backup og meta

biotin ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/09/2022

    biotin ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

    biotin หรือไบโอติน เป็นวิตามินชนิดหนึ่ง เรียกว่าวิตามินบี 7 หรือวิตามิน H ซึ่งเป็นประเภทวิตามินบีรวมที่ละลายในน้ำ พบได้ในอาหารจำพวกผักและธัญพืช เช่น กะหล่ำ เห็ด ถั่วลิสง และในรูปแบบอาหารเสริม มีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์ ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีนนอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์และสนับสนุนการทำงานของยีนในร่างกายอีกด้วย

    ประโยชน์ของ biotin

    ไบโอตินมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของ ไบโอตินในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อาจช่วยจัดการโรคเบาหวาน

    การรับประทาน biotin อาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดไขมันในเลือด ซึ่งอาจช่วยจัดการกับโรคเบาหวานได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของไบโอตินต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความเข้มข้นของไขมันในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ตีพิมพ์ใน Oman Medical Journal พ.ศ. 2556 นักวิจัยให้ผู้ป่วยรับประทานยาเสริมไบโอตินเป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาเสริมไบโอตินมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย จึงสรุปว่า การรับประทานไบโอตินอาจมีส่วนช่วยลดความเข้มข้นของไขมันในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1

  • อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพเส้นผม ผิวและเล็บ

  • biotin มีคุณสมบัติเสริมความแข็งแรงให้รากผม จึงช่วยป้องกันอาการผมร่วง ผมบาง เล็บเปราะและเป็นผื่นผิวหนังได้ ดังนั้น การรับประทาน ไบโอตินจึงอาจช่วยเสริมความแข็งแรงของผมและทำให้ผมมีสุขภาพดีขึ้น

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของไบโอตินสำหรับผมร่วง ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Appendage Disorders พ.ศ. 2560  พบว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจนทำให้ร่างกายขาดไบโอติน อาจทำให้มีอาการผมร่วง ผมบาง เล็บเปราะ ดังนั้น การรับประทานไบโอตินอาจมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมและเล็บ ทั้งยังอาจช่วยให้สุขภาพผมและสุขภาพเล็บกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้น ศึกษาเกี่ยวกับการขาดไบโอตินในผู้ป่วยที่มีอาการผมร่วงและศีรษะล้าน ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Pediatrics พ.ศ. 2528 ทำการทดลองโดยให้กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการผมร่วงและศีรษะล้านบริโภคอาหารเสริมไบโอตินจำนวน 100 ไมโครกรัม/วัน และเพิ่มปริมาณเป็น 1 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และเพิ่มปริมาณเป็น 10 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง พบว่า ไบโอตินอาจมีส่วนช่วยให้อาการผมร่วงและศีรษะล้านดีขึ้น ทั้งยังอาจทำให้โรคผิวหนังอักเสบและอาการผื่นขึ้นเป็นสะเก็ดบริเวณแก้มและหนังศีรษะบริเวณท้ายทอยดีขึ้นด้วย

    1. อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรถ์

    biotin เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไบโอติน 30-35 ไมโครกรัม/วัน นอกจากนี้ ไบโอตินยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรง

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับระดับไบโอตินระหว่างตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และการคลอดก่อนกำหนด ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Medical Investigation พ.ศ. 2563  โดยทำการสำรวจร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ 35 ราย ที่คลอดก่อนกำหนด และร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ 24 ราย ที่คลอดทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ พบว่า ปริมาณไบโอตินในกระแสเลือดมีระดับต่ำตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การขาดไบโอตินในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือชะลอการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

    ปัญหาที่พบหากร่างกายขาด biotin

    การขาดไบโอตินอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้

    • ผมร่วง ผมบาง ผื่นแดง เล็บเปราะ
    • ผิวเป็นสะเก็ดรอบดวงตา จมูก ปากและอวัยวะเพศ
    • อาการทางระบบประสาท เช่น อาการซึมเศร้า ง่วงซึม ภาพหลอน ชา ความรู้สึกเสียวซ่าที่แขนขา อาการชัก

    ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดไบโอติน จึงควรได้รับไบโอตินในประมาณที่เหมาะสม ดังนี้

    • เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้รับไบโอติน 5 ไมโครกรัม/วัน
    • ทารกอายุ 7-12 เดือน ควรได้รับไบโอติน 6 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับไบโอติน 8 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับไบโอติน 12 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับไบโอติน 20 ไมโครกรัม/วัน
    • ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 14-18 ปี ควรได้รับไบโอติน 25 ไมโครกรัม/วัน
    • ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับไบโอติน 30 ไมโครกรัม/วัน
    • หญิงตั้งครรภ์ทุกวัย ควรได้รับไบโอติน 30 ไมโครกรัม/วัน
    • หญิงให้นมบุตรทุกวัย ควรได้รับไบโอติน 35 ไมโครกรัม/วัน

    โดยแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไบโอติน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ไข่สุก แซลมอน อะโวคาโด มันเทศ พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เมล็ดพืช ธัญพืช ปลา ผักใบเขียว เห็ด ชีส กะหล่ำ เนยถั่ว

    ข้อควรระวังในการบริโภค biotin

    biotin เป็นวิตามินบีที่ละลายน้ำได้จึงอาจมีความเสี่ยงน้อยที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าไบโอตินเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม้ว่าจะรับประทานสูงถึง 300 มิลลิกรัม/วัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารเสริมไบโอติน ควรต้องแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนเข้ารับการตรวจเลือด เนื่องจากปริมาณไบโอตินในเลือดสูงอาจทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา