backup og meta

เบื่ออาหาร อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 18/09/2023

    เบื่ออาหาร อาการ สาเหตุ การรักษา

    เบื่ออาหาร หมายถึงความรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร หรือมีความต้องการรับประทานอาหารลดลงแม้จะถึงเวลารับประทานอาหาร การเบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาสุขภาพทางร่างกายหรือปัญหาสุขภาพทางจิต อีกทั้งยังอาจเป็นสัญญาณโรคบางอย่างที่ร้ายแรงได้ 

    เบื่ออาหาร คืออะไร 

    เบื่ออาหาร หมายถึงความรู้สึกไม่อยากอาหาร ไม่สนใจอาหารใด ๆ ทุกชนิด หรือรับประทานอาหารในปริมาณน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า น้ำหนักลด หากไม่ได้รับประทานอาหารให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน อาการเบื่ออาหารในระยะเวลาสั้น ๆ มักจะมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไข้หวัด แต่หากมีอาการเบื่ออาหารเป็นเวลานานอาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็ง โรคเอดส์ โรคซึมเศร้า

    อาการของการเบื่ออาหาร

    การเบื่ออาหารอาจมีอาการ ดังนี้ 

    • ไม่อยากอาหาร 
    • เหนื่อยล้า 
    • คลื่นไส้ อาเจียน 
    • ปวดท้อง 
    • น้ำหนักลด 
    • งดอาหาร
    • นอนไม่หลับ 
    • หงุดหงิด วิตกกังวล 

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่ 

    ผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย 

    • ปวดท้อง มีไข้ 
    • อาเจียนตลอดทั้งวัน 
    • ปัสสาวะไม่ปกติ 
    • หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ 

    สาเหตุของการเบื่ออาหาร

    เบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

    • ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ผู้สูงอายุอาจมีการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ช้าลง ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น และเบื่ออาหารได้ 
    • ผลข้างเคียงของยา เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาต้านเชื้อรา ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการซึมเศร้า เคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง 
    • ปัญหาสุขภาพร่างกาย อาการเบื่ออาหารส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เช่น ไข้หวัด อาหารเป็นพิษ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพร่างกายอื่น ๆ เช่น
      • ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก 
      • ไมเกรน 
      • โรคเบาหวาน
      • โรคหอบหืด 
      • โรคโลหิตจาง 
      • โรคโครห์น (Crohn’s Disease) การอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้
      • โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง 
      • โรคเอดส์ 
      • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
      • โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
      • ไฮโปไทรอยด์ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย) 
      • ไฮเปอร์ไทรอยด์ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป)
      • ภาวะหัวใจวาย 
      • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง 
      • ตับวายเรื้อรัง หรือไตวายเรื้อรัง 
      • มะเร็งรังไข่ 
      • มะเร็งกระเพาะอาหาร
      • มะเร็งลำไส้
  • ปัญหาสุขภาพจิต สภาวะสุขภาพทางจิตอาจมีผลกระทบทำให้เบื่ออาหาร เช่น
    • ความเครียด 
    • ความเศร้า 
    • ความวิตกกังกังวล
    • ภาวะซึมเศร้า 
    • โรคแพนิก (Panic disorder)
    • โรคไบโพลาร์
    • โรคกลัวอ้วน 
    • โรคบูลีเมีย หรือโรคล้วงคอ (Bulimia)
  • การวินิจฉัยการเบื่ออาหาร

    คุณหมออาจวินิจฉัยอาการเบื่ออาหาร โดยการซักประวัติ เช่น ระยะเวลาในการเบื่ออาหาร ความอยากอาหารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมไปถึงการตรวจร่างกายโดยการใช้มือคลำท้อง เพื่อสัมผัสดูว่าอาการกดเจ็บ หรือมีก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ รวมถึงอาจมีการทดสอบเพิ่มเติม ดังนี้ 

    • การตรวจเลือด เพื่อดูสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น ไฮโปไทรอยด์ โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือ ภาวะลำไส้เล็กมีการทำงานที่ผิดปกติ เอชไอวี (HIV)
    • การส่องกล้อง หรือการเอกซ์เรย์ เพื่อตรวจระบบทางเดินอาหาร ว่ามีความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กหรือไม่
    • การทำ CT Scan หรืออัลตราซาวด์บริเวณท้อง เพื่อตรวจดูความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

    การรักษาการเบื่ออาหาร  

    คุณหมออาจจ่ายยาบางอย่าง เช่น ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ก่อนรับประทานอาหาร หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า อาจใช้จิตบำบัดและยากล่อมประสาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ หากอาการเบื่ออาหารเกิดขึ้นจากการใช้ยา คุณหมออาจเปลี่ยนยาหรือลดปริมาณการให้ยา นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจสามารถเยียวยารักษาตนเองที่บ้านได้ดังนี้ 

    • การแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยแทนการรับประทานอาหารที่เป็นมื้อใหญ่ 3 มื้อ หรือดื่มเครื่องดื่มสมูทตี้ โปรตีน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
    • การเปลี่ยนบรรยากาศหรือสถานที่ในการรับประทานอาหาร เพื่อให้รู้สึกว่าการรับประทานอาหารสนุก ไม่น่าเบื่อ 
    • การเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร ด้วยเครื่องเทศ สมุนไพร หรือเครื่องปรุง เพื่ออาจกระตุ้นความอยากในการรับประทานอาหาร 
    • การออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน อาจช่วยเพิ่มความอยากอาหาร

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 18/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา