backup og meta

อาหารคนป่วย ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 18/07/2023

    อาหารคนป่วย ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ มีอะไรบ้าง

    อาหารคนป่วย เป็นอาหารที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้ที่เจ็บป่วย เป็นโรค ผ่านการผ่าตัด หรือเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพ จึงควรอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน น้ำ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อเพิ่มระดับพลังงาน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค

    อาหารคนป่วย สำคัญอย่างไร

    อาหารคนป่วย มีความสำคัญต่อร่างกายเพราะสารอาหารทำหน้าที่ให้พลังงานกับเซลล์และเนื้อเยื่อ ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ และทดแทนสารอาหารที่สูญเสียไป เมื่อร่างกายเจ็บป่วยจากการติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บมักจะลดความอยากอาหารลง แต่ร่างกายยังคงต้องการสารอาหารเพิ่มเติม เนื่องจาก คนป่วยบางคนลำไส้อาจดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี หรือบางคนร่างกายใช้สารอาหารได้เร็วกกว่าปกติ เช่น ใช้ในการซ่อมแซมระบบภูมิคุ้มกัน

    หากคนป่วยรับประทานอาหารไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ เพราะไขมันและกล้ามเนื้อในร่างกายจะถูกย่อยสลายกลายเป็นพลังงาน เพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดหายไป จึงอาจทำให้คนป่วยน้ำหนักลดลง ขาดสารอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง อาจทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อ นอกจากนี้ คนป่วยอาจสูญเสียน้ำปริมาณมากในระหว่างมีไข้หรือท้องเสีย อาหารคนป่วยที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนและน้ำดื่มที่เพียงพอจึงสำคัญต่อการฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วย

    อาหารคนป่วย

    หากป่วยนานกว่า 2-3 วัน ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่หลากหลาย เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะขาดสารอาหาร และควรแบ่งมื้ออาหารของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ดังนี้

    • ให้อาหารอ่อนกับคนป่วยในปริมาณน้อยบ่อยครั้งตามต้องการ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยไม่รู้สึกหิว เช่น ข้าวต้ม กล้วยบด หรือซุป
    • ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากขึ้น ทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้สด น้ำมะพร้าว น้ำอัดลม ซุป ข้าวต้ม
    • เตรียมอาหารที่ปรุงสุก และเครื่องดื่มให้สะอาด ปลอดภัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอาหาร

    สำหรับทารกป่วยที่ต้องกินน้ำนมแม่เป็นหลัก คุณแม่ควรให้นมทารกบ่อยขึ้น เนื่องจาก นมแม่เป็นอาหารหลักของทารกและยังมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน

    อาหารคนป่วยท้องเสีย คลื่นไส้ หรือมีไข้

    เด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ ร่างกายอาจสูญเสียน้ำปริมาณมาก เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำคนป่วยจึงควรดื่มน้ำมากขึ้น อาจเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ในร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อ หรืออาจปรุงอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำและเกลือในปริมาณที่เหมาะสม คือไม่เกิน 6 กรัม หรือ 1 ช้อนชา เช่น ซุป ข้าวต้ม น้ำข้าว อาหารจะช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวและดูดซับน้ำได้ดีขึ้น สำหรับทารกท้องเสียควรดื่มนมแม่บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แนวทางการให้อาหารคนป่วยท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ ดังนี้

    • ให้อาหารคนป่วยทุก 1-2 ชั่วโมง และให้ขนมหรือผลไม้ระหว่างมื้อ อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานมากขึ้นในแต่ละมื้อเพื่อสารอาหารที่เพียงพอ
    • ให้อาหารที่คนป่วยชอบและรับประทานง่าย แต่ควรเป็นอาหารที่ให้พลังงานและอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ไข่ นม อาจเพิ่มอาหารที่มีไขมัน เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง เพื่อเพิ่มพลังงาน
    • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหลังอาบน้ำหรือเช็ดตัว ปากสะอาด จมูกไม่อุดตัน และอุณหภูมิต่ำลง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและสบายตัวทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
    • ให้ผู้ป่วยนั่งรับประทานอาหาร และไม่ควรบังคับเด็กป่วยให้รับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการสำลัก หรือการอาเจียน
    • หากผู้ป่วยนอนพักให้วางน้ำและอาหารไว้ใกล้ ๆ เพื่อง่ายต่อการรับประทาน

    ตัวอย่างอาหารสำหรับคนป่วยท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือมีไข้

    • รับประทานอาหาร BRAT คือ กล้วย (ฺBanana) ข้าว (Rice) ซอสแอปเปิ้ล (Apple sauce) และขนมปังปิ้ง (Toast) เพราะเป็นอาหารที่มีเส้นใยต่ำ ช่วยให้อุจจาระไม่เหลว และกล้วยยังมีโพแทสเซียมสูงช่วยทดแทนสารอาหารที่ร่างกายสูญเสียไปจากอาการท้องเสีย
    • อาหารรสจืด ที่ช่วยให้สบายท้องมากขึ้น สามารถใส่โปรตีนหรือผักเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เช่น ข้าวต้มปลา โจ๊กหมู อกไก่
    • ผักและผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย แอปเปิ้ลอบ มันฝรั่งต้ม ลูกพีช หรือซอสแอปเปิ้ล เหล่านี้มีเส้นใยต่ำและช่วยเพิ่มสารอาหาร
    • ขิง อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ เช่น น้ำขิง ชาขิง อมลูกอมขิง
    • อาหารแห้ง การรับประทานอาหารแห้งอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ เช่น ซีเรียลแห้ง ขนมปังปิ้ง แครกเกอร์
    • อาหารเย็นและอาหารไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นเล็กน้อย เนื่องจาก กลิ่นอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้และอาหารเย็นอาจช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวและลดอาการคลื่นไส้ เช่น ไอศกรีม ผลไม้แช่แข็ง โยเกิร์ต

    อาหารคนป่วยพักฟื้น

    คนป่วยกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นอาจต้องการอาหารมากกว่าปกติ เนื่องจาก ร่างกายอาจสูญเสียวิตามินเอ ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่น ๆ ในช่วงป่วย ทำให้ช่วงพักฟื้นคนป่วยจึงต้องการรับประทานอาหารมากขึ้น คนป่วยพักฟื้นจึงควรได้รับอาหารที่หลากหลายเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ดังนี้

    • โปรตีน เป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหลอของร่างกายจากการเจ็บป่วย คนป่วยพักฟื้นจึงควรรับประทานโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ไข่ ปลาแซลมอน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไก่
    • คาร์โบไฮเดรต คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานหลักและช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ผู้ป่วยจึงควรรับประทานซีเรียล ข้าวโอ๊ต ขนมปังปิ้ง พุดดิ้งนม มันฝรั่ง น้ำตาลจากเค้ก ขนมที่ไม่มีไขมัน
    • ผักและผลไม้ คนป่วยพักฟื้นสามารถรับประทานผักปรุงสุกได้ทุกชนิดและสามารถรับประทานผลไม้ได้ แต่ควรเป็นส่วนสุดท้ายของมื้ออาหาร เช่น องุ่น น้ำผลไม้คั้นสด
    • ไขมัน ผู้ป่วยพักฟื้นสามารถรับประทานไขมันได้ แต่ควรเป็นไขมันที่มาจากธรรมชาติ เช่น อะโวคาโด ไขมันจากปลา น้ำมันมะกอก
    • ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจเสียน้ำปริมาณมากจึงควรดื่มน้ำเพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป ซึ่งอาจมาจากอาหาร เช่น ข้าวต้ม ซุป โจ๊ก และจากเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า ชา กาแฟ น้ำผลไม้คั้นสด

    อาหารคนป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์

    คนป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ควรได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้พลังงานสูง เพื่อบำรุงร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันน้ำหนักลดลงและช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีได้ยาวนานขึ้น

    ปริมาณแคลอรี่ที่คนป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ควรได้รับเพื่อรักษามวลกาย คือ

  • เพื่อรักษาระดับน้ำหนักผู้ป่วยควรบริโภค 51 แคลอรี่/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อฉวยโอกาสควรบริโภค 60 แคลอรี่/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • ผู้ป่วยที่น้ำหนักลดลงควรบริโภค 75 แคลอรี่/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • โปรตีน คนป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ควรได้รับประทานโปรตีนให้เพียงพอเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน ดังนี้

    • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรกินโปรตีน 100-150 กรัม/วัน สำหรับผู้หญิง 80-100 กรัม/วัน
    • หากมีโรคไตร่วมด้วยไม่ควรกินแคลอรี่จากโปรตีนมากกว่า 15-20% เพราะอาจทำให้ไตทำงานหนัก
    • เลือกกินเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ปลา ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เนยถั่ว ชีส ทูน่ากระป๋อง

    คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย จึงควรรับประทาน ดังนี้

    • กินผักและผลไม้ที่หลากหลาย 5-6 ส่วน หรือประมาณ 3 ถ้วย ในทุกมื้อ
    • ควรเลือกพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ควีนัว ขนมปังโฮลวีต ข้าวบาร์เลย์ มันฝรั่ง
    • จำกัดการกินน้ำตาลปรุงแต่ง เช่น ลูกอม เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม

    ไขมัน เป็นพลังงานเสริมของร่างกาย ควรรับประทาน ดังนี้

    • ควรได้รับแคลอรี่จากไขมัน 30% ต่อวัน ซึ่ง 10% ควรมาจากไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่น ถั่ว เมล็ดพืช อะโวคาโด ปลา และน้ำมันมะกอก
    • ควรได้รับแคลอรี่จากไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนน้อยกว่า 10% ต่อวัน เช่น วอลนัท เมล็ดแฟลกซ์ ข้าวโพด ทานตะวัน ถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย
    • ไขมันอิ่มตัวควรน้อยกว่า 7% ของแคลอรี่ทั้งหมด เช่น เนื้อติดไขมัน น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

    วิตามินและแร่ธาตุ ช่วยซ่อมแซมและรักษาเซลล์ที่เสียหาย และส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนี้

    • วิตามินซี ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม เบอร์รี่
    • วิตามินบี เช่น เนื้อสัตว์ อะโวคาโด บร็อคโคลี่ ผักใบเขียว ธัญพืช ถั่ว
    • วิตามินเอและเบตาแคโรทีน เช่น ผักและผลไม้สีเขียวเข้ม สีส้ม สีเหลือง หรือสีแดง ตับ ไข่ นม
    • วิตามินอี เช่น ผักใบเขียว ถั่วลิสง น้ำมันพืช
    • สังกะสี (Zinc) เช่น สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว ผลิตภัณฑ์นม
    • ซีลีเนียม (Selenium) เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว สัตว์ปีก ปลา ไข่ เนยถั่ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 18/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา