backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือ Respiratory tract infections หรือ uriคือ เป็นการติดเชื้อที่โพรงจมูก (sinus) คอ ทางเดินหายใจ หรือปอด มักเกิดจากไวรัส หรือแบคทีเรีย ทั้งนี้ โรคหวัดนับเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ที่มีการแพร่กระจายมากที่สุด

คำจำกัดความ

ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คืออะไร

ติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือ uriคือ การติดเชื้ออะไรก็ตามที่โพรงจมูก (sinus) คอ ทางเดินหายใจ หรือปอด มักเกิดจากไวรัส แต่ก็อาจเกิดจากแบคทีเรียได้

โดยทั่วไปผู้ทำงานด้านสุขภาพมักโรคนี้ออกเป็นสองแบบคือ

  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infections) ที่มีผลต่อจมูก โพรงจมูก และคอ
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower respiratory tract infections) ที่มีผลต่อทางเดินหายใจและปอด

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • โรคหวัดทั่วไป
  • ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เป็นการติดเชื้อของต่อมทอนซิลและเนื้อเยื่อบริเวณด้านหลังคอ
  • โพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นการติดเชื้อที่โพรงจมูก
  • กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) เป็นการติดเชื้อที่กล่องเสียง (larynx)
  • ไข้หวัดใหญ่ (Flu)

ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นเหตุผลที่พบได้มากที่สุด ในการทำให้ผู้ป่วยไปพบคุณหมอ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนสามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่มักพบได้มากที่สุดในฤดูฝนและฤดูหนาว โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีอะไรบ้าง

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหล
  • มีน้ำมูก (อาจเปลี่ยนจากสีใสเป็นสีขาวและเป็นสีเขียว)
  • หายใจทางปาก
  • จาม
  • คอเจ็บหรือเป็นแผล
  • รู้สึกเจ็บคอเมื่อกลืน
  • ไอ (กล่องเสียงบวม และมีเสมหะไหลลงคอ)
  • มีอาการไม่สบายตัว
  • มีอาการไข้ (พบมากในเด็ก)

อาการอื่น ๆ ที่พบได้น้อยกว่า ได้แก่

  • ลมหายใจมีกลิ่น
  • ความสามารถในการดมกลิ่นลดลง
  • ปวดศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • ปวดโพรงจมูก
  • เยื่อบุตาอักเสบ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดตามร่างกาย

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมักคงอยู่ 3-14 วัน หากอาการคงอยู่นานเกินกว่า 14 วัน อาจต้องพิจารณาถึงอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ ปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบ

หากอาการแย่ลงหลังหายจากอาการอย่างเช่น ไอ น้ำมูกไหล หรือเยื่อบุตาอักเสบแล้ว อาจต้องพิจาณาถึงโรคคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (คออักเสบเนื่องจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ) การตรวจรักษาอย่างทันท่วงที และการเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากอาจมีความเสี่ยงของไข้รูมาติกได้ โดยเฉพาะในเด็ก

ฝากล่องเสียงอักเสบ (Epiglottitis) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนในเด็กอีกชนิดหนึ่ง ที่อาจมีอาการฉับพลัน เช่น เจ็บคอ รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ เสียงพูดคล้ายอมวัตถุอยู่ในลําคอ ไอแห้ง  มีอาการกลืนลำบากมาก และน้ำลายไหล

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่เกิดในบริเวณช่วงล่างของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น กล่องเสียงและท่อลมอักเสบ (laryngotracheitis) มักวินิจฉัยได้ด้วยอาการไอแบบแห้งๆ และเสียงแหบ หรือเสียงหาย อาการไอเสียงก้องหรือไอกรน (whooping cough) อาการขย้อน และอาการเจ็บซี่โครง (จากการไอที่รุนแรง)

อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเกิดจากอะไร

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โดยทั่วไปเกิดจากการแพร่กระจายโดยตรงของไวรัสและแบคทีเรียในบริเวณเยื่อเมือก (mucosa or mucus membrane) ของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งการที่เชื้อโรค (ไวรัสและแบคทีเรีย) แพร่กระจายไปยังบริเวณเยื่อเมือกของทางเดินหายใจส่วนบน จะต้องเจอการต้านทานจากกลไกการปกป้องทางร่างกายและภูมิคุ้มกันหลายประการ

ขนจมูก ทำหน้าที่เป็นกลไกการปกป้องทางร่างกาย และสามารถดักจับเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ เมือกชื้นภายในช่องจมูก สามารถดักจับไวรัสและแบคทีเรียที่เข้ามายังทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างคล้ายขนขนาดเล็ก (cilia) ที่อยู่ตามแนวหลอดลม ซึ่งทำหน้าที่ดันสิ่งแปลกปลอมขึ้นด้านบนไปยังคอหอย เพื่อให้ถูกกลืนเข้าไปในทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร

นอกเหนือจากกลไกการป้องกันทางร่างกายที่หนาแน่นในทางเดินหายใจส่วนบนแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันยังทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ที่เข้ามายังทางเดินหายใจส่วนบน ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoids) และทอนซิล (tonsils) ที่อยู่ในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยต้านทานการติดเชื้อ จากการทำหน้าที่ของเซลล์เฉพาะ สารภูมิต้านทาน และสารเคมีภายในต่อมน้ำเหลือง จุลินทรีย์ที่แพร่กระจายถูกดักจับภายในสิ่งเหล่านี้ และถูกทำลายลงในที่สุด

ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการในการป้องกัน แต่ไวรัสและแบคทีเรียที่แพร่เข้ามาอาจปรับกลไกต่างๆ เพื่อต้านการทำลายได้ บางครั้งสามารถผลิตสารพิษ เพื่อทำให้ระบบป้องกันร่างกายบกพร่อง หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเอง หรือโปรตีนเชิงโครงสร้างภายนอก เพื่อพรางตัวจากการถูกตรวจจับได้โดยระบบภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียบางชนิดสามารถสร้างสารช่วยยึดติด ที่ทำให้แบคทีเรียสามารถติดกับเยื่อเมือก และช่วยพรางการทำงานได้

เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันที่ต้องระบุว่า เชื้อโรคมีความสามารถหลากหลายในการเอาชนะระบบป้องกันร่างกาย และทำให้เกิดภาวะติดเชื้อ

นอกจากนี้ เชื้อโรคใช้เวลาแตกต่างกันในการก่อตัว นับจากการแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายไปจนถึงเมื่อเกิดอาการขึ้น (ระยะฟักตัว) เชื้อโรคทั่วไปบางประเภทสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและระยะฟักตัวของโรคมีดังนี้

  • ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ระยะฟักตัว 1-5 วัน
  • สเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ระยะฟักตัว 1-5 วัน
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัสพาราอินฟลูเอนซ่า (parainfluenza) ระยะฟักตัว 1-4 วัน
  • ไวรัส RSV (Respiratory syncytial virus) ระยะฟักตัว 7 วัน
  • ไอกรน ระยะฟักตัว 7-21 วัน
  • โรคคอตีบ ระยะฟักตัว 1-10 วัน
  • ไวรัส EBV(Epstein-Barr virus) ระยะฟักตัว 4-6 สัปดาห์

ปัจจัยเสี่ยง

อะไรที่เพิ่มความเสี่ยงสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนหลายประการ เช่น

  • การสัมผัสร่างกายหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • ล้างมือไม่สะอาดหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • สัมผัสใกล้ชิดกับเด็กที่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ โรงเรียน หรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก
  • สัมผัสกับผู้อื่นในกลุ่มปิด เช่น การท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์ เรือสำราญ
  • การสูบบุหรี่หรือการสูดควันบุหรี่มือสอง ทำให้การทำงานของเยื่อเมือกบกพร่องและทำลายขนขนาดเล็กในหลอดลม (cilia)
  • สิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล สถานพยาบาล
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (Immunocompromised state) เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี การปลูกถ่ายอวัยวะ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด (congenital immune defects) การใช้สารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  • ความผิดปกติทางกายวิภาค (Anatomical abnormalities) เช่น การบาดเจ็บที่ใบหน้า (facial truama) การบาดเจ็บบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน (upper airway trauma) และริดสีดวงจมูก (nasal polyps)

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอไม่มีเจตนาให้ใช้แทนคำแนะนำทางการแพทย์ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้อย่างไร

ในการประเมินผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน จำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยทางเลือกอื่นๆ การวินิจฉัยโดยทั่วไปและที่สำคัญบางประการที่มีอาการคล้ายโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่

  • โรคหอบหืด
  • โรคปอดบวม
  • ไข้หวัด H1n1 (สุกร)
  • อาการไข้
  • อาการแพ้
  • อาการภูมิแพ้ตามฤดูกาล
  • โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง
  • การติดเชื้อเอชไอวีฉับพลัน
  • หลอดลมอักเสบ

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมักยึดตามการตรวจอาการ การตรวจร่างกาย และในบางโอกาสยึดตามการตรวจในห้องปฏิบัติการ

ในการตรวจร่างกายของผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน แพทย์อาจตรวจหาอาการบวมหรือรอยแดงภายในโพรงจมูก (อาการอักเสบ) รอยแดงในลำคอ ต่อมทอนซิลขยายตัว มีสารสีขาวจากต่อมทอนซิล (exudates) ต่อมน้ำเหลืองโตรอบศีรษะและลำคอ ตาแดง และอาการกดเจ็บบริเวณใบหน้า อาการอื่นๆ ได้แก่ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ไอ เสียงแหบ และเป็นไข้

การตรวจในห้องปฏิบัติการมักไม่แนะนำสำหรับการวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เนื่องจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส การตรวจเฉพาะจึงไม่จำเป็น เนื่องจากโดยปกติแล้วจะไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากไวรัสในประเภทต่าง ๆ

สถานการณ์สำคัญที่การทดสอบเฉพาะมีความจำเป็น ได้แก่

  • อาการคออักเสบที่น่าสงสัย (มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตที่ลำคอ ต่อมทอนซิลมีรอยสีขาว ไม่มีอาการไอ) ซึ่งจำเป็นต้องตรวจแอนจิเจนโดยเร็ว เพื่อรับมือกับอาการ ซึ่งอาจมีผลอย่างรุนแรงหากไม่รักษา
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ตรวจโดยการเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ป้ายจากจมูก ลำคอ หรือเสมหะ
  • อาการเรื้อรัง เนื่องจากการตรวจหาไวรัสจำเพาะสามารถช่วยให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่จำเป็น (เช่น การตรวจไวรัสไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็วจากการป้ายจมูกหรือช่องคอ)
  • การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้และหอบหืดซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการเรื้อรังและผิดปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองโตและเจ็บคอ ที่เป็นอาการพื้นฐานที่อาจเกิดจากไวรัส Ebstein-Barr (mononucleosis) ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลารักษานานขึ้น (ด้วยวิธี monospot test)
  • การตรวจหาโรคไข้หวัด H1N1 (ไข้หวัดหมู) หากสงสัยว่าจะเป็นโรค

การตรวจการทำงานของเลือดและการตรวจโดยใช้ภาพถ่าย อาจไม่จำเป็นในการประเมินโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน การตรวจเอ็กซเรย์ที่ลำคอสามารถทำได้ หากสงสัยว่ามีภาวะฝากล่องเสียงอักเสบ (epiglottitis) ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะฝากล่องเสียงบวมแต่การเกิดของภาวะดังกล่าวมีผลต่ออาการ การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT scans) สามารถใช้ได้หากมีอาการโพรงจมูกอักเสบเกินกว่า 4 สัปดาห์ และสัมพันธ์กับการมองเห็นที่เปลี่ยนไป มีน้ำมูกไหลมาก หรือมีอาการตาโปน การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถระบุขอบเขตของการอักเสบที่โพรงจมูก การเกิดโพรงหนอง หรือการกระจายตัวของเชื้อไปยังบริเวณใกล้เคียง (เบ้าตาหรือสมอง)

วิธีรักษา ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

ตามที่ได้อธิบายข้างต้น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาเฉพาะ และต้องดูแลสุขภาพของตนเอง ผู้ป่วยมักวินิจฉัยอาการของตนเอง และรักษาอาการที่บ้านโดยไม่ไปพบแพทย์หรือใช้ยาที่ต้องให้แพทย์สั่ง

การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน กิจกรรมปกติ เช่น การทำงานหรือการออกกำลังกายเบา ๆ สามารถทำได้เท่าที่ร่างกายสามารถทำได้

การดื่มน้ำให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำในร่างกายจากน้ำมูกไหล อาการไข้ และภาวะความอยากอาหารน้อยที่สัมพันธ์กับโรคนี้

การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน มักจะต้องทำต่อเนื่องจนกว่าอาการจะหายไป

ยาสำหรับรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคหวัดบางชนิด ที่ใช้มากที่สุดในการรักษา ได้แก่

  • ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) อย่างเช่นไทลีนอล (Tylenol) ใช้ลดอาการไข้และปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal antiinflammatory drug) เช่น ยาไอบูโพรเฟน อย่างมอร์ทริน (Motrin) หรือแอดวิล (Advil) ใช้ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและอาการไข้
  • ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เช่น ยาไดเฟนไฮเดรมีน (diphenhydramine) อย่างเบนาดริล (Benadryl) ใช้เพื่อลดน้ำมูกและอาการคัดจมูก
  • ยาไอปราโทรเปียม (Nasal ipratropium) ยาเฉพาะที่ใช้ลดน้ำมูก
  • ยาแก้ไอ (antitussives) ใช้ลดอาการไอ ยาแก้ไอจำนวนมากที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ ยาเดกซ์โทรเมโทรเฟน (dextromethorphan) ยาไกวเฟนิซิน (guaifenesin) อย่างโรบิทุสซิน (Robitussin) และยาโคเดอีน (codeine) ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยรักษาอาการไอสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • น้ำผึ้งช่วยลดอาการไอ
  • ยาสเตียรอยด์บางตัว เช่น ยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone) (ยา Decadron) และยาเพรดนิโซน (prednisone) ที่ใช้รับประทาน (และสูดดม) ในบางครั้งใช้ลดอาการอักเสบของทางเดินหายใจ และลดอาการบวมและคัดจมูก
  • ยาลดอาการคัดจมูก (Decongestants) เช่น ยาซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) อย่างซูดาเฟด (Sudafed) แอคติเฟด ที่ใช้รับประทาน และยาฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) อย่างนีโอ-ไซนิฟริน (Neo-synephrine nasal) ใช้ลดอาการคัดจมูก (โดยปกติไม่แนะนำให้ใช้ยากับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง)
  • ยาน้ำพ่นจมูกออกซีเมทาโซลีน (Oxymetazoline) อย่าง อะฟริน (Afrin) เป็นยาลดอาการคัดจมูก แต่ควรใช้ในระยะสั้นเท่านั้น
  • ยาหลายชนิดที่มีส่วนผสมของส่วนผสมเหล่านี้ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา

    ยาแก้ไอและยาแก้หวัดบางตัวอาจก่อให้เกิดอาการง่วงซึมเป็นอย่างมาก และต้องใช้อย่างระมัดระวังในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และในผู้สูงอายุ

    ในบางครั้งอาจใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ หากสงสัยหรือวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการดังกล่าว ได้แก่ คออักเสบ โพรงจมูกอักเสบจากแบคทีเรีย หรือกล่องเสียงอักเสบ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แพทย์ที่ทำการรักษาสามารถระบุได้ว่า ยาปฏิชีวนะตัวใดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาโรคติดเชื้อเฉพาะ

    เนื่องจากยาปฏิชีวนะสัมพันธ์กับอาการข้างเคียงหลายประการ และอาจกระตุ้นการต่อต้านแบคทีเรียและการติดเชื้อทุติยภูมิ (secondary infection) จึงจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง และอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ที่ทำการรักษาเท่านั้น

    ยาเอฟิเนฟรีน (epinephrine) แบบสูดดม บางครั้งใช้ในเด็กที่มีอาการทางเดินหายใจหดเกร็งอย่างรุนแรง (bronchospasm) และใช้รักษาอาการกล่องเสียงและหลอดคออักเสบ (croup) เพื่อลดอาการดังกล่าว

    การผ่าตัดอาจไม่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการโพรงจมูกติดเชื้อที่ซับซ้อน อาการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจที่มีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย มีโพรงหนองด้านหลังลำคอ หรือมีฝีรอบต่อมทอนซิล (peritonsillar abscess)

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือกับ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

    อาการที่ชื้นและอบอุ่นจะช่วยบรรเทาความแห้งของช่องปากและช่องจมูกที่มีการติดเชื้อได้ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น น้ำมูกน้อยลง และขับน้ำมูกออกได้ง่ายขึ้น วิธีการดูแลร่างกายอย่างง่าย ๆ มีดังนี้

    • เปิดฝักบัวอาบน้ำโดยใช้น้ำร้อน (ระวังน้ำร้อนลวก) และสูดอากาศที่มีไอน้ำร้อนดังกล่าว
    • ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ (ชาร้อน ช็อคโกแลตร้อน นมอุ่น)
    • ใช้เครื่องทำไอน้ำเพื่อทำความชื้นในห้อง
    • หลีกเลี่ยงอากาศแห้งและเย็น หากเป็นไปได้
    • น้ำเกลือล้างจมูก (Nasal saline) สามารถช่วยรักษาอาการคัดจมูกได้ อาจซื้อแบบสำเร็จรูปจากร้านขายยยา หรือทำเองที่บ้านแบบง่าย ๆ ก็ได้ วิธีการก็คือ ให้เติมเกลือปริมาณหนึ่งในสี่ช้อนชาลงในน้ำที่มีอุณหภูมิห้องในปริมาณ 8 ออนซ์ แล้วคนให้ละลาย ใช้หลอดฉีดหรือขวดสเปรย์ขนาดเล็ก สำหรับฉีดสารละลายเกลือเข้าไปในรูจมูกทีละข้าง พร้อมกับหายใจเข้าอย่างช้า ๆ แล้วหายใจออกเพื่อขับเอาน้ำเกลือออกมาพร้อมกับน้ำมูก ใช้ได้หลายครั้งต่อวันตามที่ต้องการ
    • การประคบร้อน (ใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าอื่นที่ทำให้ร้อน) ที่บริเวณใบหน้า สามารถใช้รักษาอาการคัดจมูกได้เช่นกัน สามารถทำซ้ำได้ทุกสองถึงสามชั่วโมงตามที่ต้องการเพื่อบรรเทาอาการ
    • น้ำยากลั้วคอและการอมน้ำเกลือ ช่วยลดอาการระคายเคืองในลำคอและอาการคอแห้ง พร้อมทั้งบรรเทาอาการเกี่ยวกับคอได้
    • อาการไอสามารถบรรเทาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศเย็น ควันบุหรี่ ฝุ่น และสารมลพิษ การนอนในท่าเอนๆ อาจช่วยรักษาอาการไอได้เช่นกัน มีการศึกษาระบุว่า น้ำผึ้งสามารถช่วยลดอาการไอในเด็กที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้มากกว่าการใช้ยาเดกซ์โทรเมโทรเฟน (dextromethorphan)
    • การดื่มน้ำ น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีน สามารถช่วยลดน้ำมูกและทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา