backup og meta

อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ตัวเลือกดีๆ สำหรับคนลดน้ำหนัก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ตัวเลือกดีๆ สำหรับคนลดน้ำหนัก

    อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ส่วนใหญ่มักหมายถึงพืชผักผลไม้ และธัญพืช ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เนื่องจากไฟเบอร์หรือใยอาหารมีคุณสมบัติในการดูดซึมน้ำ เมื่อบริโภคเข้าร่างกายจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และอิ่มนาน จึงรู้สึกอยากอาหารน้อยลง ลดโอกาสเสี่ยงในการได้รับพลังงานส่วนเกิน จึงอาจช่วยให้ควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น

    ไฟเบอร์สำคัญต่อการลดน้ำหนักยังไง

    ไฟเบอร์ (Fiber) หรือใยอาหาร จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย พบได้ในพืชผักผลไม้ และธัญพืช โดยงานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า ไฟเบอร์อาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก เนื่องจากผู้ที่บริโภคอาหารไฟเบอร์สูงมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า และมีน้ำหนักขึ้นน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคอาหารไฟเบอร์ต่ำ เพราะไฟเบอร์ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น บริโภคอาหารได้น้อยลง ร่างกายได้รับปริมาณแคลอรี่ลดลง หากร่างกายใช้แคลอรี่มากกว่าที่ได้รับ อาจช่วยให้น้ำหนักลดลง

    นอกจากนี้ อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ มักทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และใช้เวลาไม่นานหลังบริโภคระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ภาวะปกติหรือต่ำกว่าระดับปกติ ทำให้ร่างกายไม่รู้สึกอยากอาหาร ในขณะที่การบริโภคอาหารไขมันสูงหรือน้ำตาลสูง จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความอยากอาหารมากขึ้นโดยเฉพาะของหวาน ส่งผลให้ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน

    อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ มีอะไรบ้าง

    หากต้องการเพิ่มไฟเบอร์ให้ร่างกาย แบบแคลอรี่ไม่เพิ่มสูงขึ้น ควรบริโภคอาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ได้แก่

    ผักใบเขียว

    ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ปวยเล้ง สวิสชาร์ด (Swiss Chard) ผักกาดเขียว ผักโขม ผักบุ้ง ได้ชื่อว่าเป็นอาหารลดน้ำหนัก เพราะนอกจากจะมีไฟเบอร์สูงแล้ว ยังมีแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตต่ำ เมื่อบริโภคจะช่วยให้อิ่มท้องนานขึ้น บริโภคอาหารมื้อต่อไปน้อยลง นอกจากนี้ ผักใบเขียวเข้มยังมีแคลเซียมที่มีคุณสมบัติช่วยในการเผาผลาญไขมันและช่วยรักษาอัตราการเผาผลาญไขมัน

    แบล็คเบอร์รี่และราสเบอร์รี่

    แบล็คเบอร์รี่ หรือราสเบอร์รี่หนึ่งถ้วย ให้ไฟเบอร์ประมาณ 8 กรัม และมีแคลอรี่เพียง 64 กิโลแคลอรี่เท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ อีกหลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะวิตามินซีและแมกนีเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก และควรบริโภคแบบสดแทนชนิดแช่แข็งจะทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์และสารอาหารต่าง ๆ อย่างเต็มที่

    อาร์ติโชค (Artichoke)

    อาร์ติโชคต้มปริมาณ 100 กรัม ให้ไฟเบอร์ปริมาณ 8.6 กรัม และให้พลังงานต่ำกว่า 60 แคลอรี่ นอกจากจะเป็นอาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ที่ดีต่อการลดน้ำหนักแล้วสารอาหารต่าง ๆ ทั้งโฟเลต วิตามินซี รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงตับ ลดการอักเสบในร่างกาย

    พืชตระกูลกะหล่ำ

    พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น บร็อคโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว (Brussels Sprout) เป็นพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ บริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้วช่วยให้อิ่มนาน อีกทั้งมีโปรตีนสูง และแคลอรี่ต่ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เสริมสร้างกล้ามเนื้อ นอกจากนั้น พืชตระกูลกะหล่ำยังมีสารช่วยต้านมะเร็ง และยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนสำหรับผู้ที่งดการบริโภคเนื้อสัตว์

    ฝรั่ง

    ฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ปริมาณ 1 ถ้วยตวง มีไฟเบอร์ 9 กรัม น้ำตาลน้อย และเป็นแหล่งวิตามินซีชั้นยอด ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ และลดคอเลสเตอรอล

    นอกจากนั้น อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ ยังมีอาหารอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่อาจเลือกบริโภคเพื่อใช้เป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เช่น ทับทิม เสาวรส แครอท บีทรูท

    ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำ

    แม้อาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำอาจส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยสำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 20 ปีขึ้นไป) ควรได้รับใยอาหารประมาณ 25 กรัมต่อวัน ที่สำคัญ ควรบริโภคอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ร่างากยได้รับสารอาหารครบถ้วน

    นอกจากนั้น หากบริโภคไฟเบอร์เกินกว่าปริมาณที่แนะนำ นอกจากจะไม่ช่วยให้ลดน้ำหนักแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ท้องเสียหรือถ่ายเหลว ท้องผูก น้ำหนักขึ้นชั่วคราว ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป และหากเป็นผู้ป่วยโรคโครห์น (Crohn’s disease) อาจทำให้ลำไส้อุดตัน ดังนั้น จึงควรบริโภคอาหารไฟเบอร์สูง แคลอรี่ต่ำในปริมาณพอดี ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและไม่เสี่ยงโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา