backup og meta

Zinc ช่วยอะไร และมีผลข้างเคียงอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/07/2022

    Zinc ช่วยอะไร และมีผลข้างเคียงอย่างไร

    หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า Zinc ช่วยอะไร Zinc (ซิงค์) หรือสังกะสี เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เพราะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่เสียหาย พัฒนาระบบประสาทสัมผัสในการรับรสและกลิ่น โดยสามารถพบแร่สังกะสีได้ในอาหารจำพวกอาหารทะเล เนื้อวัว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และผักบางชนิด รวมถึงแร่สังกะสีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตาม การบริโภคแร่สังกะสีมากเกินไปอาจส่งผลข้างเคียง เช่น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย

    Zinc คืออะไร

    Zinc หรือสังกะสี คือ แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ในการช่วยเสริมความแข็งแรงให้เซลล์เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบภูมิคุ้มกัน โดยปกติร่างกายไม่สามารถกักเก็บแร่สังกะสีไว้ได้ และจำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น หากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยบ่อย บางคนอาจมีอาการผมร่วง รู้สึกเบื่ออาหาร และมีปัญหาด้านการมองเห็น

    อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสีที่แนะนำให้รับประทาน มีดังต่อไปนี้

    • หอยนางรม เป็นอาหารที่มีสังกะสีในปริมาณสูง สำหรับหอยนางรมขนาดกลาง 6 ตัว อาจมีสังกะสีประมาณ 32 มิลลิกรัม
    • เนื้อวัว มีสังกะสีสูงรองจากหอยนางรม โดยเนื้อวัว 100 กรัม อาจมีแร่สังกะสีประมาณ44 มิลลิกรัม
    • ปู แบบปรุงสุก 1 ตัว อาจมีสังกะสีประมาณ 48 มิลลิกรัม
    • กุ้งก้ามกราม ที่มีขนาดเล็ก 1 ตัว อาจมีสังกะสีประมาณ74 มิลลิกรัม
    • เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปริมาณ 56 กรัม อาจมีสังกะสีประมาณ 3 มิลลิกรัม
    • เนื้อหมู ปริมาณ 113 กรัม อาจมีสังกะสีประมาณ 2 มิลลิกรัม
    • ถั่วลูกไก่ ปริมาณ 100 กรัม อาจมีสังกะสีประมาณ5 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ แร่สังกะสีอาจสามารถพบได้ในอาหารจำพวก ถั่วลิสง ฟักทอง เนื้อแกะ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ มันฝรั่ง คะน้า รวมถึงผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

    Zinc ช่วยอะไรบ้าง

    สังกะสีอาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ที่อาจให้ประโยชน์ ดังนี้

    • อาจช่วยรักษาบาดแผล

    แร่สังกะสีมีบทบาทสำคัญที่อาจช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายที่อาจส่งผลให้แผลสมานตัวเร็วขึ้น จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของสังกะสีต่อการฟื้นตัวของบาดแผล พบว่า สังกะสีอาจช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์และเนื้อเยื่อที่เสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้แผลสมานตัวอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

    • อาจช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด

    แร่สังกะสีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ที่อาจช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัด อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเกิดโรคได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Cochrane Database of Systematic Reviews เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้แร่สังกะสีกับไข้หวัดโดยการศึกษาจากการทดลองที่มีการใช้สังกะสีเพื่อป้องกันโรคหวัดจำนวนทั้งหมด 18 ฉบับ พบว่า การรับประทานแร่สังกะสีอาจช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการไข้หวัดได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของการใช้สังกะสีในการป้องกันโรคหวัด เนื่องจากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่มากพอ

  • อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วง

  • สังกะสีอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จากการศึกษาในวารสาร Journal of Global Health เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารเสริมสังกะสีเพื่อรักษาโรคท้องร่วงในเด็ก โดยให้เด็ก 3,407 คน อายุ 6-23 เดือน รับประทานอาหารเสริมสังกะสีในปริมาณ 20 มิลลิกรัม เป็นเวลา 10 วัน พบว่า สังกะสีอาจช่วยลดระยะเวลาของอาการท้องเสียได้กับเด็กที่มีอายุ 18 เดือนขึ้นไป สำหรับการรักษาท้องร่วงในเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจน

    • อาจช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา

    แร่สังกะสีอาจช่วยชะลอความเสื่อมสภาพในจุดภาพชัดของจอประสาทตา ที่มีบทบาทสำคัญทำให้มองเห็นสิ่งรอบตัวได้อย่างชัดเจน และอาจช่วยป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อม จากการศึกษาในวารสาร International Journal of Molecular Sciences เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแร่สังกะสีและภาวะจอประสาทเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุพบว่า การรับประทานสังกะสีอาจช่วยชะลอภาวะจุดภาพชัดที่จอประสาทตาเสื่อมและลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากอนุมูลอิสระที่ส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพ นำไปสู่ภาวะจอประสาทตาเสื่อม อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด

    Zinc มีผลข้างเคียงอย่างไร

    โดยปกติแล้ว ควรรับประทานแร่สังกะสี ประมาณ 8-12 มิลลิกรัม/วัน สูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน หากรับประทานแร่สังกะสีมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้

    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดศีรษะ
    • อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องเสีย
    • ความอยากอาหารลดลง หรืออาจไม่อยากรับประทานอาหาร
    • อาจทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุทองแดงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา