backup og meta

สูตรชาลูกพีช

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/09/2020

    สูตรชาลูกพีช

    หากคุณกำลังเบื่อรสชาติชาเดิม ๆ อย่างชาเขียว ชาดำ ลองหันมาปรับเปลี่ยนเป็นการดื่มชาที่มีส่วนประกอบของผลไม้ดูบ้าง เพราะนอกจากจะให้ความสดชื่นแล้ว ยังอาจได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากลูกพีชซึมซับเข้าสู่ร่างกายไปได้อีกด้วย ซึ่งบทความของ Hello คุณหมอ ได้นำ สูตรชาลูกพีช อันแสนหอมหวาน มาฝากทุกคน ให้ได้ลองทำรับประทานกันค่ะ

    ประโยชน์ของ ลูกพีช ผลไม้แท้จากธรรมชาติ ที่ควรรู้

    เชื่อกันว่าลูกพีชมีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศจีนมากว่า 8,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลไม้ ที่มีลักษณะของเปลือกภายนอกคล้ายขนเล็ก ๆ ปกคลุม อีกทั้งยังมาพร้อมกับเนื้อภายในสีขาวนวลสวยน่ารับประทาน โดยส่วนใหญ่แล้วมักนิยมนำมารับประทานเล่น หรือนำมาเป็นส่วนประกอบคู่กับเมนูอื่น ๆ ให้เกิดรสชาติแปลกใหม่ ที่สำคัญการทานลูกพีชยังอาจให้คุณประโยชน์แก่สุขภาพของคุณได้ ดังต่อไปนี้

    • ช่วยในการย่อยอาหาร

    เนื่องจากลูกพีชมีใยอาหารหรือไฟเบอร์จากธรรมชาติอยู่มาก จึงทำให้ใยอาหารเหล่านี้มีการลำเลียงอาหารให้ผ่านลำไส้ของคุณได้ไปอย่างง่ายดาย และลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้คุณเกิดอาการท้องผูกได้

    ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เส้นใยอาหารในลูกพีชยังเป็นอาหารชั้นดีของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้คุณให้สร้างกรดไขมันสายสั้น เช่น โพรพิโอเนต (Propionates) และ บิวทีเรท (Butyrate) ไปเลี้ยงในเซลล์ลำไส้ เพื่อเป็นการเพิ่มการป้องกันให้คุณห่างจากโรคลำไส้แปรปรวน อาการลำไส้ใหญ่อักเสบได้อีกด้วย

    • ป้องกันเซลล์มะเร็งบางชนิด

    เนื้อของลูกพีชที่เรารับประทานกันนั้น อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) และกรดคาเฟอิก (Caffeic acid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบว่ามีคุณสมบัติในการต้านเซลล์มะเร็งได้ ในการศึกษาหนึ่งพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่รับประทานลูกพีชเข้าไปประมาณวันละ 2 ลูก มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลดลงถึง 41% แต่อย่างไรก็ตามยังคงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

    • บรรเทาอาการภูมิแพ้

    เมื่อร่างกายคุณได้รับการสัมผัสบางอย่างจนก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ สารฮิสตามีนที่อยู่ในร่างกายของคุณนั้นก็จะเริ่มรับรู้ ทำการปล่อยสารออกมา เพื่อช่วยป้องกัน และกำจัดสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นให้ออกไป เฉกเช่นเดียวกับการรับประทานลูกพีช เพราะลูกพีชอาจปล่อยสารสกัดบางอย่างที่เป็นประโยชน์เข้าสู่กระเลือดเข้าไปช่วยให้คุณลดอาการภูมิแพ้ที่กำลังประสบอยู่ได้

    • ฟื้นฟูสุขภาพผิว

    ในการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารประกอบที่อยู่ภายในลูกพีช อาจสามารถช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวเราให้คงอยู่ได้นานมากขึ้น อีกทั้งยังอาจช่วยปรับปรุง ซ่อมแซมเซลล์ผิวที่ได้รับความเสียหายจากรังสียูวีจากแสงแดดที่เราต้องประสบอยู่สม่ำเสมอเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน

    สูตรชาลูกพีช-ประโยชน์ของลูกพีช

    สูตรชาลูกพีช

    วัตถุดิบในการทำชาลูกพีช

    • ลูกพีช 2 ลูก (แบบหั่น หรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ)
    • น้ำสะอาดแบ่งออกเป็น 8 ถ้วย
    • น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
    • ถุงชาสำเร็จรูป 2 ถุง

    วิธีทำชาลูกพีช

    1. นำลูกพีชที่หั่นบาง ๆ หรือชิ้นเล็ก ๆ นั้นมาทำการต้มรวมกับน้ำตาลที่เตรียมไว้ พร้อมกับน้ำสะอาดอีก 1 ถ้วย
    2. เคี่ยวลูกพีชกับน้ำตาลไว้ประมาณ 15 นาที เมื่อครบตามเวลากำหนดแล้วให้คุณปิดเตา และปล่อยให้ลูกพีชเย็นสักพัก
    3. น้ำลูกพีชที่ได้มาทำการบด หรือใส่ลงเครื่องปั่นไฟฟ้า เพื่อให้ได้น้ำลูกพีชออกมา
    4. เทลูกพีชที่นำไปปั่นเทลงในตะแกรงกรองอีกรอบ เพื่อคั้นแต่น้ำของลูกพีชที่ต้มกับน้ำตาลไว้ จากนั้นน้ำที่ได้ใส่ลงภาชนะและทำการเก็บไว้ในตู้เย็นสักครู่
    5. นำน้ำ 7 ถ้วย ที่เหลือมาต้ม
    6. เมื่อน้ำเดือดพอประมาณให้ปิดเตา และนำถุงชาใส่ทิ้งไว้เป็นเวลา 5 นาที
    7. หากครบกำหนดแล้วให้นำถุงชาที่ทำการแช่ไว้ออก และใส่น้ำชาที่ได้ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น เหยือก เป็นต้น ปล่อยให้น้ำชาเย็นสักพัก แล้วจึงนำเข้าในตู้เย็น

    สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานทันที ให้นำน้ำลูกพีชที่แช่ไว้ออกมาผสมกันกับน้ำชาได้เลยทันที ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ว่าอยากรับประทานแบบร้อนหรือแบบเย็น หากเป็นแบบเย็น อาจมีการใส่น้ำแข็งเพิ่ม เพื่อลดอุณหภูมิของน้ำต้มเดือดทั้ง 2 ที่คุณต้มไว้ให้เย็นลงได้ค่ะ

    ผลข้างเคียงจากการรับประทาน ลูกพีช

    สำหรับวัยผู้ใหญ่ และวัยเด็กบางคนอาจก่อให้เกิดอาการแพ้เกสรเบิร์ช (Birch) ซึ่งเป็นเกสรที่คล้ายกับโปรตีนที่อยู่ในลูกพีช จนทำให้บางคนนั้นมีอาการคันปาก หรือลำคอ พร้อมกับริมฝีปาก ลิ้น และคอบวม ดังนั้นหากเกิดอาการเช่นนี้ขึ้น โปรดหยุดรับประทาน และเข้ารับการรักษาโดยแพท์ผู้เชี่ยวชาญในทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา