backup og meta

การกินอาหาร คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low-Carb Diets) มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    การกินอาหาร คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low-Carb Diets) มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

    การกินอาหารที่มี คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low-Carb Diets) และมีโปรตีนสูง เพื่อการลดน้ำหนัก ถือเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถช่วยลดน้ำหนัก และยังทำให้การเผาผลาญพลังงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่แนะนำว่าการลดความอ้วนด้วยวิธีนี้ในระยะยาว อาจส่งผลต่อสุขภาพ

    การลดน้ำหนักด้วยการกินอาหารที่มี คาร์โบไฮเดรตต่ำ ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

    การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low-Carb Diets) หรือที่บางคนเรียกว่า โลว์คาร์บ หมายถึงการกินคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง และเพิ่มการกินโปรตีน โดยการลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้มักจะแนะนำว่า ควรได้รับแคลอรี่จากการกินโปรตีน 30% ถึง 50% ของแคลอรี่ทั้งหมด

    หลักการของการลดน้ำหนัก ด้วยการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำคือ โดยปกติแล้วร่างกายจะเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และเมื่อลดการกินคาร์โบไฮเดรตอย่างรุนแรง โดยกินคาร์โบไฮเดรตเพียง 20 กรัมต่อวัน ร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญที่เรียกว่า คีโตซิส (ketosis) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีน้ำตาล (กลูโคส) ไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นพลังงาน ดังนั้นร่างกายจึงสลายไขมันที่สะสมไว้ ทำให้เกิด คีโตน (ketone) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดจากการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ส่วนผลข้างเคียงจากภาวะคีโตซิสนั้น อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดหัว และมีกลิ่นปาก

    นอกจากนี้ เมื่อไขมันกลายเป็นแหล่งพลังงานหลัก ร่างกายก็จะนำไขมันมาใช้ ส่งผลให้น้ำหนักของคุณลดลง เพิ่มเติมไปกว่านั้น การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาจช่วยลดระดับอินซูลิน ที่จะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน และคุณจะลดน้ำหนักได้ในที่สุด

    ความเสี่ยงจากการกินอาหาร คาร์โบไฮเดรตต่ำ และ โปรตีนสูง

    หลายคนเปลี่ยนมากินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและมีโปรตีนสูง เพื่อลดน้ำหนักและเพื่อปรับปรุงการเผาผลาญของร่างกาย แต่มีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ The Lancet ที่แนะนำว่าการลดความอ้วนด้วยวิธีนี้เป็นเวลาหลายปี หรือหลายสิบปี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการ European Society of Cardiology ที่แสดงผลลัพธ์ที่คล้ายกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่กินคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่กินคาร์โบไฮเดรตน้อยที่สุด มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคมะเร็ง ดังนั้นการลดน้ำหนักด้วยการกินคาร์โบไฮเดรตต่ำในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพ

    นอกจากนี้การลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตกะทันหัน อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

    • ปวดหัว
    • มีกลิ่นปาก
    • อ่อนเพลีย
    • ตะคริวที่กล้ามเนื้อ
    • ผื่นที่ผิวหนัง
    • อาการท้องผูกหรือท้องเสีย

    มากไปกว่านั้น การลดน้ำหนักด้วยการลดคาร์โบไฮเดรตเป็นเวลานาน อาจทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุ สูญเสียมวลกระดูก และรบกวนระบบทางเดินอาหาร รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ

    การลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ เหมาะกับคุณหรือไม่

    ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนักด้วยการกินอาหารโปรตีนสูง และคาร์โบไฮเดรตต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ เพื่อให้แพทย์ช่วยวางแผนการกินให้คุณได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และกินผักและผลไม้ รวมถึงโปรตีนที่มีไขมันต่ำในปริมาณที่เพียงพอ

    อย่างไรก็ตาม ควรจำไว้ว่าการลดน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย ที่คุณสามารถทำได้เป็นระยะเวลานาน ไม่ใช่การควบคุมอาหารหรืออดอาหารเพียงชั่วคราว

    ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ด้วยการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ

    • นอกจากโปรตีนจากสัตว์แล้ว ควรได้รับโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น
    • กินผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น ผักโขม และบล็อกโคลี
    • เวลากินเนื้อสัตว์ ควรเอาหนังออกเพื่อลดปริมาณไขมันอิ่มตัว
    • กินไขมันดี เช่น ไขมันจากถั่ว งา และอโวคาโด
    • ควรกินผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีการเพิ่มน้ำตาล

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา