backup og meta

ระบบหายใจ คืออะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/12/2022

    ระบบหายใจ คืออะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร

    ระบบหายใจ หรือระบบทางเดินหายใจเป็นระบบการทำงานในร่างกายที่เกี่ยวข้องการหายใจเข้าออกเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด โดยประกอบไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ ทำงานร่วมกัน เช่น จมูก ปาก หลอดลม ปอด หากเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติและควรดูแลตัวเองให้ดี เพราะบางโรคอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

    ระบบหายใจ คืออะไร

    ระบบหายใจ หรือระบบทางเดินหายใจ คือ ระบบการทำงานในร่างกายที่ช่วยแลกเปลี่ยนออกซิเจนเมื่อหายใจเข้าและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อหายใจออก ซึ่งเมื่อออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกส่งต่อไปยังเซลล์ในร่างกายเพื่อช่วยให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น อีกทั้งระบบหายใจยังช่วยให้รับรู้กลิ่นได้อีกด้วย

    กระบวนการทำงานของ ระบบหายใจ

    กระบวนการทำงานของระบบหายใจเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ปาก จมูก ไซนัส คอหอย กล่องเสียง หลอดลม หลอดลมฝอย ปอด เส้นเลือดฝอย เยื่อหุ้มปอด ถุงลม ที่แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

    กระบวนการทำงานเมื่อหายใจเข้า

    กระบวนการหายใจเข้าเริ่มต้นจากกะบังลมหดตัวและเลื่อนต่ำลง ทำให้เกิดช่องว่างในปอด ให้อากาศสามารถไหลผ่านจมูกและปากเข้ามา โดยอากาศจะผ่านไซนัสที่มีส่วนช่วยควบคุมอุณหภูมิของอากาศและผ่านคอหอย กล่องเสียงที่จะนำส่งอากาศไปยังหลอดลมหลักซึ่งเชื่อมอยู่ระหว่างคอและปอด ก่อนจะลงไปยังหลอดลมฝอยที่เชื่อมกับปอดด้านซ้ายและด้านขวา จากนั้นอากาศจะเข้าสู่กระแสเลือดแล้วถูกส่งไปยังหัวใจ จากนั้นหัวใจจะทำหน้าที่ต่อด้วยการสูบฉีดเม็ดเลือดแดงที่เต็มไปด้วยออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์ของอวัยวะในร่างกาย

    กระบวนการทำงานเมื่อหายใจออก

    ในระหว่างที่สูดอากาศเพื่อนำออกซิเจนเข้า หลอดลมฝอยในถุงลมจะมีการแลกเปลี่ยนก๊าซขึ้น โดยจะนำออกซิเจนเข้าและกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกผ่านการหายใจออก โดยกะบังลมจะคลายตัวและช่วยดันอากาศออกผ่านทางหลอดลมที่ออกมาทางจมูกหรือปาก

    โรคทางเดินหายใจ ที่ควรระวัง

    • โรคไข้หวัด คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก ลำคอ โดยอาจได้รับเชื้อมาจากสารคัดหลังของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศจากการไอจาม เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปจึงอาจส่งผลให้เป็นไข้หวัดได้ โดยสังเกตอาการได้จากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปกติแล้วโรคไข้หวัดมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยอาจรับประทานยาร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และควรดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำอุ่นให้มาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ
    • โรคไข้หวัดใหญ่ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฟลูเอนซา (Influenza) ที่แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี โดยแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งจากการไอและจาม หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน อาการของโรคไข้หวัดใหญ่อาจสังเกตได้จากมีไข้สูง หนาวสั่น ไอแห้ง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจถี่ โดยสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาตามอาการ อย่างยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก และยาต้านไวรัส เช่น ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพอรามิเวียร์ (Peramivir) โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir)
    • โรคหอบหืด คือ โรคในทางเดินหายใจที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น สารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อในทางเดินหายใจ สภาพอากาศที่เย็นจัด ยาบางชนิด มลภาวะทางอากาศ ที่ส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจตีบและบวมจนทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ แน่นหน้าอก ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาขยายหลอดลมในรูปแบบสูดพ่นและยาแก้แพ้ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและใช้เครื่องช่วยหายใจ
    • โรคหลอดลมอักเสบ คือ การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมซึ่งมีหน้าที่นำส่งอากาศเข้าสู่ปอด โดยมีสาตุมาจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวที่ทำให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งยังอาจเกิดจากการสูดดมสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ สารเคมี อาการของหลอดลมอักเสบอาจสังเกตได้จาก อาการไอ มีเสมหะ หายใจถี่ มีไข้เล็กน้อย รู้สึกหนาวสั่น ที่สามารถรักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ หรือยาขยายหลอดลมในกรณีที่มีอาการหอบหืดเพื่อช่วยขยายหลอดลมให้หายใจได้สะดวก
    • โรคไซนัสอักเสบ เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อไซนัสที่เป็นโพรงอากาศอยู่บริเวณข้างโพรงจมูก ทำหน้าที่ในการสร้างเมือกให้จมูกมีความชุ่มชื้นและดักจับสิ่งสกปรกเมื่อหายใจ แต่หากเนื้อเยื่อของไซนัสเต็มไปด้วยเชื้อโรคขณะหายใจมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น ซึ่งพบได้มากในผู้ที่เป็นไข้หวัด โดยสังเกตได้จากอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก อาการไอ สูญเสียการรับกลิ่น บางคนอาจมีไข้ กลิ่นปากและปวดฟัน ไซนัสอักเสบสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ และควรดูแลตัวเองด้วยการประคบอุ่นบริเวณจมูกเพื่อบรรเทาอาการปวด ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อขจัดน้ำมูกที่อุดตันโพรงจมูกออก
    • โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีผ่านจมูก ปากและตา ผ่านสารคัดหลั่งจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศเมื่อหายใจนำเข้าไปหรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ตกอยู่บนวัตถุต่าง ๆ ซึ่งพบได้มากในเด็ก ที่อาจสังเกตจากอาการไอแห้ง คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ เจ็บคอ จามบ่อย ปวดศีรษะ หายใจลำบาก โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีสามารถรักษาได้ด้วยยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ใช้น้ำเกลือล้างจมูก และควรดื่มน้ำให้มาก ๆ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่คุณหมออาจให้ยาผ่านหลอดเลือดดำและใส่เครื่องช่วยหายใจ
    • วัณโรคปอด มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก โดยอาจสังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก หายใจเสียงดังหืด ไอแบบมีเสมหะ เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด เหงื่อออกเฉพาะตอนกลางคืน มีไข้ ซึ่งอาจสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 6 เดือน หรือตามที่คุณหมอกำหนด
    • โรคพังผืดในปอด คือ โรคที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อปอดเสียหายส่งผลให้เนื้อเยื่อแข็งและหนาที่กระทบต่อการทำงานของปอด โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการได้รับสารพิษเข้าสู่ปอดมากเกินไป เช่น ฝุ่น สารพิษในควันบุหรี่ ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษามะเร็ง ยารักษาโรคหัวใจ ยาต้านการอักเสบ ยาปฏิชีวนะบางชนิด สังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก อาการไอแห้ง เหนื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่อาจบรรเทาอาการและชะลอการลุกลามของพังผืดได้ด้วยการรับประทานยาเพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone) ยานินเทดานิบ (Nintedanib) การบำบัดออกซิเจน โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและการปลูกถ่ายปอดใหม่
    • โรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวม ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ลอยอยู่ในอากาศ ส่งผลให้ถุงลมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างอักเสบและเต็มไปด้วยหนอง โดยอาจสังเกตอาการได้จากอาการมีไข้ ไอแบบมีเสมหะ รู้สึกหนาวสั่น เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ รู้สึกเหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด และยาลดไข้ หากมีอาการแย่ลงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
    • โรคโควิด-19 เป็นโรคการติดเชื้อในทางเดินหายใจจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น อัลฟ่า (Alpha) เดลต้า (Delta) โอมิครอน (Omicron) ที่ได้รับจากสารคัดหลั่งที่แพร่กระจายจากการไอ จาม การสัมผัสกับสิ่งของที่มีสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยอาจสังเกตจากอาการไข้ขึ้นเกิน 37.5 องศา อาการไอ รู้สึกหนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน เจ็บหน้าอก หาจใจลำบาก ท้องร่วง ปวดเมื่อยร่างกาย สูญเสียการรับรสและการได้กลิ่น การรักษาโรคโควิด-19 มักมุ่งเน้นการบรรเทาอาการที่เป็น เช่น ใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก แต่หากมีอาการรุนแรงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและจำเป็นต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะโรคนี้อาจส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • โรคมะเร็งปอด มีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษหรือควันของบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งและมีส่วนทำลายเซลล์ในปอด เมื่อสูบเป็นเวลานานจึงทำให้เนื้อเยื่อในปอดเปลี่ยนแปลงและก่อตัวเป็นมะเร็งขึ้น นอกจากนี้ การสูดดมสารพิษบ่อยครั้ง เช่น สารหนู โครเมียม นิกเกิล แร่ใยหิน รวมถึงการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษามะเร็งบริเวณใกล้เคียงกับปอดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ โดยสามารถสังเกตจากอาการไอเรื้อรัง อาการไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หายใจถี่ เสียงแหบ ปวดศีรษะและน้ำหนักลดลงกะทันหัน มะเร็งปอดอาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี ยาเคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดดำและการบำบัดด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

    การดูแลระบบหายใจ ทำได้อย่างไร

    การดูแลระบบหายใจ อาจทำได้ดังนี้

    • สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
    • ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับสิ่งรอบตัว เช่น ราวบันได ราวโหนรถสาธารณะ รวมถึงหลังจากเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวเสร็จ
    • อยู่ให้ห่างจากผู้ป่วย เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งที่มีเชื้อก่อโรคจากการไอและจามเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
    • ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เพราะอาจทำให้โรคแพร่กระจายติดต่อสู่กันได้
    • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง ละอองน้ำหอม
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ระบบภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ เช่น ส้ม พริกหยวก มะเขือเทศ สับปะรด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักคะน้า ผักกะเพรา ผักบุ้ง แตงกวา กะหล่ำเนื่องจากเป็นอาหารที่มีวิตามินซีสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย นอกจากนี้ ควรรับประทานธัญพืชไม่ขัดสีและอาหารไขมันต่ำ เช่น อกไก่ ปลาแซลมอน อัลมอนด์ ถั่วเหลือง เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ป้องกันปัญหาโรคอ้วนและไขมันสะสมในกระแสเลือดที่อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ภาวะหายใจขณะหลับ
    • หยุดสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ทำให้หายใจลำบาก อีกทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งที่เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งปอด และเสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคพังผืดในปอด
    • เข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนโควิด-19 วัคซีนวัณโรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจหรืออาจช่วยบรรเทาอาการเมื่อเจ็บป่วย
    • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา