backup og meta

นมถั่วเหลือง คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 19/11/2021

    นมถั่วเหลือง คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

    นมถั่วเหลือง เป็นนมที่ทำมาจากถั่วเหลืองที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แร่ธาตุและวิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินดี แคลเซียม เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้นมหรือแพ้แลคโตสจากไขมันสัตว์ รวมถึงผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ นอกจากนี้ นมถั่วเหลืองยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาจลดคอเลสเตอรอลในเลือด มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก

    นมถั่วเหลือง ทำมาจากอะไร

    นมถั่วเหลือง หรือน้ำเต้าหู้ เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากถั่วเหลือง โดยผ่านกระบวนการบดและต้มกรองเอาเฉพาะน้ำ เมื่อได้นมถั่วเหลืองแล้วอาจจะปรุงรสชาติเพิ่มด้วยน้ำตาลหรือเกลือก็ได้ รวมถึงอาจเพิ่มคุณประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยการใส่ลูกเดือย ถั่วแดง ธัญพืชอื่น ๆ ในนมถั่วเหลือง

    โภชนาการของนมถั่วเหลือง

    นมถั่วเหลืองที่ไม่หวาน 240 มิลลิลิตร อาจให้พลังงานประมาณ 80-90 แคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

    • โปรตีน 7 กรัม 
    • คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม 
    • ไขมัน 4 กรัม 
    • ไฟเบอร์ 2 กรัม 
    • น้ำตาล 1 กรัม 
    • ไขมันอิ่มตัว 0.5 กรัม

    นอกจากนั้น นมถั่วเหลืองยังอุดมด้วยวิตามินเอ วิตามิบี โพแทสเซียม แคลเซียม โฟเลต โคลีน และเรตินอล อีกด้วย

    ประโยชน์ของนมถั่วเหลือง 

    นมถั่วเหลือง มีคุณประโยชน์ที่อาจดีต่อสุขภาพ ดังนี้ 

  • ช่วยลดคอเลสเตอรอลหรือไขมันในร่างกาย ถั่วเหลืองมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวและโปรตีนที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL Cholesterol) และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ป้องกันการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ที่อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก นมถั่วเหลืองอุดมไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งอาจช่วยทำให้อิ่มนานขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก
  • ช่วยให้กระดูกแข็งแรง เนื่องจากนมถั่วเหลืองมีปริมาณแคลเซียมสูง ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก กระดูกเปราะบาง และโรคกระดูกพรุน
  • ช่วยลดอาการวัยหมดประจำเดือน นมถั่วเหลืองมีไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ซึ่งเป็นสารอาหารจากพืชที่อยู่ในกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ดังนั้น การรับประทานนมถั่วเหลืองอาจช่วยลดอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ (Hot Flush)
  • ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ชี้ว่าสารไอโซฟลาโวนในนมถั่วเหลืองอาจช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก 
  • มีประโยชน์ต่อสุขภาพสมอง นมถั่วเหลืองมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง รวมถึงโอเมก้า 3 อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์
  • ผู้ที่ควรระวังในการบริโภคนมถั่วเหลือง

    • ผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง หรือถั่วชนิดอื่น ๆ 
    • ผู้ป่วยเบาหวาน แม้ในนมถั่วเหลืองจะมีน้ำตาลน้อย แต่บางผลิตภัณฑ์หรือบางร้านค้าอาจเพิ่มน้ำตาลในนมถั่วเหลืองปริมาณมาก ฉะนั้น ก่อนรับประทานควรดูฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์เสียก่อน
    • ผู้ที่ตั้งครรภ์ สามารถรับประทานนมถั่วเหลืองได้ แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไปหรือดื่มแทนเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ 
    • เด็ก นมถั่วเหลืองสำหรับทารกอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพหรือปัญหาการเจริญพันธุ์ แต่ไม่ควรมาใช้ทดแทนเป็นนมผงสำหรับทารก เพราะอาจมีสารอาหารไม่เพียงพอต่อทารก 
    • นิ่วในไต ถั่วเหลืองมีสารออกซาเลต (Oxalate) ที่เป็นสารยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุ รวมถึงยังเป็นสารส่วนประกอบของนิ่ว อาจก่อให้เกิดนิ่วในไตได้
    • ไฮโปไทรอยด์ นมถั่วเหลืองอาจไปรบกวนการดูดซึมตัวยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) ที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยภาวะขาดไทรอยด์ อย่างไรก็ตาม สามารถกินดื่มนมถั่วเหลืองได้ แต่ควรดื่มห่างจากการรับประทานยาไทรอยด์ 4 ชั่วโมง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 19/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา