backup og meta

สารปนเปื้อนในอาหาร ที่พบได้บ่อยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/05/2023

    สารปนเปื้อนในอาหาร ที่พบได้บ่อยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    สารปนเปื้อนในอาหาร เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสารปนเปื้อนตามธรรมชาติ สารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา และการเตรียมอาหาร ซึ่งหากบริโภคเข้าไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ทุกคนจึงควรระมัดระวังในการเลือกแหล่งวัตถุดิบหรือแหล่งจำหน่ายสินค้า โดยควรเลือกแหล่งที่สะอาด น่าเชื่อถือและได้มาตรฐาน และควรล้างเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งก่อนบริโภคหรือนำมาประกอบอาหาร

    สารปนเปื้อนในอาหาร คืออะไร

    สารปนเปื้อนในอาหาร (Food Contaminants) คือ สารอันตรายใด ๆ ที่อยู่ในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติอย่างแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต เป็นต้น สารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างปรอท ตะกั่ว สารพิษจากหอย เป็นต้น รวมไปถึงสารปนเปื้อนในกระบวนการผลิตอาหารที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต การบรรจุ การขนส่ง นอกจากนี้ การใช้สารเติมแต่งที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้ในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารได้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของอาหารให้ลดลง และหากร่างกายได้รับในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    สารปนเปื้อนในอาหาร ที่พบได้บ่อย

    สารปนเปื้อนในอาหาร ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    • ฟอร์มาลีน เป็นสารอันตรายที่ไม่ควรใช้กับอาหารแต่มักมีการใช้เพื่อยืดอายุอาหารที่เน่าเสียง่ายให้อยู่นานขึ้นเช่น ผักสด เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลสด โดยเฉพาะปลาหมึก แมงกะพรุน สารชนิดนี้เป็นอันตรายต่อร่างกายและก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ เช่น ปากและคอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง หากได้รับต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วย อีกทั้งฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นสารประกอบในฟอร์มาลีนอาจทำให้ป่วยเป็นมะเร็งได้
    • บอแรกซ์ เป็นสารกันเสียที่ผู้ประกอบการอาหารลักลอบผสมในอาหารบางอย่าง เช่น หมูบด ปลาบด เนื้อวัวบด หมูยอ ลูกชิ้น ทอดมัน ไส้กรอก ผงวุ้น ทับทิมกรอบ มะม่วงดอง ผักกาดดอง เพื่อให้อาหารคงความสดใหม่และเก็บได้นานขึ้น มักส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หากได้รับในปริมาณมากอาจทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะ เป็นพิษต่อตับ ไต สมอง ทั้งยังมีสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่าไนโตรซามีน (Nitrosamine) เป็นส่วนประกอบ
    • สารฟอกขาว เป็นสารซัลไฟต์ (Sulfites) ที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นสารซัลเฟตที่ไม่มีพิษต่อร่างกายและขับออกทางปัสสาวะได้ ส่วนใหญ่มักพบในถั่วงอก ขิงฝอย ยอดมะพร้าว หน่อไม้ ผลไม้ดองและแช่อิ่ม เป็นต้น แต่หากร่างกายได้รับในปริมาณมาก โดยเฉพาะสารฟอกขาวในกลุ่มโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium hydrosulfite) อาจเข้าไปทำลายวิตามินบี 1 ในร่างกายและส่งผลให้หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ ท้องร่วง เป็นต้น หากแพ้รุนแรงอาจทำให้เกิดลมพิษ ชัก ช็อค หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหอบหืด
    • ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มักพบในผักและผลไม้ โดยเฉพาะหากไม่ล้างให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหารหรือบริโภค อาจทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หายใจติดขัด สายตาพร่ามัว กล้ามเนื้อโดยเฉพาะลิ้นและหนังตากระตุก ชัก หมดสติ ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณสารปนเปื้อนที่รับเข้าสู่ร่างกาย
    • จุลินทรีย์ก่อโรค เช่น ไวรัสโรต้า (Rotavirus) ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (Hepatitis A) เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) เมื่อเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อนในอาหารอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วงรุนแรง
    • สารเร่งเนื้อแดง มักพบในเนื้อหมู เนื้อวัว ไก่งวง ซึ่งมักได้รับการฉีดสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-agonist) เช่น ซาลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบิวเทอรอล (Clenbuterol) เพื่อทำให้เนื้อมีสีแดงและดูมีไขมันน้อยลงเพราะถูกเปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มมูลค่าทำให้ได้ราคาดีและขายได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายมักก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น มือสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก ทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

    วิธีป้องกันสารปนเปื้อนในอาหาร

    วิธีป้องกันสารปนเปื้อนในอาหาร อาจทำได้ดังนี้

    • เลือกซื้อเนื้อสัตว์ อาหารทะเล จากแหล่งผลิตหรือสถานที่จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และเชื่อถือได้
    • ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง ซึ่งมีหลายวิธี เช่น แช่ผักและผลไม้ทิ้งไว้ในน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที แล้วเปิดน้ำให้ไหลผ่าน ล้างผักและผลไม้ด้วยด่างทัมทิบ เกลือ เบคกิ้งโซดา น้ำส้มสายชู และควรขัดถูผักและผลไม้ให้ทั่วเพื่อลดสารตกค้างหรือแมลงที่เกาะอยู่ให้หลุดออกมากที่สุด
    • ใช้เขียงสำหรับหั่นผักผลไม้แยกจากเขียงที่ใช้กับเนื้อสัตว์ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค
    • หลีกเลี่ยงการกินอาหารซ้ำเดิมเป็นประจำทุกวันหรือติดต่อกันบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงรับสารปนเปื้อนในอาหารจากแหล่งผลิตเดียวกัน
    • ล้างมือให้สะอาดก่อนประกอบอาหารและก่อนกินอาหารทุกครั้ง
    • ทำความสะอาดครัวหรือบริเวณที่ใช้ประกอบอาหารทุกครั้งหลังใช้เสร็จ รวมไปถึงล้างและรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ทำครัว เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา