backup og meta

ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen) สำหรับโควิด 19

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/12/2021

    ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen) สำหรับโควิด 19

    ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen) เป็นวิธีตรวจโควิดด้วยตนเอง โดยตรวจหาโปรตีนแอนติเจนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโรคโควิด-19 เบื้องต้นแบบเร่งด่วน รู้ผลไวภายใน 15 นาที สามารถใช้ทดสอบเองได้ที่บ้าน โดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากจมูก หรือคอ ผลตรวจอาจแม่นยำมากขึ้นในผู้ที่ติดเชื้อระยะแรกและมีอาการของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ควรซื้อชุดตรวจที่ได้รับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาและหากผลตรวจเป็นลบ ควรทำการทดสอบซ้ำอีกครั้ง หรือหากผู้ทดสอบมีความเสี่ยงสูง ก็ควรเข้ารับการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น

    ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen) สำหรับโควิด 19 คืออะไร

    Antigen หรือ Rapid Antigen Test Kit (ATK) เป็นชุดที่ใช้ทดสอบการติดเชื้อโควิด 19 ได้ด้วยตนเอง โดยเป็นชุดตรวจหาโปรตีนแอนติเจนชนิดนิวคลีโอแคปซิด (Nucleocapsid หรือ N-protein) ของเชื้อไวรัสโคโรนา ชุดทดสอบ Antigen เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการบ่งชี้ชัดเจน หรือสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง อาจได้รับการทดสอบ Antigen เบื้องต้น ก่อนทำการทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ อีกครั้งเพื่อยืนยันผล

    วิธีใช้ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen)

    ชุดตรวจ Antigen สามารถใช้ตรวจได้หลายวิธี ทั้งเก็บตัวอย่างเยื่อบุจมูก หรือเก็บตัวอย่างน้ำลาย ทั้งนี้ ควรอ่านคำแนะนำข้างกล่องให้ละเอียดก่อนใช้ทุกครั้งว่าเป็นการเก็บตัวอย่างน้ำลายหรือเยื่อบุจมูก ชุดตรวจแอนติเจนประกอบไปด้วยอุปกรณ์ไม้สวอป (swab) หลอดเก็บเชื้อ ตลับทดสอบเชื้อ โดยมีวิธีทดสอบ ดังนี้

    1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ และฆ่าเชื้อบนอุปกรณ์ที่ต้องใช้วางชุดทดสอบ
    2. แยกตัวออกจากผู้อื่นก่อนทำการทดสอบ เนื่องจากต้องถอดหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ชุดทดสอบ
    3. สำหรับการทดสอบที่เก็บตัวอย่างเยื่อบุจมูก ให้เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย สอดไม้สวอปเข้าจมูกในแนวตรง ขนานกับเพดานปากจนชนกับเยื่อบุจมูกประมาณ 2.5 เซนติเมตร หมุนก้านสวอปไปมา 4-5 รอบ โดยให้ส่วนที่เป็นสำลีสัมผัสกับเยื่อบุจมูก จากนั้นดึงก้านสวอปออกมาและทำแบบเดิมอีกครั้งในจมูกข้างถัดไป
    4. สำหรับการทดสอบโดยเก็บตัวอย่างน้ำลาย อาจอมน้ำลายไว้ด้านใดด้านหนึ่งของกระพุ้งแก้ม หรือเก็บน้ำลายในแก้วทดสอบ จากนั้นนำไม้สวอปวนในน้ำลาย 4-5 รอบ เพื่อเก็บตัวอย่าง
    5. เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้วให้นำก้านสวอปใส่ในหลอดทดสอบเชื้อ ตั้งทิ้งไว้ 1 นาที จากนั้นนำก้านสวอปออก โดยกดด้านข้างหลอดเพื่อบีบปลายสำลีเพื่อให้ได้ตัวอย่างมากที่สุด
    6. หยดตัวอย่างในหลอดทดสอบลงไปในหลุมตลับทดสอบที่มีสัญลักษณ์แสดงตัว S ประมาณ 5 หยด แล้วจับเวลา 15 นาที และอ่านผลตรวจทันที ไม่ควรทิ้งไว้เพราะอาจทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้
    7. นำอุปกรณ์ทดสอบทั้งหมดแยกทิ้งลงในถุงขยะติดเชื้อ

    การอ่านผลการทดสอบ Antigen

    1. ตรวจสอบตลับทดสอบว่าใช้งานได้หรือไม่โดยให้สังเกตแถบสีบริเวณ C (Control line) หากไม่มีแถบสีขึ้นแสดงว่าชุดการทดสอบไม่สามารถใช้ได้ หรือหากแถบสีขึ้นบริเวณ T (Test line) ที่เดียว หรือไม่มีแถบสีขึ้นทั้ง C และ T ให้เปลี่ยนชุดอื่นและทำการทดสอบซ้ำอีกครั้ง
    2. หลังจากหยดสารตัวอย่างลงในตลับทดสอบ แล้วรอประมาณ 15 นาทีแล้ว หากแถบสีขึ้นทั้งบริเวณ C และ T แสดงว่าผลการทดสอบเป็นบวก พบการติดเชื้อโควิด 19 ควรเข้ารับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR อีกครั้งที่โรงพยาบาล และเข้ารับการรักษาในขั้นตอนต่อไป
    3. หากแถบสีบริเวณ C ขึ้นที่เดียวแสดงว่าผลการทดสอบเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อ ควรเก็บผลการทดสอบไว้และตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันผล

    สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 สูง หรือมีอาการบ่งชี้ ควรเข้ารับการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาลเพื่อความแม่นยำสูงสุด

    ความแม่นยำของชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen)

    จากงานวิจัยความแม่นยำในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดของชุดทดสอบ Antigen ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Medicine ปี พ.ศ. 2564 พบว่า ผู้ที่ใช้ชุดทดสอบ Antigen ในสัปดาห์แรกหลังเริ่มมีอาการ อาจมีผลการทดสอบแม่นยำเฉลี่ย 72% เมื่อเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 แต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งมีความแม่นยำของผลการทดสอบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 58% อาจเป็นเพราะผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 ในระยะแรกมักมีเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมากที่สุด ทำให้การตรวจด้วยชุดทดสอบ Antigen ในผู้ที่อาการและผู้ที่ติดเชื้อในระยะแรกได้ผลแม่นยำมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่สัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ผลตรวจ เป็นลบ ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อยืนยันผล

    การปฏิบัติตัวเมื่อทราบผลจากการตรวจแอนติเจน (Antigen)

    • กรณีทดสอบ Antigen แล้วได้ผลลบ ให้ทดสอบซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน หรือเมื่อมีอาการ เนื่องจากการตรวจเพียงครั้งเดียวอาจยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไม่ติดเชื้อจริง ดังนั้น ระหว่างรอตรวจครั้งต่อไปควรกักตัวเองและแยกตัวออกจากผู้อื่นจนกว่าจะได้รับการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง
    • กรณีทดสอบ Antigen แล้วได้ผลบวก แยกตัวออกจากผู้อื่นทันทีเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ จากนั้นติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยให้บริการใกล้บ้าน เพื่อประเมินความเสี่ยง ตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมและเข้ารับการรักษาในขั้นตอนต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา