backup og meta

ขมิ้น ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

    ขมิ้น ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ขมิ้น เป็นพืชล้มลุกในตระกูลขิง มีเหง้าสีเหลืองสด จัดเป็นเครื่องเทศที่นิยมนำมาใช้ปรุงเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงชนิดต่าง ๆ รวมถึงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะในแถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย ไทย จีน ญี่ปุ่น ตุรกี ทั้งสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ผงขมิ้น อาหารเสริม

    ทั้งนี้ ขมิ้นประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แมงกานีส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี โดยสารสำคัญในขมิ้นคือ เคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่า อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านมะเร็ง ลดอาการอักเสบของร่างกาย และป้องกันโรคอัลไซเมอร์

    คุณค่าทางโภชนาการของ ขมิ้น

    ขมิ้น 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 312 กิโลแคลอรี ประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 67.1 กรัม
    • โปรตีน 9.68 กรัม
    • ไขมัน 3.25 กรัม
    • โพแทสเซียม 2,080 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 299 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 208 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 168 มิลลิกรัม
    • เหล็ก 55 มิลลิกรัม
    • โคลีน (Choline) 42.9 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 27 มิลลิกรัม
    • แมงกานีส 19.8 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ ขมิ้น ยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น ซีลีเนียม (Selenium) สังกะสี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค โฟเลต (Folate)

    ประโยชน์ของขมิ้นต่อสุขภาพ

    ขมิ้น ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของขมิ้น ดังนี้

    1. อาจช่วยต้านมะเร็ง

    สารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ในขมิ้นมีคุณสมบัติชะลอการแพร่กระจายเนื้อร้าย เหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง และยับยั้งวัฏจักรของเซลล์มะเร็ง การบริโภคขมิ้น จึงอาจช่วยต้านมะเร็งได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยการค้นพบและคุณสมบัติของเคอร์คิวมิน ที่เผยแพร่ในวารสาร Clinical and Experimental Pharmacology and Physiology ปี พ.ศ. 2555 ได้ทำการวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการและในกลุ่มอาสาสมัครทั้งผู้ที่เป็นเนื้องอกและผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อน นักวิจัยพบว่า เคอร์คิวมินอาจมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยกลไกการทำงานหลัก ๆ คือ การกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง รวมถึงยับยั้งพัฒนาการและการเพิ่มจำนวนของเซลล์ อีกทั้งเคอร์คิวมินยังมีคุณสมบัติกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อการรักษาแบบยาเคมีบำบัดได้ดียิ่งขึ้น

    ทั้งนี้ ชนิดของเซลล์มะเร็งที่เคอร์คิวมินอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตได้ ประกอบด้วยเซลล์ของมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งช่องปาก และเซลล์ของเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก ดังนั้น การบริโภคเคอร์คิวมินจึงอาจช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็งได้

    อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณสมบัติของเคอร์คิวมินในขมิ้นในการต้านมะเร็ง

  • อาจช่วยบรรเทาโรคข้อเข่าเสื่อม

  • ขมิ้นอุดมไปด้วยสารเคอร์คิวมินที่มีคุณสมบัติยับยั้งการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย การบริโภคขมิ้นจึงอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย รวมถึงความปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งพบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ

    การศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของเคอร์คิวมินและยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Trials ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยสุ่มให้กลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 139 รายบริโภคเคอร์คิวมินในรูปแบบอาหารเสริม วันละ 3 ครั้ง หรือยาไดโคลฟีแนค วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 28 วันเท่า ๆ กัน เพื่อวัดผลเปรียบเทียบ เมื่อครบกำหนดเวลา นักวิจัยพบว่า ในวันที่ 14 และ 28 ของการทดลอง อาการเจ็บหัวเข่าของอาสาสมัครกลุ่มที่บริโภคเคอร์คิวมินดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มที่บริโภคยาไดโคลฟีแนค นักวิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า เคอร์คิวมินอาจใช้เป็นตัวเลือกในการบรรเทาโรคข้อเข่าเสื่อมได้

    อาจสรุปได้ว่า เคอร์คิวมิน มีคุณสมบัติต้านการอักเสบของร่างกาย เช่นเดียวกับยาแก้ปวดซึ่งใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ดังนั้น การบริโภคขมิ้นจึงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาโรคข้อเข้าเสื่อมได้

    1. อาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

    สารเคอร์คิวมินในขมิ้น มีคุณสมบัติส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดสมองและจุดประสานประสาทให้ดำเนินไปอย่างปกติ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ การบริโภคขมิ้นจึงอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับกลไกของเคอร์คิวมินในโรคอัลไซเมอร์ ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Alzheimer’s Disease ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการหลาย ๆ ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า เคอร์คิวมินและสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) จากขมิ้นอาจมีกลไกป้องกันโรคอัลไซเมอร์

    อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของขมิ้นในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์นั้นยังมีข้อจำกัด เนื่องจากปริมาณของตัวยาจากสารเคอร์คิวมินและสารโพลีฟีนอลที่สามารถบริโภคเข้าสู่ร่างกายได้นั้นค่อนข้างต่ำ หากสามารถหาวิธีแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวได้ การใช้ประโยชน์จากสารเคอร์คิวมินต่อโรคอัลไซเมอร์อาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    1. อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

    เคอร์คิวมินในขมิ้น มีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระซึ่งก่อให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ เคอร์คิวมินยังมีคุณสมบัติเสริมสร้างการทำงานของผนังเส้นเลือด (Endothelium) ให้แข็งแรง การบริโภคขมิ้นจึงอาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการบริโภคเคอร์คิวมินและการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมการทำงานของผนังหลอดเลือดในผู้หญิงวัยทอง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Research ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้หญิงวัยทองจำนวน 32 รายออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคเคอร์คิวมิน กลุ่มที่ 2 ให้ออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง กลุ่มที่ 3 ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์เท่า ๆ กัน

    เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทดลอง นักวิจัยได้ตรวจการขยายตัวของหลอดเลือด พบว่า ผลตรวจของกลุ่มที่บริโภคเคอร์คิวมินและกลุ่มที่ออกกำลังกาย เป็นไปในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับผลตรวจก่อนทำการทดลอง ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคเคอร์คิวมินหรือออกกำลังกาย ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

    นักวิจัยจึงสรุปว่า การบริโภคเคอร์คิวมินและการออกกำลังกายช่วยเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือดที่ถูกปิดกั้นการไหลเวียน และอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือดซึ่งมักแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น และอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในเวลาเดียวกัน

    ข้อควรระวังในการบริโภค ขมิ้น

    แม้ขมิ้นจะมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกายและอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ แต่การบริโภคขมิ้น มีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

    • ไม่ควรบริโภคขมิ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมในการบริโภค คือ วันละ 8 กรัม เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน หรือวันละ 3 กรัม เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เมื่อบริโภคขมิ้นติดต่อกันเป็นเวลานานหรือในปริมาณที่มากเกินไป ได้แก่ ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ และมึนงง
    • การบริโภคขมิ้นอาจทำให้เลือดจาง ดังนั้น จึงไม่ควรบริโภคขมิ้นควบคู่กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน (Warfarin) นอกจากนี้ ขมิ้นอาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง ซึ่งจะส่งผลให้เสียเลือดมากกว่าปกติระหว่างผ่าตัด ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดจึงควรงดเว้นการบริโภคขมิ้น และควรปรึกษาคุณหมอหากกำลังรับประทานอาหารเสริมขมิ้น
    • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การบริโภคขมิ้นในปริมาณมาก อาจกระตุ้นการทำงานของมดลูก และส่งผลเสียต่อครรภ์ นอกจากนี้ หญิงในระยะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขมิ้นในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าการบริโภคขมิ้นระหว่างให้นมบุตรนั้นปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา