backup og meta

เห็ดออรินจิ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

    เห็ดออรินจิ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    เห็ดออรินจิ หรือเห็ดนางรมหลวง นิยมนำมาบริโภค ทั้งในแบบสดและแบบผง หรือสารสกัด เนื่องจากมีแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยคุณค่าโภชนาการ มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด การบริโภคเห็ดออรินจิให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคเห็ดออรินจิในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    คุณค่าทางโภชนาการของ เห็ดออรินจิ

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA)  ระบุว่า เห็ดออรินจิ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 41 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 6.94 กรัม
  • โปรตีน 2.9 กรัม
  • ไขมัน 0.19 กรัม
  • โพแทสเซียม 282 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 13.9 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 1 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ เห็ดออรินจิโดยังมีสังกะสี ทองแดง เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การรับประทานเห็ดออรินจิในปริมาณที่เหมาะสมจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ อีกทั้งเห็ดออรินจิยังมีพลังงานและแคลลอรี่ต่ำ จึงเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ เห็ดออรินจิ

    เห็ดออรินจิอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของเห็ดออรินจิ ดังนี้

    อาจช่วยในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

    เห็ดออรินจิ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) ที่เกิดจากโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก (Cardiometabolic diseases) เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ  ได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยลดลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีมีประสิทธิภาพ

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่อง ผลของการบริโภคเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดนางรมหลวงหรือที่เรียกว่าเห็ดออรินจิต่อปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเมแทบอลิค หรือคาร์ดิโอเมตาบอลิก (Cardiometabolic diseases) โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่มีสุขภาพดี กลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมอาหาร รับประทานสารสกัดจากเห็ดออรินจิในปริมาณ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่า สารสกัดเห็ดออรินจิมีส่วนช่วยเพิ่มการดูดซึมกลูโคสในลำไส้ แต่ในขณะเดียวกันก็ลดระดับกลูโคสในซีรัม ทั้งยังกระตุ้นการหลั่งอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของระดับกลูโคสในเลือด จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดออรินจิมีประโยชน์ในการควบคุมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ศึกษาเรื่อง การยับยั้งการอักเสบและการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของสารสกัดเมทานอลของเห็ดสกุลนางรม พบว่า สารสกัดจากเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิสามารถเยียวยาการอักเสบเฉียบพลันและการอักเสบเรื้อรังได้ เมื่อรับประทานในปริมาณ 500 และ 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จึงอาจกล่าวได้ว่า เห็ดออรินจิมีศักยภาพในการรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ได้

    อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

    เห็ดออรินจิประกอบไปด้วยสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ (Beta-glucans) ที่พบได้ทั่วไปในสิ่งมีชีวิตตระกูลเห็ด รา ยีสต์ เบต้ากลูแคนส์ช่วยเคลื่อนย้ายเม็ดเลือดขาวให้ไปยังบริเวณที่เกิดการอักเสบและส่งเสริมการทำงานของสารต้านจุลชีพ เห็ดออรินจิจึงมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ โดยกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่ออาการอักเสบของเซลล์ภายในร่างกาย

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554  ศึกษาเรื่อง ฤทธิ์ต้านการอักเสบของเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดออรินจิที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการยับยั้งการส่งสัญญาณของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและการเกิดมะเร็งอย่าง NF-κB และ AP-1  พบว่า สารประกอบของเห็ดออรินจิ เช่น เมทานอล สเตียรอยด์ กรดฟีนอลิก ไทโรซีน (Tyrosine) วิตามินบี 2 มีฤทธิ์ในการยับยั้งอาการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดออรินจิเป็นอาหารที่มีประโยชน์ในการยับยั้งอาการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย

    อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้

    เห็ดออรินจิ มีส่วนประกอบของสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้นกัน โดยสารชนิดนี้จะทำงานร่วมกับเม็ดเลือดขาวแมกโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (Dendritic cells) ซึ่งมีหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคได้

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่องความรู้และมุมมองต่อสารพอลิแซ็กคาไรด์ในเห็ดสกุลนางรม พบว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ที่พบในเห็ดสกุลนางรม มีส่วนช่วยลดความเสียหายจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ ควบคุมความสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานเห็ดออรินจิหรือเห็ดนางรมหลวง ซึ่งเป็นเห็ดสกุลนางรมชนิดหนึ่ง อาจมีส่วนช่วยให้ระบบร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้

    ข้อควรระวังในการบริโภค เห็ดออรินจิ

    เห็ดออรินจิอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่หากรับประทานมากเกินไป หรือรับประทานผิดวิธี ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

    • เห็ดมีทั้งชนิดที่กินได้และเป็นพิษ และบางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากจนอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการบริโภคเห็ดพิษ ควรเลือกซื้อเห็ดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเห็ดที่ไม่คุ้นเคย
    • หากรับประทานเห็ดออรินจิหรือเห็ดอื่น ๆ แล้วมีอาการแพ้ เช่น วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย ควรหยุดรับประทานทันทีแล้วรีบไปพบคุณหมอ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดชนิดนั้น ๆ อีกในอนาคต
    • เห็ดออรินจิมีส่วนประกอบของสารอราบิทอล (Arabitol) ในปริมาณเล็กน้อย สารชนิดนี้เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรบริโภคอย่างระวัง และหยุดบริโภคทันทีหากพบอาการดังกล่าว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา