backup og meta

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/05/2022

    โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา

    โรคขาดสารอาหาร เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ รวมไปถึงวิตามินและแร่ธาตุ ไม่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ จนอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อาจส่งผลให้น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูก ขาดพลังงานในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    คำจำกัดความ

    โรคขาดสารอาหาร คืออะไร

    โรคขาดสารอาหาร คือ โรคที่เกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน หรือเกิดจากความบกพร่องในระบบย่อยอาหาร ที่ไม่สามารถเผาผลาญอาหารและเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่ร่างกายได้ จึงส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ

    อาการ

    อาการของโรคขาดสารอาหาร

    อาการของโรคขาดสารอาหาร มีดังนี้

    • น้ำหนักลดลงต่ำกว่าเกณฑ์
    • เหนื่อยล้าง่าย และอาจรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
    • อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
    • วิงเวียนศีรษะ
    • ผิวแห้ง
    • ผมร่วง
    • เจ็บป่วยบ่อย และใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว
    • การทำงานของสมองบกพร่อง ไม่มีสมาธิ
    • หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า
    • แผลหายช้า
    • สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดข้อต่อ
    • เลือดออกตามไรฟัน
    • ตาแห้ง ตาพร่ามัว โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
    • รู้สึกเบื่ออาหาร
    • ท้องร่วง

    ควรเข้าพบคุณหมอทันทีที่สังเกตว่าน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ

    สาเหตุ

    สาเหตุของโรคขาดสารอาหาร

    สาเหตุของโรคขาดสารอาหาร มีดังนี้

    ภาวะทางสุขภาพ

    • ลำไส้ใหญ่บวมหรือเป็นแผล ที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร
    • ภาวะสมองเสื่อม ที่อาจส่งผลให้หลงลืมการรับประทานอาหาร
    • ภาวะซึมเศร้าหรือโรคจิตเภท ที่อาจส่งผลกระทบอารมณ์และความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร
    • โรคมะเร็ง ที่อาจทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานอาหาร เนื่องจากอาจมีอาการเจ็บปวดและคลื่นไส้บ่อยครั้ง
    • ปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ปวดฟัน ฟันผุ ฟันแตกหักง่าย รวมถึงฟันปลอมหลวม ที่อาจส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้รับประทานอาหารน้อยลงหรือไม่ยอมรับประทานอาหาร
    • ปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่สามารถขยับตัวได้ เป็นอัมพาต หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ส่งผลให้การหุงหาอาหารเป็นเรื่องลำบาก

    ยา

    เนื่องจากยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านซึมเศร้า ยาลดกรด ยาปฏิชีวนะ อาจส่งผลข้างเคียงให้ความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร หรือมีอาการท้องร่วง จึงอาจทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อย

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคขาดสารอาหาร

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคขาดสารอาหาร มีดังนี้

    • ผู้ที่มีรายได้น้อย
    • ผู้ที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และปัญหาสุขภาพ ที่อาจทำให้จำเป็นต้องอยู่กับที่
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยรุนแรง
    • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมสารอาหาร
    • ผู้สูงอายุ

    การวินิจฉัยและการรักษา

    การวินิจฉัยโรคขาดสารอาหาร

    คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพ และทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และตรวจอัลบูมิน (Albumin) เพื่อทราบค่าโปรตีนและสารอาหารว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ รวมถึงการวัดดัชนีมวลกายเพื่อดูว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่

    การรักษาโรคขาดสารอาหาร

    วิธีการรักษาโรคขาดสารอาหารอาจแตกต่างกันออกไปตามอาการของผู้ป่วย โดยคุณหมอจะวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล ดังนี้

    • อาจวางแผนให้รับประทานอาหาร 3 มื้อ/วัน และอาจให้รับประทานของว่าง 2-3 มื้อ ในระหว่างวัน เช่น ขนมปัง แพนเค้กกับเนย โยเกิร์ต เยลลี่ ผลไม้อบแห้ง บิสกิต เค้ก ซีเรียล
    • เน้นการรับประทานที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่ว
    • เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง เช่น เนย ชีส น้ำมันมะกอก ครีม
    • อาจเพิ่มปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ช็อคโกแลตร้อน

    นอกจากนี้ คุณหมออาจให้รับประทานอาหารเสริมที่มีแคลอรี่สูง และมีสารอาหารต่าง ๆ ประกอบ เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ควบคู่กับการรับประทานอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มสารอาหารให้ร่างกาย

    สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ คุณหมออาจให้อาหารผ่านทางสายยางเข้าสู่กระเพาะอาหารโดยตรงหรืออาจให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือด

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคขาดสารอาหาร

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคขาดสารอาหาร อาจทำได้ดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
    • รับประทานอาหารประเภทแป้ง เช่น ขนมปังขาว ข้าว พาสต้า มันฝรั่ง ในปริมาณที่เหมาะสม อย่างน้อย 130 กรัม/วัน
    • รับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ชีส เนย ไข่ ถั่ว
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา