backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ฝีรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abcess)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

ฝีรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abcess)

ฝีรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abcess) คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณคอหรือต่อมทอนซิล การติดเชื้อที่บริเวณเนื้อเยื่อดังกล่าวทำให้เกิดการสะสมหนองจนบวมและกลายเป็นฝี ส่งผลให้มีอาการปวดและบวมที่ลำคอ

คำนิยาม

ฝีรอบต่อมทอนซิล คืออะไร

ฝีที่ต่อมทอนซิล หรือฝีรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abcess) คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณคอหรือ ต่อมทอนซิล การติดเชื้อที่บริเวณเนื้อเยื่อดังกล่าวทำให้เกิดการสะสมของหนองจนเกิดอาการบวมและกลายเป็นฝี ส่งผลให้มีอาการปวดและบวมที่ลำคอ หากรุนแรงอาจเสี่ยงที่จะเกิดการอุดตันในลำคอ ทำให้การกลืนอาหารหรือการหายใจเป็นไปได้ยาก มากไปกว่านั้น ภาวะต่อมทอนซิลอักเสบที่ปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเสี่ยงที่จะทำให้กลายเป็นฝีรอบต่อมทอนซิลได้เช่นกัน

ฝีรอบต่อมทอนซิล พบบ่อยแค่ไหน

ฝีรอบต่อมทอนซิลมักเกิดได้บ่อยในเด็กวัยรุ่น และเกิดได้ง่ายในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีสภาพอากาศที่แห้งและเย็นทำให้เกิดอาการหวัด อาการไอ ที่นำไปสู่อาการเจ็บคอและ ต่อมทอนซิล อักเสบ

อาการ

อาการของ ฝีรอบต่อมทอนซิล

อาการทั่วไปของฝีรอบต่อมทอนซิลมีดังนี้

  • เกิดการติดเชื้อที่ ต่อมทอนซิล ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • มีไข้และหนาวสั่น
  • อ้าปากลำบาก
  • กลืนอาหารลำบาก
  • กลืนน้ำลายลำบาก
  • บวมที่ใบหน้าและลำคอ
  • ปวดศีรษะ
  • เสียงอู้อี้ในลำคอ
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • ปวดที่หูโดยเฉพาะหูฝั่งเดียวกับที่มีอาการเจ็บคอ
  • มีกลิ่นปาก
  • ในกรณีที่อาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจมีอาการดังต่อไปนี้

    • ปอดติดเชื้อ
    • ทางเดินหายใจอุดกั้น
    • เชื้อแบคทีเรียกระจายไปยังลำคอ ปาก หน้าอก
    • ฝีแตก

    หากไม่รักษาฝีรอบ ต่อมทอนซิล จะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หรือปิดกั้นทางเดินหายใจจนกระทบกับกระบวนการหายใจ

    ควรพบหมอเมื่อใด

    หากมีอาการเจ็บคอ กลืนน้ำ อาหาร และน้ำลายลำบาก รวมถึงมีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ ควรไปพบคุณหมอ

    สาเหตุ

    สาเหตุของฝีรอบต่อมทอนซิล

    ฝีรอบต่อมทอนซิลเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของต่อมทอนซิลอักเสบ หรือภาวะ ต่อมทอนซิล อักเสบ ที่ปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้น หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม A beta-hemolytic streptococcus ที่บริเวณเนื้อเยื่อในลำคอและต่อมทอนซิล จนเกิดการสะสมหนองเอาไว้ก่อนจะบวมกลายเป็นฝี

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดฝีรอบต่อมทอนซิล

    ปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นฝีรอบต่อมทอนซิล

    • ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
    • โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious Mononucleosis)
    • การสูบบุหรี่
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง
    • มีแคลเซียมหรือนิ่วสะสมใน ต่อมทอนซิล มากเกินไป

    อาจมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้น โปรดปรึกษากับคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยฝีรอบต่อมทอนซิล

    คุณหมอสามารถทำการตรวจวินิจฉัยฝีรอบต่อมทอนซิลได้โดยการ

    • ตรวจช่องปากและลำคอ
    • ตรวจโดยการนำเนื้อเยื่อในช่องปาก ลำคอ หรือต่อมทอนซิลไปเข้าห้องแล็บเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีรอบต่อมทอนซิล 
    • ตรวจโดยการส่องกล้องเข้าไปในลำคอเพื่อหาความผิดปกติของต่อมทอนซิล 
    • ตรวจซีทีสแกน (CT scan) เพื่อความแน่ชัดคุณหมออาจใช้วิธีการวินิจฉัยโดยซีทีสแกน เพื่อตรวจดูว่าเชื้อได้กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ มากหรือน้อยเพียงใด

    การรักษาฝีรอบต่อมทอนซิล

    • รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำการฆ่าเชื้อ
    • รักษาโดยการเจาะหรือผ่าฝีเพื่อระบายเอาหนองออก

    หากเป็นฝีรอบ ต่อมทอนซิล ซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณหมออาจแนะนำให้ทำการตัดต่อมทอนซิลออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

    การเปลี่ยนไล์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไล์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่อาจช่วยจัดการกับฝีรอบต่อมทอนซิล

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันฝีรอบต่อมทอนซิลได้

    • หากมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ควรไปเข้ารับการรักษากับคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดฝีรอบต่อมทอนซิล
    • หากมีอาการทางสุขภาพที่คล้ายกับฝีรอบ ต่อมทอนซิล ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาโดยทันที
    • แปรงฟันให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
    • ตรวจสุขภาพฟันทุกปี หรือทุก ๆ 6 เดือน
    • เลิกสูบบุหรี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา