backup og meta

ปัญหาหัวใจ หลอดเลือด สุขภาพทางเพศ ถั่วดำ ช่วยได้ทั้งนั้น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ปัญหาหัวใจ หลอดเลือด สุขภาพทางเพศ ถั่วดำ ช่วยได้ทั้งนั้น

    ถั่วดำ คือ อาหารโภชนาการที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แถมยังนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ข้าวเหนียวถั่วดำ แกงบวดถั่วดำ ข้าวต้มมัดใส่ถั่วดำ หรือซาลาเปาถั่วดำ อย่างไรก็ตาม เมนูที่กล่าวมาทั้งหมดดูจะจัดอยู่ในหมวดของหวาน หากใครกำลังคุมน้ำตาลในเลือดอยู่ควรระวังนะคะ และไม่ควรกินน้ำตาลมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้

    คุณค่าทางโภชนาการของ ถั่วดำ

    ถั่วดำอุดมไปด้วยใยอาหารและโปรตีนที่มีประโยชน์ มีวิตามินและแร่ธาตุสูง ประกอบไปด้วย วิตามินเอ ธาตุเหล็ก แมงกานีส และแคลเซียม เต็มไปด้วยฟลาโวนอยด์ (flavonoids) โดยเฉพาะแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่เป็นสารต้านอนูมูลอิสระ นอกจากนั้นถั่วดำยังมีไขมันกรดโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดี

    ถั่วดำยังมีกรดโฟลิคทำให้เป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กๆ และคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ถั่วดำมีโมลิบดีนัม (molybdenum) สารประกอบซึ่งหายาก ที่มีประโยชน์มากต่อร่างกายในปริมาณที่สูงอีกด้วย

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของถั่วดำ

    สุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด

    สิ่งสำคัญที่ในถั่วดำ ที่ทำให้ควรนำมาประกอบอาหารก็คือ ใยอาหารหรือไฟเบอร์ ถั่วดำมีใยอาหารที่ละลายน้ำได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดได้ และเมื่อเรามีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ก็จะลดโอกาสการเกิดผนังหลอดเลือดตีบตัน ที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองตีบตันได้อีกด้วย

    ยิ่งไปกว่านั้นกรดไขมันโอเมก้า-3ในถั่วดำ ยังช่วยต่อสู้กับผลด้านลบของกรดไขมันโอเมก้า-6 เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดระดับความดันโลหิต และลดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชันในระบบหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

    การป้องกันมะเร็ง

    เปลือกหุ้มเมล็ดสีดำของถั่วดำนั้น มีฟลาโวนอยด์อยู่ 8 ชนิด ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ หนึ่งในชนิดของฟลาโวนอยด์ก็คือ แอนโทไซยานิน สารต้านอนูมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์อันตราย เพิ่มความเร็วในการตายของเซลล์มะเร็ง

    ระบบทางเดินอาหาร

    ด้วยปริมาณของโปรตีนและใยอาหารสูง ถั่วดำสามารถช่วยในการจัดการปัญหาการขับถ่ายได้ นอกจากนี้ถั่วดำยังทำให้คุณรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น มันจึงช่วยทำความสะอาดระบบทางเดินอาหาร และป้องกันการกินที่มากเกินไป ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ในถั่วจะดูดซับน้ำไว้ในอุจจาระ ทำให้สามารถช่วยจัดการกับปัญหาเรื่องท้องผูกได้อีกด้วย

    ระดับน้ำตาลในเลือด

    ปัญญาทางเดินอาหาร มักเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่สมดุล คนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด อาจจะต้องพบกับความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างมาก รวมไปถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูง หรือลดลงเนื่องจากระบบการย่อยอาหารที่ไม่ปกติ อาจลองกินถั่วดำโดยไม่ใส่น้ำตาล ถั่วดำอาจช่วยทำให้ปัญหาการย่อยอาหารดีขึ้น ทำให้คุณมีระบบน้ำตาลในเลือดที่ปกติได้ แต่อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่คุณเป็นโรคเบาหวาน

    การล้างพิษซัลไฟต์และปัญหาทางเพศ

    ซัลไฟต์ (Sulfite) คือ สารประกอบกรดที่ปรากฏในไวน์ ผลไม้แห้ง หรือผักบางชนิด และสามารถทำให้คนหลายคนเกิดอาการปวดหัว ภาวะงุนงง และอาการอื่นๆ แร่ธาตุหายากชื่อ โมลิบดีนัม ที่พบในถั่วดำ มีบทบาทสำคัญในการย่อย และล้างพิษซัลไฟต์ โมลิบดีนัมยังช่วยส่งเสริมในการสร้างพลังงานเซลล์และพัฒนาระบบประสาท

    ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณรับประทานโมลิบดีนัมเป็นประจำ ยังได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยให้ผู้ชายสูงอายุ สามารถจัดการกับความอ่อนแรง และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ เพราะฉะนั้นมันจึงสามารถช่วยเพิ่มพลังกาย และแรงขับทางเพศในผู้ชายได้

    ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วดำ

    เปลือกหุ้มเมล็ดของถั่วดำนั้นมีกรดไฟเตต (phytic acid) สารเคมีที่อาจป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซับแคลเซียม แมกนีเซียม และทองแดง เมื่อเวลาผ่านไปแล้วแร่ธาตุเหล่านั้นไม่ถูกดูดซึม และเกิดการสะสมในร่างกายอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพหลายอย่างได้ ตั้งแต่อาการปวดท้องไปจนถึงการหยุดชะงักของฮอร์โมนหรือสมองบกพร่อง สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่แช่ถั่วดำในน้ำก่อนนำไปทำอาหาร

    นอกจากนี้ถั่วดำยังมีสารโอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharides) น้ำตาลเชิงซ้อนที่ร่างกายของคนไม่สามารถย่อยได้ เพราะขาดเอ็นไซม์ที่เหมาะสม เมื่อถูกหมักอยู่ในระบบทางเดินอาหาร สารโอลิโกแซ็กคาไรด์อาจจะสร้างแก๊สมีเทนซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา