออก 

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อลดอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

  • รับประทานยาทุกชนิดตามคุณหมอกำหนดอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการใช้ยาเอง โดยไม่ปรึกษากับหมอของคุณ 
  • หากต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบ บวมโต อาจบรรเทาด้วยการประคบเย็น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 30/11/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา