backup og meta

ขิง สรรพคุณ และข้อควรระวังในการรับประทาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/05/2022

    ขิง สรรพคุณ และข้อควรระวังในการรับประทาน

    ขิง สรรพคุณ เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ มีแหล่งกำเนิดในทวีปเอเชีย มีฤทธิ์ร้อน นิยมนำไปใช้ประกอบอาหารและใช้เป็นยารักษาโรค เนื่องจากมีสารประกอบที่มีส่วนช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยบำรุงสมอง ช่วยต้านการอักเสบ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง  โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ ควรรับประทานขิงในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    คุณค่าทางโภชนาการของขิง

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA)  ระบุว่า ขิง 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ เช่น

    • คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม
    • ไฟเบอร์ 2 กรัม
    • โปรตีน 1.82 กรัม
    • ไขมัน 0.75 กรัม

    นอกจากนี้ ขิงยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม แมงนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม สังกะสี รวมถึงสารประกอบจินเจอรอล (Gingerol) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลักในขิงสดที่ให้ความเผ็ดร้อน และมีฤทธิ์เป็นยา ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบร่างกาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ต้านการอักเสบ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

    ขิง สรรพคุณ ที่ควรรู้

    ขิงอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของขิง ดังนี้

    อาจช่วยในการทำงานของสมอง

    ขิงมีส่วนประกอบเช่น สารจินเจอรอล (Gingerol) สารโชเกล (Shogaol) ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งอาจช่วยยับยั้งการอักเสบของเซลล์และป้องกันสมองถูกอนุมูลอิสระทำลายจนเสื่อมสภาพ ทั้งยังช่วยลดการอักเสบเรื้อรังของเซลล์สมองที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพจิต โรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงการทำงานของหน่วยความจำ โดยเพิ่มสารสื่อประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ด้านความจำ การจดจ่อ และการตอบสนองได้

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554  ศึกษาเรื่อง ขิงช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง (Cognitive Function) ของผู้หญิงวัยกลางคนที่มีสุขภาพดี โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 50-60 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 60 คน ออกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานขิง 400 มิลลิกรัม กลุ่มที่รับประทานขิง 800 มิลลิกรัม และกลุ่มที่รับประทานยาหลอก เป็นเวลา 2 เดือน ผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากขิงช่วยเพิ่มทั้งความสนใจและความสามารถในการประมวลผลทางสมองในของผู้หญิงวัยกลางคนที่มีสุขภาพดีโดยไม่พบผลข้างเคียง จึงอาจสรุปได้ว่าขิงมีสรรพคุณช่วยเพิ่มการทำงานของระบบสมองได้

    อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้

    ขิงมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) เช่น สารจินเจอรอล สารโชเกล สารแคทีชิน (Catechin) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์และยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดการเกิดโรค เช่น โรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากการรับประทานขิงจะทำให้เซลล์มะเร็งในระบบทางเดินอาหารตาย และอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Gastroenterology Research and Practice เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง ขิงและส่วนประกอบของขิง: บทบาทในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พบว่า ขิงมีสารโพลีฟีนอล  เช่น สารจินเจอรอล สารโชเกล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารหลายชนิด เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งท่อน้ำดี

    อาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้

    ขิง สรรพคุณ เด่นในเรื่องการลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน และนิยมใช้ในการบรรเทาอาการแพ้ท้อง สารประกอบของขิง ได้แก่ สารจินเจอรอล สารโชเกล อาจเพิ่มการตอบสนองของระบบย่อยอาหาร เพิ่มความเร็วในการล้างกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการหดตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Obstetrics & Gynecology เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 ศึกษาเรื่อง การใช้ขิงสำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียนระหว่างตั้งครรภ์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงที่มีอาการแพ้ท้องจำนวน 70 คน พบว่า การรับประทานขิง 1 กรัม/วัน สามารถลดระดับความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ได้ จึงอาจสรุปได้ว่าขิงมีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้ในหญิงตั้งครรภ์ได้

    อาจลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังบางชนิด

    ขิงประกอบไปด้วยสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compounds) เช่น สารจินเจอรอล สารโชเกล ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก เพิ่มการไหลเวียนเลือด และต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยรักษาและอาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเรื้อรังของโรคต่าง ๆ  เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ (CHD) ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันไขมันพอกตับ โรคโลหิตจาง และเนื้องอก

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง ผลของการบริโภคขิงทุกวันเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังในผู้ใหญ่ โดยมีกลุ่มทดลองชายหญิงอายุตั้งแต่ 18-77 ปี จำนวน 4,628 คน บริโภคขิงในปริมาณ 0-2 กรัม/วัน 2-4 กรัม/วัน และ 4-6 กรัม/วัน พบว่า ขิงมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคเรื้อรังบางชนิดได้ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บป่วย ช่วยให้ฟื้นไข้และหายจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้เร็วขึ้น

    ข้อควรระวังในการรับประทานขิง

    ข้อควรระวังในการรับประทานขิง อาจมีดังนี้

  • สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขิงในช่วงใกล้คลอด เพราะขิงมีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้ อาจไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ที่มีประวัติแท้งบุตรหรือมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่รับประทานยาต้านลิ่มเลือด และยารักษาโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเมื่อรับประทานขิง เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด หากรับประทานร่วมกับยาดังกล่าว อาจส่งผลให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดผิดปกติได้
  • ขิงอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจึงควรงดรับประทานขิงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะการรับประทานขิงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกมากทั้งในระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้
  • การรับประทานขิงมากเกินไปอาจรู้สึกแสบร้อนและเกิดแผลในช่องปากได้
  •  

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา