backup og meta

Hyperventilation Syndrome สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    Hyperventilation Syndrome สาเหตุ อาการ และการรักษา

    Hyperventilation Syndrome หรือกลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป หมายถึงการมีภาวะหายใจเร็วเกินไป โดยเป็นการหายใจถี่กว่าปกติซึ่งมักส่งผลให้ร่างกายขาดคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่อาการเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากความวิตกกังวล ความเครียด หรือโรคแพนิค ทั้งนี้ วิธีรักษา คุณหมอมักแนะนำให้ฝึกการหายใจรูปแบบต่าง ๆ หรือจ่ายยาสำหรับบรรเทาภาวะวิตกกังวลให้รับประทาน

    คำจำกัดความ

    Hyperventilation Syndromeคืออะไร

    Hyperventilation Syndrome หรือกลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ โดยผู้ป่วยจะหายใจออกเร็วถี่และหายใจเข้าลึกกว่าปกติ มีผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายเหลือน้อย และส่งผลกระทบให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติ รวมถึงเลือดไหลเวียนไปยังหัวใจและสมองได้ไม่สะดวก ทำให้ร่างกายมีอาการต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    ปกติแล้ว กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไปมักแสดงอาการเป็นครั้งคราว โดยมักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวลหรือแรงกดดัน โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้หญิงอายุระหว่าง 15-30 ปี

    อาการ

    อาการของHyperventilation Syndrome

    กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป มักแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • หายใจไม่อิ่ม หรือรู้สึกว่ายังได้รับอากาศไม่เพียงพอ
  • หายใจหอบถี่
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • หน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • มือหรือเท้าชา
  • เกร็ง มือหงิกงอ
  • แน่นท้อง
  • สาเหตุ

    สาเหตุของ Hyperventilation Syndrome

    กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไปมักเป็นผลมาจากความวิตกกังวล ความเครียด หรือโรคแพนิค และยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • การใช้สารกระตุ้น
    • การบริโภคยาเกินขนาด
    • ความรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง
    • การตั้งครรภ์
    • การติดเชื้อที่ปอด รวมถึงป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอดอย่างโรคหอบหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
    • ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis)
    • ศีรษะได้รับบาดเจ็บ
    • การเดินทางไปอยู่ในที่ที่มีระดับความสูงเหนือกว่า 6,000 ฟุต (1,828 เมตร)
    • จิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ควรไปพบคุณหมอ โดยเฉพาะหากพบว่าภาวะหายใจเร็วเกินไปมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ผิดปกติ ดังนี้

    • เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้าลึกแล้วเจ็บกว่าเดิม
    • หายใจไม่ออก หรือหายใจลำบาก
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ไข้ขึ้น รู้สึกหนาวสั่น
    • เป็นลม หมดสติ

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัย Hyperventilation Syndrome

    ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป คุณหมอจะสอบถามอาการคนไข้ ประวัติสุขภาพ การใช้ยา การผ่าตัด และโรคประจำตัว ตรวจร่างกายทั่วไป และอาจขอตรวจเลือดหรือเอกซเรย์หากสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ

    รวมทั้งเพื่อตรวจระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด

    การรักษา Hyperventilation Syndrome

    กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไปมักได้รับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การฝึกหายใจแบบต่าง ๆ เช่น การหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องแทนหน้าอก การหายใจทางรูจมูกโดยปิดปากไว้ การกลั้นหายใจครั้งละ 10-15 วินาทีแล้วค่อยผ่อนลมหายใจเข้าออกช้า ๆ
    • การลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายหรือเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ เพื่อฝึกให้จิตใจสงบ
    • การรับประทานยาเพื่อบรรเทาภาวะวิตกกังวล เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) ด็อกเซปิน (Doxepin) พาร็อกซีทีน (Paroxetine)
    • การพูดคุยกับเพื่อนหรือระบายความในใจกับคนที่ไว้ใจได้ เพื่อรับฟังคำปลอบโยนที่อาจช่วยให้รู้สึกดีมีกำลังใจ คลายความวิตกกังวล

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน Hyperventilation Syndrome

    กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไปอาจป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ผ่อนคลายจิตใจด้วยการทำสมาธิ โยคะ หรือไทเก๊ก เพื่อสร้างความสงบ ผ่อนคลาย
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน
    • หายใจด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำให้ฝึก หากเริ่มหายใจเร็วหรือลึกกว่าปกติ
    • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา