backup og meta

ไข้หวัดนก (H5N1) โรคระบาดอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/03/2023

    ไข้หวัดนก (H5N1) โรคระบาดอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง!

    ปัจจุบันในต่างประเทศมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดิมที่สามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้ และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นคนไทยจึงควรกลับมาทำความเข้าใจโรคไข้หวัดนกอีกครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

    ทำความรู้จักกับไข้หวัดนก

    ไข้หวัดนก คือเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา สายพันธุ์ A(H5N1)  ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกและคนจำนวนมาก ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้สัตว์ปีกและผู้คนเกิดอาการป่วยรุนแรง โดยสันนิษฐานว่าไวรัสอาจแพร่กระจายมาจากนกป่าและติดต่อสู่สัตว์ปีกในครัวเรือน จากนั้นจึงแพร่กระจายสู่คนผ่านการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับสัตว์ปีกหรือมูลสัตว์

    เชื้อไวรัส H5N1 อาจสามารถกลายพันธุ์จนมีความรุนแรงขึ้นและสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น และอาจระบาดไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วเพราะน้อยคนที่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้

    รายงานจากรมควบคุมโรคปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หลังมีข่าวที่ประเทศกัมพูชา พบเด็กหญิงอายุ 11 ปี ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่บิดาอาจติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ และขณะนี้มีพบผู้ป่วยไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นอีก 2 รายในกัมพูชา ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ที่ประเทศไทยมีการระบาดของไข้หวัดนก ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด

    อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้มีการยกระดับเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เดิมที่กำลังกลับมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก และทุกคนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกับเหตุการณ์นี้ ควรดูแลตัวเองและคนในครอบครัวเพื่อป้องกันไข้หวัดนกด้วยเช่นกัน

    ไข้หวัดนกสายพันธุ์เดิมกลับมาอีกครั้งอันตรายแค่ไหน

    ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพระหว่างประเทศของกัมพูชา (Cambodia International Health Regulations หรือ IHR) รายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์  A (H5N1) ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ย่อยชนิดเดิมที่สามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้

    ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์  A (H5N1) มีระยะฟักตัวจนเกิดอาการประมาณ 2-3 วัน และอาจยาวนานถึง 17 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการปอดบวมรุนแรง และอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้น ได้แก่ ไข้สูง ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก ปอดบวมไม่แสดงอาการ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการปอดติดเชื้อ จนอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

    การรักษาโรคไข้หวัดนก

    การรักษาอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยสำหรับผู้ที่มีอาการในระยะเริ่มต้นคุณหมอรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสชนิดเดียวกับยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ และกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย เช่น

    • ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir)
    • ยาเพอรามิเวียร์ (Peramivir)
    • ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir)

    การใช้ยาควรได้รับการประเมินอาการและหาสาเหตุของโรคจากคุณหมอก่อน ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่

    วิธีป้องกันไข้หวัดนกด้วยการดูแลตัวเองและคนในครอบครัว อาจสามารถทำได้ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่าทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์และมูลสัตว์
    • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งที่สัมผัสกับสัตว์ และซักเสื้อผ้าที่สัมผัสกับสัตว์ทันที เพื่อขจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับเสื้อผ้า
    • สวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิด เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย หมวก โดยเฉพาะหากจำเป็นต้องใกล้ชิดและสัมผัสกับสัตว์
    • หากพบว่ามีสัตว์ปีกตายอย่างผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก
    • สังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอหากอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกตายอย่างผิดปกติ หากพบอาการ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล หอบเหนื่อย ให้เข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการทันที
    • ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาปรุงอาหารรับประทานเด็ดขาด
    • รับประทานอาหารที่สดใหม่ สะอาด ผ่านการปรุงสุก และหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ปีกในช่วงที่ไข้หวัดนกระบาด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา