backup og meta

แครนเบอร์รี่ ผลไม้สีแดง เปี่ยมประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    แครนเบอร์รี่ ผลไม้สีแดง เปี่ยมประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    แครนเบอร์รี่ (Cranberry) เป็นผลไม้ลูกเล็ก สีแดง มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน แหล่งเพาะปลูกสำคัญอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา นิยมบริโภคทั้งแบบสดและแบบตากแห้ง แครนเบอร์รี่ ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “ซูเปอร์ฟูด (Superfood)” เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ โพแทสเซียม และโพลีฟีนอล (Polyphenols) หลายชนิด โดยเฉพาะสารโปรแอนโทไซยานิดินหรือสารแพค (Proanthocyanidin หรือ PAC) ที่อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น จึงควรบริโภคแครนเบอร์รี่ หรืออาหารเสริมแครนเบอร์รี่ เป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยเสริมสุขภาพ

    แครนเบอร์รี่ ดีอย่างไร

    การรับประทานแครนเบอร์รี่สด 100 กรัม จะให้น้ำ 87.3 กรัม ให้พลังงาน 46 กิโลแคลอรี ให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 12 กรัม โดย 3.6 กรัมเป็นคาร์โบไฮเดรตจำพวกไฟเบอร์ (Fiber) หรือใยอาหาร และไม่มีไขมัน ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารพฤกษเคมีที่สำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น โพแทสเซียม วิตามินซี ฟอสฟอรัส โคลีน (Choline) วิตามินเอ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เควอซิติน (Quercetin) ช่วยส่งเสริมสุขภาพได้หลายประการ เช่น

    ช่วยลดการอักเสบ

    แครนเบอร์รี่มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เช่น แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ฟลาโวนอล (Flavonol) ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols) หรือโปรแอนโทไซยานิดิน ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยไม่ให้เนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำลาย ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เนื่องจากช่วยยับยั้งการหลั่งเอนไซม์และโปรตีนที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการอักเสบของร่างกายได้ การบริโภคแครนเบอร์รี่เป็นประจำจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน

    ลดการติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้และทางเดินปัสสาวะ

    สารโปรแอนโทไซยานิดินหรือสารแพคจากแครนเบอร์รี่ เป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอลหรือสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยไม่ให้เชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. coli หรือ Escherichia coli) รุกรานเนื้อเยื่อบุผิวลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ ช่วยเพิ่มแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออีโคไลในสำไส้ และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบซึ่งพบได้มากในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพและผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย เชื้อแบคทีเรียจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่า ควรบริโภคสารโปรแอนโทไซยานิดินส์หรือ PAC จากแครนเบอร์รี่ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 36 มิลลิกรัม

    ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

    แครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามินซีและสารโพลีฟีนอลที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สารโพลีฟีนอลอย่างสารโปรแอนโทไซยานิดินหรือสารแพคที่อาจช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์แกมมาเดลต้า T (γδ T เซลล์) และเอ็นเคเซลล์ (NK Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์ที่ติดเชื้อ ช่วยเสริมประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันแบบเยื่อเมือก เช่น ภายในโพรงจมูก ทั้งยังช่วยลดการหลั่งสารชักนำการอักเสบ จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า ผลดีดังกล่าวอาจช่วยลดอาการของโรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคภูมิแพ้ได้

    แครนเบอร์รี่-ประโยชน์สุขภาพ-ข้อควรระวังในการบริโภค

    บริโภคแครนเบอร์รี่อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

    โดยทั่วไป การบริโภคแครนเบอร์รี่ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่หากบริโภคในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตได้

    แครนเบอร์รี่สดมีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยาแอสไพรินที่ช่วยบรรเทาปวด ลดการอักเสบ ผู้ที่มีอาการแพ้ยาแอสไพรินจึงควรหลีกเลี่ยงหรือบริโภคแครนเบอร์รี่อย่างระมัดระวัง หากบริโภคแล้วมีอาการแพ้ เช่น ผิวหนังแดง มีผื่นคัน น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ควรหยุดบริโภคและไปพบคุณหมอหากอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงนี้ไม่พบในผู้ที่รับประทานแครนเบอร์รี่ในรูปแบบสารสกัดที่ไม่มีกรดซาลิไซลิกเป็นส่วนประกอบ

    การรับประทานแครนเบอร์รี่สดอาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังรับประทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือดอยู่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้ชนิดนี้ แต่หากรับประทานแครนเบอร์รี่ในรูปแบบสารสกัด มักไม่พบผลข้างเคียงนี้

    นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือมีโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรบริโภคแครนเบอร์รี่เพื่อรักษาโรคด้วยตัวเอง แต่ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาโดยวิธีทางการแพทย์ที่เหมาะสม เช่น การใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด อาจรับประทานแครนเบอร์รี่หรืออาหารเสริมแครนเบอร์รี่เพื่อช่วยเสริมสุขภาพร่วมด้วย และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ ให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา