backup og meta

ลูกพีช ประโยชน์สุขภาพ และความเสี่ยงในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 22/11/2021

    ลูกพีช ประโยชน์สุขภาพ และความเสี่ยงในการบริโภค

    ลูกพีช เป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน  ผลเป็นทรงกลม เปลือกมีขนนุ่ม ผลดิบจะมีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองอมส้ม หรือสีแดงอมชมพู รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้ออาจเป็นสีขาว หรือสีเหลือง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลูกพีชมีคุณประโยชน์หลากหลาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยย่อยอาหาร สามารถรับประทานสด นำมาประกอบอาหาร หรือทำเป็นเครื่องดื่มได้

    ลูกพีช คืออะไร

    ลูกพีช (Peach) หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า ลูกท้อ เป็นผลไม้ประเภทเมล็ดแข็งที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน มีหลายสายพันธุ์  ลูกพีชผลสุกจะมีสีเหลืองอมส้ม หรือสีแดงอมชมพู เนื้อข้างในมีรสชาติหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถปอกเปลือกแล้วรับประทานสด หรือนำไปประกอบอาหารก็ได้

    คุณค่าโภชนาการของลูกพีช

    ลูกพีชขนาดกลาง 1 ลูก (ประมาณ 150 กรัม) ให้พลังงาน 58 กิโลแคลอรี่ อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ดังต่อไปนี้

    • ไขมัน น้อยกว่า 1 กรัม
    • โปรตีน 1 กรัม
    • ไฟเบอร์ 2 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม
    • วิตามินเอ 10% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • วิตามินซี 17% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • วิตามินอี 5% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • วิตามินเค 5% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • โพแทสเซียม 8% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • ทองแดง 5% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • แมงกานีส 5% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
    • ไนอาซิน 6% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

    นอกจากนี้ ลูกพีชยังมีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และวิตามินบีด้วย

    ประโยชน์ของลูกพีช

    ประโยชน์สุขภาพของลูกพีช อาจมีดังนี้

    • ช่วยย่อยอาหาร เพราะอุดมไปด้วยใยอาหารทั้งแบบละลายน้ำได้และไม่ละลายน้ำ ใยอาหารที่ละลายน้ำได้จะกลายเป็นเจลช่วยเคลือบระบบทางเดินอาหาร ลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำจะช่วยเพิ่มกากใยให้ลำไส้ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น จึงอาจช่วยลดหรือป้องกันอาการท้องผูกได้
    • ช่วยบำรุงสายตา สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีนในลูกพีชจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอที่ดีต่อสุขภาพตา ช่วยในการมองเห็น
    • ช่วยบำรุงผิว เนื้อลูกพีชอุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอลที่อาจช่วยลดการเกิดริ้วรอยเนื่องจากผิวถูกรังสียูวีทำลาย รวมถึงอาจช่วยทำให้ผิวเรียบเนียน และชุ่มชื้นขึ้น
    • ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง โพแทสเซียมในลูกพีชอาจช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก ภาวะกระดูกพรุน ภาวะกระดูกแตกหัก ทั้งยังช่วยปรับสมดุลของโซเดียมในร่างกาย และเป็นส่วนประกอบสำคัญของของเหลวในร่างกายและเซลล์ที่ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต
    • ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ลูกพีชอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งร่างกายใช้เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต นอกจากนี้ โพแทสเซียมยังช่วยปรับสมดุลของโซเดียมในร่างกายและลดการหดตัวของหลอดเลือด รวมถึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้สุขภาพหัวใจแข็งแรงขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
    • ลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง ลูกพีชอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซีที่อาจช่วยกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิด อีกทั้งลูกพีชยังมีเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอที่อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปอด และมะเร็งช่องปากได้ด้วย

    ข้อควรระวังในการบริโภคลูกพีช

    ลูกพีชมีประโยชน์มากมาย แต่หากนำลูกพีชมาแปรรูป เช่น ชาพีช พีชกระป๋อง พีชเชื่อม อาจมีปริมาณน้ำตาลสูง หากผู้ป่วยเบาหวานรับประทานลูกพีชแปรรูปเหล่านี้อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ รวมถึงผู้ที่แพ้ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล ลูกพลัม เชอร์รี่ ก็อาจจะแพ้ลูกพีชเช่นกัน โดยอาจสังเกตได้จากอาการคัน บวมรอบปากหรือลำคอ หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ผลไม้หรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่สงสัยว่าแพ้ หรือคอยดูอาการที่เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสหรือรับประทานเข้าไป และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาภูมิแพ้ หากตรวจพบ จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

    วิธีการเลือกลูกพีช 

    ลูกพีชมีหลากหลายพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วลูกพีชสีออกขาวมักมีรสหวาน และลูกพีชสีเหลืองมักมีรสเปรี้ยว เมื่อลูกพีชสุกจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ควรหลีกเลี่ยงการเลือกลูกพีชที่มีสีน้ำตาล ฟกช้ำ เพราะอาจสุกเกินไปหรือเนื้อข้างในเน่าได้ ลูกพีชที่สุกอาจเก็บได้ประมาณ 1 สัปดาห์ในอุณหภูมิห้อง แต่หากยังไม่รับประทานควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อไม่ให้ลูกพีชสุกเกินไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 22/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา