backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

หากคุณลองสังเกตตนเองว่าร่างกายคุณเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเมื่อใด โปรดอย่าปล่อยทิ้งไว้นานควรสำรวจอาการ และรีบเร่งรักษา หรืออาจเข้ารับคำปรึกษาจากนักบำบัดโดยด่วน เพราะคุณอาจเสี่ยงเป็น โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ได้

คำจำกัดความ 

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย คืออะไร

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นกลุ่มอาการของโรคเรื้อรัง ที่จะส่งผลให้คุณรู้สึกปวดกล้ามเนื้ออย่างหนักทางร่างกาย และอาจส่งผลกระทบต่อสุภาพจิตร่วม เนื่องจากอาการปวดเมื่อยเรื้อรังนี้อาจทำให้คุณรู้สึกอารมณ์แปรปรวน ระบบประสาททำงานไม่เต็มที่ และนำไปสู่อาการนอนไม่หลับในยามกลางคืน เพราะความปวดเมื่อยรุนแรง

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย พบบ่อยเพียงใด

ตามสถิติของสถาบันโรคข้ออักเสบ กล้ามเนื้อ และกระดูกแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่ประสบกับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ส่วนมากเป็นเพศหญิง มากกว่าเพศชาย ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์

อาการ

อาการของ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

ความเจ็บปวดนี้สามารถเกิดขึ้นได้บริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย จากนั้นอาจจะค่อย ๆ ลุกลามไปในวงกว้าง ซึ่งสัญญาณเตือน หรืออาการแรกเริ่มของโรคไฟโบรอัลเจีย มีดังนี้

  • รู้สึกปวด และตึงที่กล้ามเนื้อ
  • ข้อต่อ และกล้ามเนื้อค่อนยืดหยุ่นได้น้อย
  • ลุกลามไปยังบริเวณใบหน้า หรือเส้นกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกับความเจ็บปวดที่แรก
  • อาการนอนไม่หลับ หรือเริ่มนอนผิดเวลา
  • อาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome; RLS)
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ความจำ ทำให้คุณไม่มีสมาธิ ที่เรียกกันว่า “fibro fog”
  • อาการลำไส้แปรปรวน
  • อาการของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปในแต่ละราย ดังนั้นหากเกิดอาการใด ๆ เพิ่มเติม ที่มีความรุนแรงขึ้น เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต อย่างโรคซึมเศร้า คุณควรเข้ารับขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อหาแนวทางรักษาด้วยเทคนิคอื่น ร่วมด้วยในทันที

    สาเหตุ

    สาเหตุของ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    ถึงจะยังมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มากจากปัจจัยที่อาจเชื่อมโยงกัน ดังนี้

    • พันธุกรรม นักวิจัยคาดว่าเป็นการพัฒนาของยีนบางอย่าง ที่มีบทบาทในการสร้างความเจ็บปวด และความเสียหายให้แก่เซลล์ประสาท
    • การติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อที่เกิดมาจากผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด โรคปอดบวม โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่มีการปะปนของเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) แบคทีเรียชิเจลลา (Shigella) และไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus; EBV) นำไปสู่การเชื่อมโยงก่อให้เกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้
    • อุบัติเหตุ ในบางกรณีผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บมาจากอุบัติเหตุรุนแรงเช่น รถชน ก็สามารถทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนส่งผลให้โรคไฟโบรมัยอัลเจียลุกลามตามมา

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การพัฒนาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ได้แก่

    • ประวัติของครอบครัวผู้ป่วย
    • ช่วงอายุที่มากขึ้น
    • เพศ ถึงแม้จะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักพบเจอในเพศหญิงเสียมากกว่า
    • ความเครียดสะสม
    • อาการเจ็บป่วยของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ บ่อยครั้ง

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    ทางสมาคม American College of Rheumatology ได้กำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัยสุขภาพ ที่อาจนำไปสู่โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ไว้เพื่อการวินิจฉัย ดังนี้

    1. ตรวจสอบร่างกายทั้ง 18 จุดที่พร้อมกับอาการนอนไม่หลับ เหนื่อยล้า และระบบประสาททำงานล่าช้า
    2. อาการเจ็บปวดต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 เดือน
    3. การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง และทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์

    การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    จุดประสงค์ของการรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย คือบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ และฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ได้รับผลกระทบมาจากโรคนี้ ซึ่งทางแพทย์อาจมีการใช้ยา ควบคู่กับบำบัดทางกายภาพร่วมดังนี้

    • ยาบรรเทาอาการปวด เช่น อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen sodium) เป็นต้น หรือยาลดความปวดเมื่อยอื่น ๆ ตามภาวะสุขภาพในระยะเวลานั้น ๆ ของคุณ
    • ยาต้านโรคซึมเศร้า ที่อาจเข้ามามีส่วนช่วยลดความเหนื่อยล้า ความเครียด และส่งเสริมการนอนหลับให้คุณได้อย่างดี เช่น ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) และมิลนาซิแพรน (Milnacipran) เป็นต้น
    • ยาป้องกันโรคลมชัก ในตัวยากาบาเพนติน (Gabapentin) และยาพรีกาบาลิน (Pregabalin)มีสารบางอย่างที่ช่วยลดอาการเจ็บปวดบางประเภท และเป็นยาที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหาร และยาเพื่อใช้รักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    นอกจากการรับประทานยาตามที่แพทย์ได้ทำการอนุญาตแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการทำกายภาพบำบัด โดยอาจเป็นการออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น เล่นโยคะ ไทเก๊ก หรือการฝังเข็ม และนวดบำบัดร่วม เพื่อเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อคุณให้กลับมามีการใช้งานได้ปกติดังเดิม

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเมอ
    • รับประทานผัก และผลไม้ ให้มากกว่าเนื้อสัตว์
    • ควรทานธัญพืชจำพวก ถั่ว อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ที่มีใยอาหารปราศจากน้ำตาล
    • ดื่มนมที่มีไขมันต่ำ แต่ให้โปรตีน และพลังงานสูง
    • ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่พอดีแก่ร่างกายต้องการต่อวัน
    • ลดการทานอาหารที่มีระดับน้ำตาลสูง
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตน (Gluten)
    • ลดการทานอาหารที่อยู่ในกลุ่ม (Fermentable Oligo-Di-Monosaccharide and Polyols; FODMAP) ที่มีผลกระทบต่อลำไส้ หรือช่องทางเดินอาหาร เช่น ครีมชีส โยเกิร์ต นมข้นหวาน ผลไม้แห้ง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี เป็นต้น

    หากคุณมีข้อสงสัยอื่น ๆ สามารถปรึกษากับนักโภชนาการ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มเติมได้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และรับคำแนะนำในการนำมาปรับปรุงสุขภาพของคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา